ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ #MILLILiveatCoachella ทำให้เห็นว่าการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่การยัดเยียดความเป็นไทยแบบแช่แข็ง รัฐควรส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยด้วย
วันที่ 17 เมษายน 2565 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีที่ มิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล ศิลปินแร็ปเปอร์หญิงมากความสามารถได้ขึ้นแสดงเทศกาลดนตรีโคเชลลา ที่สหรัฐอเมริกาว่า มิลลิได้นำเสนอมุมมองการเล่าเรื่องและตีแผ่ประเทศไทยของศิลปินผ่านท่วงทำนองจังหวะที่สนุกนาน ทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักเพียงข้ามคืน และได้รับคำชื่นชมอย่างมากมาย ทั้งการนำข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นมากินบนเวที และเนื้อเพลงที่เสียดสีการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถไฟที่ไม่มีการพัฒนาใช้มา 120 ปี ราคาของเสากินรี หรือการตะโกนบอกกับชาวโลกว่า “เราไม่ได้ขี่ช้าง” จากความเข้าใจผิดของชาวต่างชาติว่าคนไทยขี่ช้าง
พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้คนไทยที่มีความสามารถมากมายไม่แพ้คนชาติไหน เดินออกไปเฉิดฉายสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยโดยที่รัฐไม่ได้มีนโยบายใดๆ ในการสนับสนุนเลย ถือเป็นการเสียโอกาสที่รัฐรู้ว่าต้องส่งเสริม แต่ไม่ลงมือทำ จะพบว่าวงการเพลงไทยในช่วงยุค 80’s และ 90’s เป็นช่วงเวลาที่ ‘ที-ป๊อป’ โดดเด่นอย่างมาก ทั่วเอเชียต่างจับตา เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เกาหลีใต้เองเริ่มก่อร่างสร้าง ‘เค-ป๊อป’ แต่หลังจากปี 2000 ประเทศเกาหลีใต้ได้สร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมทั่วทวีปเอเชีย สร้าง Soft Power จนวันนี้ก้าวสู่ระดับโลก
“หากประเทศไทยต้องการสร้าง Soft Power สู่ชาวโลกจริงๆ ก็คงต้องปรับมุมคิดเสียใหม่ การสร้าง Soft Power แบบเทพเจ้า และหยุดนิ่งแช่แข็ง ไม่น่าจะใช้ได้กับยุคนี้ ยุคที่โลกเรากำลังมีการเคลื่อนที่ทางวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” ธัญวัจน์ กล่าว
นอกจากนี้ ธัญวัจน์ ยังมองว่า รัฐจะต้องสนับสนุนศิลปินตั้งแต่เด็กเยาวชน เปิดโอกาส ไม่เฉพาะแต่ศิลปะดั้งเดิมของไทย แต่ต้องสนับสนุนศิลปะสากล ศิลปะร่วมสมัยด้วย รัฐต้องร่วมจับมือกับภาคเอกชนในการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมเพื่อขยายงานออกไป หรือความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้างงาน และที่สำคัญต้องนำเสนอเนื้อหา ‘เป็นสิ่งที่เหมือนกัน’ ของความรู้สึกผู้คน ‘Something in Common’ คือกุญแจสำคัญของความนิยมและความสำเร็จ.
...