สิ้นสุดการรอคอย “ศึกเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.” เดินมาถึงครึ่งทางแล้วนับแต่จับสลากเบอร์ประจำตัว ทั่วมหานครก็เต็มพรึ่บด้วยป้ายหาเสียง “ผู้เสนอตัวลงชิงผู้ว่าฯ 31 คน และ ส.ก. 50 เขต 382 คน” ตบเท้าเดินขบวนออกหาเสียง “ชูนโยบาย–โชว์วิสัยทัศน์” พัฒนาแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้คนกรุง

เพื่อเรียกคะแนนเสียงจาก “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4 ล้านกว่าคนใน 50 เขต” อันจะเดินเข้าคูหาในวันที่ 22 พ.ค.นี้ที่ต้องกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบคือ ใบหนึ่งเลือกกาผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในดวงใจ 1 เบอร์ และอีกใบเลือกผู้สมัคร ส.ก.ที่จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนของเขตได้ 1 เบอร์

ทำให้ช่วงนี้กรุงเทพฯเต็มไปด้วยบรรยากาศสีสันกลิ่นอาย “การหาเสียงเลือกตั้งพ่อเมือง กทม.คนใหม่ และ ส.ก.” อันแสดงถึงระบอบประชาธิปไตยได้หวนกลับมาคึกคักอีกครั้ง นับแต่มีการหาเสียงเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในปี 2556 แล้วถูกแช่แข็งด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2559 มานานกว่า 9 ปี

...

เรื่องนี้ส่งผลให้ “คน กทม. ตื่นตัวที่อยากเลือกผู้ว่าฯของตัวเองสูงมาก” โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 18-27 ปีที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ first vote นับแต่การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายปี 2556 ราว 6-7 แสนคน อันเป็นกลุ่มตัวแปรสำคัญ “ชี้วัดจุดเปลี่ยนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ถูกปล่อยออกมาพลิกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งนี้

สะท้อนความคิดเห็นผ่าน “บ้านสมเด็จโพลล์” ที่อยากได้ผู้ว่าฯคนใหม่มีความซื่อสัตย์ โปร่งใสในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เข้ามาทำงานช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงให้ดีขึ้น ยกระดับแก้ไขปัญหาทั้งการทำมาหากิน ด้านการศึกษา สาธารณสุข และปัญหาที่เกิดซ้ำซากทั้งน้ำท่วม รถติด ฝุ่น และสิ่งแวดล้อมต่างๆ

ผศ.ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานบ้านสมเด็จโพลล์ มองว่า ตอนนี้ผู้สมัครแต่ละท่านต่างเร่งเครื่องเปิดยุทธศาสตร์หาเสียงกันอย่างหนัก เพราะด้วยเวลาเหลือน้อยเต็มที เดี๋ยวหาเสียงไม่ทันครบพื้นที่ กทม. 50 เขต

ตามการสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นี้มีข้อสังเกตว่า “รูปแบบการสื่อสาร” ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงชัดเจน “ผู้สมัครหลายคน” หันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือหาเสียงเพิ่มขึ้น แล้วมีการวางแผนเลือกเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง ทำให้สื่อสารเจาะจงมุ่งตรงยังกลุ่มผู้สนับสนุนง่ายขึ้น

ในส่วน “ป้ายหาเสียง” ก็มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่ออดีตเช่นกัน สาเหตุด้วยช่วงที่ผ่านมา “ป้ายหาเสียง” มักถูกวิพากษ์วิจารณ์มีปัญหาหลายอย่าง เช่น เกิดบดบังสายตาสำหรับผู้ขับขี่ เพราะป้ายมีขนาดใหญ่ กระทบถึงคนทั่วไปยืนรอรถเมล์ ทำให้ผู้สมัครหลายคนทำป้ายหาเสียงให้เล็กลง ดูสะอาดสะอ้านยิ่งขึ้น

