นพ.จักรรัฐ เผย จะติดเชื้อถึงแสนคนหลังสงกรานต์หรือไม่ ขอรอดู 2-4 สัปดาห์ต่อจากนี้ ย้ำให้สังเกตอาการตนเองอย่างน้อย 5-7 วัน งดพบปะผู้คน และ WFH รับพบคลัสเตอร์หลังเทศกาลแล้วแต่ยังเป็นกลุ่มเล็ก

วันที่ 18 เมษายน 2565 เวลา 13.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็น : สถานการณ์และการปฏิบัติตัวหลังสงกรานต์ กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อเอเชียและทั่วโลกมีสถานการณ์การติดเชื้อลดลง ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย ผู้ป่วยอาการหนักยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนการครองเตียงอยู่ที่ประมาณ 30% ส่วนการติดเชื้อเริ่มลดลง แต่ต้องมาติดตามดูสถานการณ์หลังเทศกาลสงกรานต์หลังจากนี้ไปว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ชื่นชมหลายสถานที่จัดงานอย่างปลอดภัย มีการใส่หน้ากากอนามัย และหลายพื้นที่มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ขอย้ำว่าทุกจังหวัดยังคงเตือนภัยโควิดระดับ 4 อยู่เช่นเดิมต่อไปอีกสักระยะ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หรือสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไป

ขณะที่การเสียชีวิตยังเป็นกลุ่ม 608 และส่วนใหญ่ไม่ฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น อีกทั้งกลุ่มโรคเรื้อรังยังเป็นกลุ่มที่เสี่ยงป่วยหนักมากที่สุด และกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป ยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดลตาระบาดพบว่ามีความใกล้เคียงกัน จึงขอให้บุตรหลานรีบพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยง ขณะที่เด็กเล็กพบว่ามีการฉีดวัคซีนไปแล้วครึ่งหนึ่ง ต่อจากนี้จะมีการรณรงค์เพิ่มมากขึ้น ส่วนกลุ่มวัยทำงาน ยังมีการตรวจพบเชื้ออยู่ แต่แนวโน้มเริ่มลดลง ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อหายใจ และเสียชีวิต ยังมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นไปตามคาดการณ์

...

นายแพทย์จักรรัฐ ยังได้แนะนำข้อปฏิบัติหลังจากเทศกาลสงกรานต์ คือ

  • สังเกตอาการตนเอง 7 วัน หากมีอาการสงสัยติดเชื้อ ให้ทำการตรวจ ATK
  • หลีกเลี่ยงพบปะกับผู้คนจำนวนมาก หากต้องพบผู้อื่น ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • มาตรการ WFH ให้เป็นไปตามเหมาะสม

โดยเฉพาะผู้ที่ทานข้าวร่วมกับคนอื่น โดยต้องสังเกตตนเองอย่างน้อย 5-7 วัน และถ้าเป็นไปได้หลังสงกรานต์ควรแยกทานข้าว เป็นโต๊ะใครโต๊ะมันแทนการร่วมวง แม้ว่าช่วงนี้ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงแต่ต้องมาติดตามในช่วง 2-4 สัปดาห์นี้ ว่าสถานการณ์หลังสงกรานต์จะทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยแม้ผลตรวจ ATK เป็นลบก็ยังควรใส่หน้ากากอนามัย และทุกช่วงอายุต้องไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามถึงความเสี่ยงของการเล่นน้ำในสถานบันเทิง จะก่อให้เกิดคลัสเตอร์หรือไม่ และสถานการณ์หลังสงกรานต์จะเป็นไปตามฉากทัศน์ที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 1 แสนคนหรือไม่ โดยนายแพทย์จักรรัฐ กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามเรื่องคลัสเตอร์ ยอมรับว่าในช่วงนี้เริ่มมีเข้ามาบ้างแล้วหลังเทศกาลสงกรานต์ เมื่อกลับเข้าไปทำงานตามโรงงาน และสถานประกอบการณ์ต่างๆ แต่ยังเป็นคลัสเตอร์ขนาดเล็กอยู่ ยังไม่พบคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ ส่วนก่อนหน้านั้นที่มีการพบคลัสเตอร์ ยังพบสาเหตุมาจาก ทานข้าวร่วมกัน ถอดหน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน จึงทำให้คลัสเตอร์มีโอกาสเกิดขึ้นได้ อีกทั้งโอมิครอนไม่มีอาการ จึงแนะนำให้ตรวจ ATK ก่อนทำงาน และสังเกตอาการตนเองว่ามีอาการไข้ ไอ เจ็บคอหรือไม่ ส่วนจะเป็นไปตามฉากทัศน์หรือไม่ ยังต้องอิงตามสถานการณ์อีก 2-4 สัปดาห์ นี้ ว่าจะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ตัวเลขตามฉากทัศน์ยังพบว่าลดลง

ส่วนสิ่งที่เฝ้าระวัง คือกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะอายุ 70 ปี ขึ้นไป จึงถือว่ามีความเสี่ยงอย่างมาก และต้องติดตาม รวมถึงกลุ่มค่ายทหาร โรงเรียน แคมป์คนงาน โรงงาน ที่ต้องติดตามเช่นเดียวกัน

ขณะที่มาตรการรองรับผู้มีอาการหนัก ได้มีการเพิ่มจำนวนเตียง และให้ผู้ป่วยที่มีอาการดีแล้ว ไปรักษาที่บ้านแทน เพื่อสำรองเตียงให้กลุ่มอาการหนักโดยย้ำว่าตัวเลขยังไม่สูงเท่ากับเดลตาปีที่ผ่านมา แต่ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ แม้การติดเชื้อลดลงแต่ผู้ป่วยปอดอักเสบ และเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นอยู่ จึงต้องเน้นเรื่องการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงในช่วงนี้ เป็นผลพวงมาจากก่อนสงกรานต์ที่มีการติดเชื้อมาก

นายแพทย์จักรรัฐ ยังกล่าวถึงการเข้าสู่โรคประจำถิ่น ว่า ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ การครองเตียง โควิดสายพันธุ์ใหม่ และการติดตามกลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก หากเป็นไปตามเป้า ก็จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นตามคาดหมายเดิม คือ 1 พ.ค. นี้ ส่วนความคืบหน้าวัคซีนเข้มกระตุ้นในผู้สูงอายุ คงต้องเร่งฉีดหลังสงกรานต์ต่อ เช่นเดียวกับเด็ก และวัยทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงป่วยหนัก