- เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 22 พฤษภาคม 2565 จะได้ผู้ว่าฯ แบบไหน ขึ้นอยู่กับผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน 4.7 ล้านคน
- ขณะที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีทั้งสิ้น 31 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครชาย 25 คน ผู้สมัครหญิง 6 คน อายุมากที่สุด 75 ปี และอายุน้อยที่สุด 43 ปี
- สำนักงานเขตดำเนินการตามแผนการจัดการเลือกตั้ง ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก่อนส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ภายใน 6 พฤษภาคม 2565
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2518 สืบเนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2518 ซึ่งกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาจากการเลือกตั้ง และอยู่ในตำแหน่งตามวาระ 4 ปี
ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2565 ถือว่า ล่าช้าไปจากเดิมถึง 9 ปี เนื่องจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2557 จากนั้นวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2562 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งให้อำนาจแก่คณะรัฐมนตรีในการแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อกำหนดให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่คณะรัฐมนตรีร้องขอ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2565 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการฯ ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2565
...
โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 31 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครชาย 25 คน ผู้สมัครหญิง 6 คน ผู้สมัครที่อายุมากที่สุด 75 ปี และอายุน้อยที่สุด 43 ปี เรียงตามหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนี้
หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร
หมายเลข 2 พ.ท.หญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล
หมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล
หมายเลข 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
หมายเลข 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ
หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
หมายเลข 7 นางสาวรสนา โตสิตระกูล
หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
หมายเลข 9 นางสาววัชรี วรรณศรี
หมายเลข 10 นายศุภชัย ตันติคมน์
หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี
หมายเลข 12 นายประยูร ครองยศ
หมายเลข 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์
หมายเลข 14 นายธเนตร วงษา
หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที
หมายเลข 16 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์
หมายเลข 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ
หมายเลข 18 นางสาวสุมนา พันธุ์ไพโรจน์
หมายเลข 19 นายไกรเดช บุนนาค
หมายเลข 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ
หมายเลข 21 นายนิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ
หมายเลข 22 นายวรัญชัย โชคชนะ
หมายเลข 23 นายเฉลิมพล อุตรัตน์
หมายเลข 24 นายโฆสิต สุวินิจจิต
หมายเลข 25 นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ
หมายเลข 26 พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ
หมายเลข 27 นายภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์
หมายเลข 28 นายสราวุธ เบญจกุล
หมายเลข 29 นายกฤตชัย พยอมแย้ม
หมายเลข 30 นายพงศา ชูแนม
หมายเลข 31 นายวิทยา จังกอบพัฒนา
ขณะที่ สำนักงานปกครองและทะเบียน รายงานการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จากจำนวนประชากรผู้อาศัยในกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 5,519,907 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 65) แบ่งเป็น
เพศชาย 2,588,027 คน
เพศหญิง 2,931,880 คน
มีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 4,374,131 คน (ข้อมูลคำนวณถึงวันที่ 22 พ.ค. 65)
แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 1,996,104 คน
เพศหญิง จำนวน 2,378,027 คน
จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 6,817 หน่วย
บุคลากรที่ใช้ในการสนับสนุนการเลือกตั้ง 167,298 คน
ทั้งนี้ สามารถ ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้ที่ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/#/ หากพบว่าชื่อ ตกหล่น สะกดผิด ต้องการเพิ่ม-ถอนรายชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ติดต่อแก้ไขได้ที่ฝ่ายทะเบียน ภายในวันที่ 11 พ.ค.65
นอกจากนี้ สำนักงานเขตดำเนินการตามแผนการจัดการเลือกตั้ง ดังนี้
1. ประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง ภายในวันที่ 26 เม.ย. 65
2. ประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ภายในวันที่ 26 เม.ย. 65
3. สรรหาและแต่งตั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) รปภ. และ อสส. ภายในวันที่ 1 พ.ค. 65
4. ส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ภายในวันที่ 6 พ.ค. 65
5. เปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง การเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ ภายในวันที่ 11 พ.ค. 65
6. ผู้สมัครส่งหนังสือแต่งตั้งตัวแทนผู้สมัคร ภายในวันที่ 14 พ.ค. 65
7. รับแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค. 65 และระหว่างวันที่ 23-29 พ.ค. 65
8. จัดอบรมเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง และส่งมอบวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้ง ภายในวันที่ 21 พ.ค. 65
9. ดำเนินการจัดการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง และรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง วันที่ 22 พ.ค. 65
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งล่าสุดเมื่อมีนาคม 2556 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 63.98 % ส่วนการเลือกตั้ง ส.ก. เมื่อสิงหาคม 2553 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 41.14 % ซึ่งคาดหวังว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการเลือกตั้ง ส.ก. ในวันที่ 22 พ.ค.2565 นี้ จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์มากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา
แล้วออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันเยอะๆ … คน กทม. จะได้ผู้ว่าฯ แบบไหน ขึ้นอยู่กับคุณ.