ขอขอบคุณดนุภา “มิลลิ” คณาธีรกุล แร็ปเปอร์สาวชาวไทย ที่นอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยโด่งดังไปทั่วโลกแล้ว ยังทำให้คนไทยสนใจคำว่า soft power ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “อำนาจอ่อน” มากขึ้น นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ เป็นที่ชื่นชอบของชาวโลก
ข้าวเหนียวมะม่วงที่เธอกินโชว์ บนเวทีการแสดงดนตรีระดับโลก ที่สหรัฐอเมริกา อาจเปรียบได้กับ “ต้มยำกุ้ง” อาหารจานเด็ดของไทย ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ต้มยำกุ้งต้องเสียภาพลักษณ์หลังจากที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจร้ายแรงในไทย เมื่อปี 2540 ขนานนามว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” แต่ซอฟต์เพาเวอร์ไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรม
soft power หรือ “อำนาจอ่อน” อาจมีความหมายตรงข้ามกับ “hard power” หรือ “อำนาจแข็ง” น่าจะหมายถึงอำนาจที่เกิดจากการใช้กำลังหรือความรุนแรง เช่น การยกทัพบุกยูเครนของรัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน ผู้ยึดแนวทางอำนาจนิยม การใช้อำนาจแข็งเป็นวิธีการบังคับให้ผู้อ่อนแอกว่ายอมแพ้
สหรัฐอเมริกาเป็นอภิมหาอำนาจ ที่มีพร้อมทั้งอำนาจอ่อนและอำนาจแข็ง มีแสนยานุภาพด้านการทหาร ที่ทั่วโลกยอมรับ เป็นอำนาจแข็ง และยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทางการเมือง และวัฒนธรรม เป็นที่นิยมทั่วโลก คนต่างชาติชอบดูหนังฟังเพลงอเมริกัน ชอบแต่งกายแบบอเมริกัน ที่คนไทยเรียกว่า “มาดมะกัน”
ส่วนประเทศในเอเชียที่ประสบความสำเร็จ ในการใช้ซอฟต์เพาเวอร์ในการเผยแพร่ภาพลักษณ์อันดีของประเทศ เช่น หนัง เพลง ละคร และอาหารเกาหลี เป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่คนไทยชื่นชอบ แม้แต่การเมืองเกาหลีใต้เพิ่งจะล้มเผด็จการปักจุงฮี และสถาปนาประชาธิปัตย์ได้แค่ 40 กว่าปี แต่ประชาธิปไตยไปโลด
...
ไม่อยากเปรียบเทียบกับการ เมืองไทย ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย จะครบ 90 ปี ในเดือนมิถุนายนนี้ แต่ประชาธิปไตยไทยกลายเป็นเฒ่าทารก ไม่รู้จักโต สาเหตุสำคัญเพราะวัฒนธรรมการเมืองไทย ยึดมั่นในระบอบอำนาจนิยม ชอบใช้ความรุนแรง ยึดอำนาจทำให้รัฐประหารไทยโด่งดังไปทั่วโลก
การใช้ซอฟต์เพาเวอร์เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวัฒนธรรม เช่น การกินหรือการแสดงดนตรีเท่านั้น ซอฟต์เพาเวอร์ที่สำคัญ น่าจะได้แก่ค่านิยม และวัฒนธรรมทางการเมือง ที่เป็นประชาธิปไตย ได้อำนาจมาตามวิธีทางรัฐธรรมนูญ รักษาอำนาจ และใช้อำนาจตามวิถีทางประชาธิปไตย.