“รัชดา” เผย ประชาธิปัตย์ เชิญภาคประชาสังคมร่วมเป็นคณะกรรมการ กำหนดแนวทางตรวจสอบคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ป้องกันพวกใช้ตำแหน่งแสวงประโยชน์ทางเพศ

วันที่ 20 เม.ย. 2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ตามที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการแถลงการขอโทษต่อเหตุการณ์ของ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคและอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมีตนเป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ เพิ่มเติมจากข้อบังคับพรรคที่มีอยู่ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การใช้ตำแหน่งไปแสวงประโยชน์ รวมถึงพิจารณาแนวทางการให้การช่วยเหลือผู้เสียหายจากกรณีอดีตรองหัวหน้าพรรคด้วย

ขณะนี้มีรายชื่อคณะกรรมการครบ 9 คนแล้ว ประกอบด้วยบุคคลทั้งภายในและภายนอกพรรค ดังนี้

บุคคลในพรรค

  • น.ส.รัชดา ธนาดิเรก
  • นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท
  • น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธุ์
  • พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ
  • นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

...


บุคคลภายนอก

  • น.ส.เสาวลักษณ์ ทองก๊วย สมาชิกคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ, ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน (กรรมการสิทธิคนพิการสหประชาชาติ) และนายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ
  • น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
  • นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา
  • น.ส.ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง


น.ส.รัชดา กล่าวต่อไปว่า ต้องการให้คณะกรรมการชุดนี้ทำงานได้อย่างเป็นอิสระ มีมุมมองที่ครอบคลุม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อสรุปของคณะกรรมการนอกจากจะนำไปสู่การแก้ไขข้อบกพร่องภายในพรรคแล้ว ก็อาจเป็นประโยชน์กับองค์กรอื่นได้ เพราะพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศมีโอกาสเกิดขึ้นในองค์กรอื่นเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคในวันนี้ และความตั้งใจที่จะแก้ปัญหา น่าจะเป็นบทเรียนที่สังคมเรียนรู้ไปด้วยกัน และร่วมกันขจัดมันออกไป

“สำหรับกรรมการภายนอกทั้ง 4 ท่าน ที่ได้เรียนเชิญมาร่วมงาน ทุกท่านเป็นผู้ที่มีบทบาทด้านการต่อต้านการคุกคามทางเพศและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศมาอย่างยาวนาน เป็นที่รู้จักและไว้วางใจของสังคม จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในการทำงานของคณะกรรมการว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จะไม่มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมใดๆ และจะให้มีการประชุมวาระแรกโดยเร็วที่สุดเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานต่อไป”.