“นายกรัฐมนตรี”...ที่ผ่านมาล้วนทำผิดบทบาทชาติไม่พ้น... “วิกฤติ” ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส จึงขอเปิดมุมมองสะท้อน บทบาทของนายกรัฐมนตรีในอนาคตไว้ดังนี้

ย้ำว่า...สาเหตุใหญ่ที่ไทยออกจากวิกฤติไม่ได้ คือ นายกรัฐมนตรีล้วนทำผิดบทบาท?

นายกรัฐมนตรีทำอะไร โดยสรุป คือ “บริหารจิปาถะ”

ความที่กลไกของบ้านเมืองไม่มีประสิทธิภาพ “นายกรัฐมนตรี” จึงต้องไปเป็นประธานคณะกรรมการมากมายซึ่งก็ยังไม่ได้ผลอยู่ดี แต่นายกรัฐมนตรีก็เหน็ดเหนื่อยแสนสาหัสและมึนงงไปหมด

ศ.นพ.ประเวศ วะสี
ศ.นพ.ประเวศ วะสี

นี่แหละที่เรียกว่าบริหารจิปาถะ...ถึงตรงนี้หลายๆคนคงมีคำถามตามมาว่า...แล้วบทบาทของนายกรัฐมนตรีที่ถูกต้องคืออะไร

อันดับหนึ่ง...บทบาทนายกรัฐมนตรี คือ เป็นผู้นำทิศทางนโยบายของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด

ศ.นพ.ประเวศ บอกว่า นโยบายของประเทศหรือนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ถ้าทำได้ดีประเทศจะพ้นวิกฤติและเจริญอย่างแท้จริงทุกด้าน ประเทศไทยมีทรัพยากรและความรู้มากพอที่จะทำให้คนไทยทุกคนอยู่ด้วยความผาสุกและปลอดภัย สิ่งที่ขาดคือการขับเคลื่อนนโยบายที่ดีไปสู่ความสำเร็จ

...

นายกรัฐมนตรีจึงต้องมีบทบาทเป็นผู้นำการขับเคลื่อนนโยบายที่ดีไปสู่ความสำเร็จ ใครที่คิดมาเป็นนายกรัฐมนตรีควรใส่ใจเรื่องนี้ โดยวิธีทำข้อแรกก็คือ...จัดให้มีการระดมความคิดว่า “ประเทศไทยมีประเด็นใหญ่ๆ” อะไรบ้าง ซึ่งถ้าแก้ไขหรือพัฒนา...จะทำให้บ้านเมืองพ้นวิกฤติและเจริญอย่างแท้จริง

สมมติว่าได้ 20 ประเด็น...นี้คือประเด็นนโยบายสาธารณะ ข้อถัดมา... จัดการพิมพ์ประเด็น นโยบาย 20 ประเด็นเหล่านั้น พิมพ์เป็นเอกสารที่น่าจับต้อง...เข้าใจง่าย เผยแพร่ทั่วไปให้ทุกภาคส่วนของสังคมวิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็นเพิ่มเติม นำมาวิเคราะห์สังเคราะห์เป็นประเด็นนโยบาย 20-25 ประเด็น

...ที่คนทั้งประเทศร่วมกันกำหนดนโยบายสาธารณะเหล่านี้ มีความศักดิ์สิทธิ์เพราะคนทั้งประเทศร่วมกำหนด

ข้อที่สาม...นายกรัฐมนตรีทำการสื่อสารอย่างดีที่สุด ให้คนไทยทั้งประเทศมี เป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม หรือความมุ่งมั่นร่วมกัน ข้อนี้เป็นบทบาทที่สำคัญที่สุดของผู้นำ คือ “สื่อสารให้คนทั้งชาติเกิดวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วม” ดังคำพูดที่ว่า... “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ คือนักสื่อสารที่ยิ่งใหญ่”

เพราะถ้าคนทั้งชาติมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมหรือความมุ่งมั่นร่วมกัน “ชาติ” จะมีพลังมหาศาลในการเคลื่อนสู่อนาคต ถึงตรงนี้นายกรัฐมนตรีไม่ควรพูดมากแบบจับเรื่องจับราวไม่ได้ หรือพูดจิปาถะ

ข้อที่สี่...การขับเคลื่อนนโยบาย 20-25 ประเด็น ตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมไปสู่ความสำเร็จ ที่แล้วมามีความสำเร็จในนโยบายที่ดีๆน้อยมาก เพราะขาดเครื่องมือในการขับเคลื่อน มีแต่การบริหารตามกฎระเบียบของระบบราชการ ซึ่งชำนาญในการทำตามกฎระเบียบ แต่ไม่มีทักษะขับเคลื่อนนโยบาย

แม้แต่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรียกว่าสภาพัฒน์ ก็เป็นองค์กรทำแผน แต่ไม่มีความชำนาญในการขับเคลื่อนนโยบาย ฉะนั้นจึงต้องมีกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายที่เรียกว่า “กลุ่มขับเคลื่อนนโยบาย” (กขน.) ที่ประกอบด้วยผู้ที่มีความสามารถเหมาะสม