สิ่งเปลี่ยนแปลงถัดมาคือ “ช่วงวัยผู้สนับสนุนของแต่ละผู้สมัครชัดเจนขึ้น” อย่างกลุ่มผู้สนับสนุน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ เป็นคนรุ่นใหม่วัย 18-40 ปี การทำกิจกรรมหลายครั้งมักมีคนรุ่นใหม่มาร่วมเสมอ แต่ต้องชิงกับ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครพรรคก้าวไกลที่เป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่หนุนเหนียวแน่นเหมือนกัน

ต่อมาคือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ ดีกรีอดีตผู้ว่าฯ ก็มีผู้สนับสนุนวัยอายุ 40 ปีขึ้นไป สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงในนามพรรคประชา ธิปัตย์ (ปชป.) มีฐานคะแนนเสียงเก่าของ ปชป.ตามชุมชนใน กทม.

เช่นเดียวกับ “สกลธี ภัททิยกุล” ลาออกจากรองผู้ว่าฯ กทม.มาลงผู้สมัครในนามอิสระก็มีฐานคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่-ปชป. “รสนา โตสิตระกูล” สมัครในนามอิสระมีฐานเสียงเก่าที่เคยลงชิงผู้ว่าฯ กทม.

หากย้อนดู “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 4 ล้านกว่าคน” ในช่วงกลุ่มอายุ 18-40 ปี มีอยู่ที่ 39% มักมีพรรคการเมืองหรือผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อยู่ในใจแล้ว ไม่บ่อยนักจะแบ่งคะแนนให้ผู้สมัครคนรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไปมีอยู่ที่ 36% ที่มีภาพตัวแทนเป็นของคนกลุ่มนี้ชัดเจนแล้ว เป็นไปได้ยากที่จะมองหาผู้สมัครคนอื่น

สิ่งที่น่าสนใจ “การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ถูกแช่แข็ง 9 ปี” ทำให้เกิดคนรุ่นใหม่อายุ 18-27 ปี ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (first vote) มีอยู่ราว 7 แสนคน คิดเป็น 15% ค่อนข้างกระหายต้องการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

แล้วมักเป็นกลุ่มได้รับข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก ทำให้มีแนวโน้มเชื่อกระแสทางสังคมผ่านช่องทางโซเชียลฯต่างๆ ดังนั้น ถ้าผู้สมัครสามารถสื่อสารได้ตรงจุดชัดเจน “โชว์วิสัยทัศน์ และชูนโยบาย” ถูกใจ ก็ได้คะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้ไปครองไม่มากก็น้อยด้วย

“ถ้าให้วิเคราะห์ ในเมื่อผู้สมัครแต่ละคนมีฐานผู้สนับสนุนเป็นของ ตัวเองอยู่แล้ว หากสามารถครองใจวัยอายุได้ 2 กลุ่ม ก็ย่อมมีโอกาสสูงที่จะได้ชัยชนะในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ ฉะนั้น กลุ่ม first vote จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้วัดผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใดจะเข้าวินคว้าชัยได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ 22 พ.ค.นี้รู้กัน” ผศ.ดร.สิงห์ว่า

เหตุประการนี้ทำให้ “ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯหลายคนลงในนามอิสระ” เพราะถ้าดูผลโพลอันเป็นปัจจัยการตัดสินใจเลือกกลุ่มพรรคการเมือง 35.2% ตัดสินใจเลือกตัวผู้สมัคร 32.5% และนโยบายการพัฒนา กทม. 32.3% นั้นหมายความว่า “ผู้สมัครอิสระแต่มีนโยบายการพัฒนาดี” ก็มีโอกาสได้รับคะแนนนิยมมากเช่นกัน

แน่นอนว่า “ผู้สมัครมีพรรคการเมืองรองรับ และบวกกับนโยบายดี” มักได้เปรียบกว่า ด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มีพื้นที่ค่อนข้างกว้างมากแล้ว “ผู้สมัคร” จะลงไปพบปะได้อย่างทั่วถึงครบ 50 เขตนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ทำให้ต้องสื่อสารผ่านสื่อบุคคลที่เป็นผู้สมัคร ส.ก.แต่ละเขตพื้นที่ช่วย อันต้นทุนเดิมจากผู้สนับสนุนพรรคการเมือง

