วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยเรื่อง “Soft Power อำนาจอ่อน” กันนะครับ ปรากฏการณ์ มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์สาววัย 19 ปี กินข้าวเหนียวมะม่วง บนเวทีแร็ประดับโลกที่สหรัฐฯ ทำให้ ข้าวเหนียวมะม่วงไทย ดังไปทั่วโลกในชั่วข้ามคืน ในเมืองไทยก็พลอยขายดิบขายดีไปด้วย ถือเป็น soft power ที่ทรงพลังยิ่ง ทำให้มีการพูดถึง soft power กันมากมาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็ไม่ตกเทรนด์ ให้สัมภาษณ์นักข่าวที่ทำเนียบถึง soft power แต่นายกฯกลับพูดผิดเป็น software หลายครั้ง จนผู้สื่อข่าวต้องทักท้วงว่านายกฯพูดผิด ทั้งที่นายกฯคุยว่าเป็นผู้สนับสนุน soft power มาตลอด

โฆษกสำนักนายกฯ ก็ออกมาเคลมว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีนโยบายสนับสนุน soft power ไทยให้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และชื่นชมความสำเร็จของศิลปินไทยทุกแขนง ทั้ง ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล, แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล ศิลปินเกาหลีสัญชาติไทย แต่กลับไม่พูดถึง มิลลิ-ดนุภา สะท้อนถึงความใจแคบของรัฐบาล เพราะ มิลลิ-ดนุภา เคยโพสต์วิจารณ์นายกฯ จนถูกนายกฯแจ้งความ ผู้นำประเทศต้องมีใจกว้างเหมือนแม่น้ำเจ้าพระยาครับ

ผมไม่แน่ใจว่า นายกฯ เข้าใจ soft power ในรูปแบบไหน เห็น คุณธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกสำนักนายกฯ แถลงว่า ความสำเร็จของศิลปินไทยที่ไปสร้างชื่อด้านวัฒนธรรมและศิลปะดนตรีในต่างประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของนายกฯ ที่มุ่งส่งเสริม “วัฒนธรรม 5 F” ที่เป็น soft power ของไทย ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1.อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) 5.เทศกาลประเพณีไทย (Festival)

...

ความจริง soft power หรือ ความสามารถในการดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วม โดยไม่ต้องบังคับหรือใช้เงิน ไม่ได้หมายถึงวัฒนธรรมด้านเดียว ปัจจุบันมีการใช้ soft power ในการสร้างอิทธิพลต่อความคิด ของสังคมและประชาชนในประเทศอื่น จากทรัพยากรพื้นฐาน 3 ด้าน คือ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และ นโยบายต่างประเทศ ล่าสุด Brandfinance ได้จัดอันดับ Global Soft Power 2022 ปรากฏว่า สหรัฐฯ กลับมาครอง อันดับ 1 รองมาเป็น สหราชอาณาจักร เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น ส่วน เกาหลีใต้ ยังไม่ติด 10 อันดับแรก

ดร.โจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้อธิบายคำว่า Soft Power ไว้ว่า ประกอบด้วยแหล่งทรัพยากรสำคัญ 3 ประการคือ

1.วัฒนธรรม (Culture) ถ้าวัฒนธรรมของประเทศหนึ่ง มีความสอดคล้องกับผลประโยชน์และค่านิยมของประเทศอื่น โอกาสที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะกลายเป็น soft power ของประเทศนั้นก็จะมีมากขึ้น ช่องทางที่ทำให้วัฒนธรรมของประเทศหนึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศอื่นมีหลากหลายกรณี มิลลิ–ดนุภา กินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีแร็ประดับโลก ลิซ่า–แบล็กพิงก์ จาก K–pop ก็เป็นช่องทางหนึ่ง

2.ค่านิยมทางการเมือง (Political Values) ประเด็นนี้ไทยเราไม่ค่อยพูดถึง ถ้าประเทศนั้นมีค่านิยมทางการเมืองที่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ soft power ของประเทศนั้นก็จะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าค่านิยมของประเทศนั้นขัดกับค่านิยมของประเทศอื่นๆ soft power ของประเทศนั้นก็จะลดลง

3.นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policies) ก็เป็น soft power ที่ทรงพลัง รัฐมนตรีต่างประเทศของมหาอำนาจจะถือเป็นเบอร์ 2 รองจากผู้นำ ถ้ามีนโยบายต่างประเทศที่รักสันติภาพ เคารพในสิทธิมนุษยชน ก็มีโอกาสเกิด soft power ได้มาก ช่วงที่สหรัฐฯบุกอิรัก อันดับ soft power สหรัฐฯ หล่นฮวบลงไปทันที เช่นเดียวกับรัสเซียตอนนี้

นี่คือ มิติของ Soft Power ที่แท้จริง ไม่ได้มีแค่ วัฒนธรรมดนตรี แต่ยังมี ค่านิยมทางการเมือง และ นโยบายต่างประเทศ ที่เป็น soft power สำคัญ นายกฯอย่าเผลอไปเรียกผิดเป็น “ซอฟต์แวร์” บ่อยๆก็แล้วกันนะครับ เดี๋ยวประชาชนจะจับไต๋ได้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”