ถ้ามีนโยบายสาธารณะ 20-25 ประเด็น ก็มี กขน. 20-25 กลุ่ม

ข้อที่ห้า...การตั้ง กขน. ที่มีสมรรถนะสูง ต้องพิถีพิถันมากทำแบบซี้ซั้วไม่ได้จะล้มเหลว ไม่ใช่คนที่วิ่งเต้นอยากเป็นพวกพ้อง หรือโดยตำแหน่งแบบนั้นจะล้มเหลวอย่างคณะกรรมการต่างๆ วิธีที่ดีคือหาประธานกลุ่ม กขน. ที่มีปัญญาบารมีให้ได้ แล้วให้ท่านไปเสาะหาสมาชิกกลุ่มที่เหมาะสมเอง

โดย “รัฐบาล” ไม่เข้าไปยุ่มย่าม แต่สนับสนุนการทำงานของ กขน. ทุกทางและปฏิบัติตาม

ข้อที่หก...“กขน.” ทำการขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอน...ถ้าครบวงจรจะเกิดผลสำเร็จเหมือนวงจรไฟฟ้า ถ้าครบวงจรกระแสไฟก็เดินได้...ที่ไม่สำเร็จก็เพราะทำเป็นส่วนๆ หรือบางส่วนไม่ครบวงจร ถ้าครบวงจรเมื่อใดก็ไม่มีทางไม่สำเร็จ จึงเรียกกระบวนการนี้ว่า... “สัมฤทธิศาสตร์”

ข้อที่เจ็ด...“กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” หรือ P4 (Participatory Public Policy Process) กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่กล่าวมา ถ้าเข้าใจในรายละเอียดจะเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมรวมทั้งการเมืองด้วย

P4... จึงเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่มีคุณภาพยิ่ง

เพราะเป็นกระบวนการทางปัญญาร่วมของคนทุกฝ่ายที่นำไปสู่ความสำเร็จ หรือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงของคนทั้งชาติ

สุดท้ายข้อที่แปด...กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในทุกมิติ ที่ยิ่งทำยิ่งรักกันมากขึ้น... ยิ่งเชื่อถือไว้วางใจกันมากขึ้น...ยิ่งฉลาดขึ้นและฉลาดร่วมกัน...เกิดปัญญา...นวัตกรรมและอัจฉริยภาพกลุ่ม

ทั้งหมดเป็น “พลังมหาศาล” ฝ่าความยากทุกชนิดสู่ความสำเร็จ...ทุกคนมีความสุขประดุจบรรลุนิพพาน

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส บอกอีกว่า ฉะนั้น ถ้า “นายก รัฐมนตรี” ในอนาคตเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ หรือ “ผู้นำ P4” จะเกิดอานิสงส์มหาศาลถึงเพียงนี้...กระนั้นแล้วสื่อมวลชน P4 จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการเกิดสังคม P4 และนายกรัฐมนตรี P4

ยกตัวอย่าง...“ถ้าพรรคการเมืองใดขับเคลื่อนนโยบายที่มีประโยชน์ใหญ่จะได้รับความนิยมมาก ดังกรณีบัตรทองทางสุขภาพ คุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมจากคนยากคนจนอย่างยั่งยืน”

ควรมีพรรคการเมืองที่ใช้แนวคิด “ทางสายกลาง” ยิ่งมากพรรคยิ่งดี “ทางสายกลาง” คือทางสายปัญญาแบบพุทธ คือใช้ความจริงตามธรรมชาติที่สรรพสิ่งล้วนเป็นกระแสของเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) หรือความเป็นเหตุเป็นผล ไม่แยกส่วนตายตัว แบ่งข้างแบ่งขั้ว ที่เราไปเอาอย่างฝรั่งเขามา...

แล้วก็เล่นเกม “อำนาจ” ต่อสู้ระหว่างข้างระหว่างขั้ว โดยไม่ใช้ “ปัญญา”

วิกฤติ “โควิด” แสดงให้เห็นแล้วว่า ในเรื่องที่ยากและซับซ้อน อำนาจ เกมการเมือง วาทกรรมโดยปราศจากความรู้ในเนื้อหาแก้ปัญหาไม่ได้

“พรรคการเมืองทางสายกลางจะไม่ทะเลาะ แต่ร่วมมือใช้ปัญญาทำเรื่องดีๆ เมื่อทำเรื่องดีๆสำเร็จมากขึ้นๆ ก็จะได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้นๆ ทำให้เป็นการเมืองที่มีคุณภาพสูง และมีความต่อเนื่องยาวนาน บ้านเมืองลงตัว การเมืองลงตัว”

“การเมือง” ลงตัวไม่ได้ เพราะการคิดแบบแยกส่วน แบ่งข้างแบ่งขั้ว แต่วิธีคิด “ทางสายกลาง” แบบพุทธทำให้การเมืองลงตัวได้ ขอให้สังคมไทยสนใจวิธีคิดทางสายกลาง แล้วจะพบทางออกจากวิกฤติเรื้อรัง

“ความจริงมีชัยเหนือทุกสิ่ง” จารึกเสาพระเจ้าอโศก

“ทางสายกลาง” หรือ “สายปัญญา” ทำให้เข้าถึงความจริง.