เสมือนแฟนพันธุ์แท้พร้อมลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.- ส.ก.เช่นเดียวกัน “ข้อเสียการลงสมัครในนามพรรค” หากว่าพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่นั้นมีข้อผิดพลาด ก็มักส่งผลถึงตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ด้วยเสมอ

ประเด็นคำถามต่อว่า “คน กทม.อยากให้ผู้สมัครผู้ว่าฯมีนโยบายให้ความสำคัญ” อันดับต้นๆ “ด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต” เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่อันเป็นจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจประเทศที่มาคู่กับความแออัด “คนกรุงเทพฯต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ดังนั้น นโยบายส่งเสริมด้านนี้ก็จะตอบโจทย์ทันที

ถัดมาก็คือ “ศิลปวัฒนธรรม และการพัฒนาเมือง” เรื่องนี้ผู้สมัครต้องเข้าใจ “คนกรุงเทพฯ” ต้องพัฒนาเมืองในทิศทางใดแล้ว “ความสะอาด และสิ่งแวดล้อม” ก็สำคัญด้วย “กรุงเทพฯ” มีขยะเกิดขึ้นต่อวันมากที่สุดของประเทศ “นโยบายจัดการขยะ” เชื่อมการพัฒนาเมืองให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็ช่วยการหาเสียงโดดเด่น

โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีมานี้ “คนกรุงเทพฯเจอกับการระบาดของโควิด–19” ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ การถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ “บางครอบครัว” ได้รับผลกระทบจนไม่อาจจัดการปัญหาได้ “นโยบายด้านเศรษฐกิจ และการส่งเสริมอาชีพ” จะเป็นตัวช่วยสร้างรายได้ให้คนมีงานทำอย่างยั่งยืนมากขึ้น

แต่ว่า “นโยบายแก้ปัญหาการจราจร และขนส่งมวลชน” อันเป็นปัญหาที่คนเมืองต้องเผชิญกับรถติดสะสมมานานหลายปีแล้ว “คนกรุงเทพฯ” ก็เริ่มเข้าใจต่อการแก้ปัญหา การขนส่งมวลชน และการจราจรนั้น “ไม่ใช่อำนาจ กทม.เสียทั้งหมด” ฉะนั้น ถ้ามี “ผู้ว่าฯคนใด” ชูนโยบายแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้มักไม่เชื่อก็ได้

จริงๆแล้ว “สิ่งที่คนกรุงเทพฯอยากให้แก้เร่งด่วน” ดำเนินการจัดการคอร์รัปชัน ร้อยละ 33.3 การจัดการขยะมูลฝอย ร้อยละ 12.8 ปัญหาสถานบริการฝ่าฝืนกฎหมาย ร้อยละ 10.6 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 10.1 การจัดการน้ำเสีย ร้อยละ 9.7 ปัญหาการกีดขวางทางเท้า ร้อยละ 6.9 จัดการน้ำท่วม ร้อยละ 5.6

สอดรับกับ “ความต้องการคุณสมบัติผู้ว่าฯ” ที่ต้องมีความซื่อสัตย์โปร่งใส ร้อยละ 29.6 ขยันทุ่มเททำงาน ร้อยละ 20.1 ปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ร้อยละ 14.3 ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ ร้อยละ 13.9 สามารถแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 8.4 เพราะคนกรุงเทพฯอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงหลังรับตำแหน่งอย่างน้อย 1 ปี

สุดท้ายนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรออกไปใช้สิทธิ “เลือกผู้ที่มีความสามารถเหมาะสมกับการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ตรวจสอบดูแลการบริหารราชการ กทม.” หากมีความจำเป็นไม่อาจไปใช้สิทธิควรแจ้ง กกต.ในวันเวลาที่กำหนด มิเช่นนั้นอาจมีโทษตามกฎหมาย แม้ไม่ติดคุกก็ถูกตัดสิทธิหลายประการ...

ฉะนั้น ในวันที่ 22 พ.ค.2565...“ขอให้คนกรุงเทพฯ” ออกไป ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.–ส.ก.กันมากๆ ทุกคะแนนเสียงของท่านมีความหมาย เข้าคูหากาคนที่รักคนที่ชอบให้สมกับตั้งตารอมานานกว่า 9 ปี.