เช้าวันพุธ ขณะที่ สหพันธ์ขนส่งฯ บุกทำเนียบยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ตรึงราคานํ้ามันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาทต่อไป และขอให้ปลดรัฐมนตรีพลังงาน ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช้าวันเดียวกัน ก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจพลังงานยักษ์ใหญ่รัสเซีย ได้ระงับการส่งก๊าซทางท่อให้โปแลนด์และบัลแกเรีย 2 ชาตินาโตที่สนับสนุนยูเครน และ ปฏิเสธการจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล ตามข้อเรียกร้องของรัสเซีย ส่งผลให้ก๊าซในยุโรปราคาพุ่งขึ้นไป 17% ทันที
การระงับส่งก๊าซให้ โปแลนด์ และ บัลแกเรีย เป็นการระงับการส่งก๊าซผ่าน “ท่อลำเลียงยามาน” ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซจาก รัสเซีย ไปยัง โปแลนด์ และ เยอรมนี ผ่าน เบลารุส การระงับการส่งก๊าซผ่านท่อลำเลียงยามานครั้งนี้ จึงส่งผลกระทบต่อเยอรมนีด้วย
โปแลนด์ มีประชากร 38 ล้านคน นำเข้าก๊าซจากรัสเซียสัดส่วน 45% ของก๊าซที่ใช้ในประเทศ บัลแกเรีย มีประชากร 65 ล้านคน นำเข้าก๊าซจากรัสเซียสัดส่วนสูงถึง 90% ของการใช้ในประเทศ ประชากรสองประเทศนี้รวมกันกว่า 103 ล้านคนอยู่ในเขตหนาว จึงต้องการใช้นํ้ามันและก๊าซจำนวนมหาศาล แม้ช่วงนี้จะย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิแล้วก็ตาม ในระยะเวลากะทันหันคงหาก๊าซมาทดแทนไม่ทันแน่นอน แม้จะเตรียมการล่วงหน้าไว้แล้ว จึงทำให้ราคาก๊าซในยุโรปพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 17% ในเช้าวันเดียวกัน
รัสเซียกำลังใช้ทรัพยากรพลังงานเป็นอาวุธสู้กับยุโรป
ก่อนหน้านี้ นางเจเน็ต เยเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนยุโรปว่า แนวทางการควํ่าบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียของยุโรป อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อชาติยุโรปเองโดยไม่ตั้งใจ แม้การลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ต้องระมัดระวังผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน หากจะควํ่าบาตรพลังงานเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง การควํ่าบาตรพลังงานจากรัสเซีย เราต้องการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อรัสเซีย ทำให้รัสเซียส่งออกพลังงานลดลง แต่ราคานํ้ามันที่รัสเซียส่งออกไม่ได้ลดลง มีแนวโน้มที่จะแพงขึ้น หากเราสามารถหาวิธีควํ่าบาตรโดยไม่ทำร้ายต่อเศรษฐกิจโลก จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น จะดีมาก รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯกล่าว
...
ผมเห็นด้วยกับ นางเจเน็ต เยเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เป็นคนเดียวที่พูดจามีเหตุผลที่สุด ไม่ไร้เหตุผลอย่างผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ ประธานาธิบดีเซเลนสกี ผู้นำยูเครน คู่หูดูโอผู้นำสหรัฐฯ รวมทั้ง นายกฯอังกฤษ นายกฯเยอรมนี และผู้นำอีกหลายชาติในยุโรปที่อยากเห็นความสะใจมากกว่าความเดือดร้อนของประชาชน
ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้ เพื่อเป็นข้อเท็จจริงให้รัฐบาลและคนไทยได้ตระหนักว่า ราคานํ้ามันและก๊าซจะแพงอย่างนี้ไปอีกนาน ตราบใดที่สงครามยูเครนยังไม่ยุติ ช่วงที่ผมเขียนบทความนี้ ราคานํ้ามันดิบสหรัฐฯบาร์เรลละ 102 เหรียญ ราคานํ้ามันดิบเบรนท์อังกฤษบาร์เรลละ 106 เหรียญ นํ้ามันดิบราคานี้ รัฐบาลลุงตู่ไม่สามารถตรึงราคานํ้ามันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาทต่อไปได้อย่างแน่นอน ขอให้เตรียมใจรับสภาพ นํ้ามันแพง ค่าขนส่งแพง สินค้าแพง มันมาแน่นอน สิ่งที่แนะนำได้ก็คือ ซื้อให้น้อยลง เพื่อบีบให้ค่าขนส่งและสินค้าต้องลดราคาลงมาหาเราเอง เหมือนโปรโมชันในห้างและลาซาด้ายังไงยังงั้น
ทุกคนก็รู้ ผู้นำรัฐบาลของเราเก่งแต่ในบ้าน รัฐมนตรีพลังงานก็ไม่เคยไปเจรจากับประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เพื่อหาซื้อน้ำมันมิตรภาพราคาถูก ประเทศอื่นเขาเจรจากันระดับรัฐบาลทั้งนั้นเพราะเป็นช่วงวิกฤติ ผมเห็นด้วยกับ สหพันธ์ขนส่งฯ ที่ขอให้เลิกใช้ น้ำมันปาล์ม ผสมดีเซล ทำให้ ดีเซลลดลงลิตรละ 1.50–2 บาท เขาว่ามีนักการเมืองเจ้าของสวนปาล์มรวยเยอะ
ผมคิดว่า ณ วันนี้ทุกคนต้องทำใจยอมรับสภาพ น้ำมันแพง ค่าขนส่งแพง สินค้าแพง แล้วค่อยๆ ปรับสมดุลกันไป อะไรที่ราคาบิดเบือนมากๆ สุดท้ายก็พังกันไปเอง การปรับสมดุลราคา สำคัญที่สุด รัฐบาลต้องซื่อสัตย์ ครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”