“พี่ใหญ่” ของคณะรัฐประหาร คสช. หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า กลุ่ม 3 ป. คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายก รัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แม้จะอยู่ในวงการเมืองมานาน เคยเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ยังไม่เคยสมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่ชินกับ “การหาเสียง” กลัวถูกหาว่าหาเสียง
เช่น มีการขึ้นป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ติดภาพถ่าย พล.อ.ประวิตร และมีข้อความ “สวัสดีสงกรานต์ปีใหม่” ติดตามถนนสายต่างๆ รวมทั้งถนนที่มุ่งสู่ภาคอีสาน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พล.อ.ประวิตรหาเสียงเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหรืออย่างไร ป้ายบางส่วนถูกเจ้าหน้าที่ปลดออกไป แต่ไม่ทราบเป็นคำสั่งของใคร
พล.อ.ประวิตร ถามนักข่าวว่า ถ้าเป็นการหาเสียงให้หัวหน้าพรรคจะผิดกฎหมายหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ผิด ไม่ว่าจะหาเสียงให้ พล.อ.ประวิตร หรือให้นายกรัฐมนตรี ป้ายที่ติดตามข้างถนน เป็นป้ายหาเสียงแน่นอน ไม่ผิดกฎหมายและถูกกาลเทศะ เนื่องจากอาจมีการเลือกตั้ง อย่างช้าสุดหลังมีนาคม 2566
การขึ้นป้ายหาเสียงบนเส้นทางสู่ภาคอีสาน เป็นเรื่องที่ถูกต้องทั้งกาลเทศะ เพราะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี จะมีคนอีสานนับแสนนับล้านที่ทำงานอยู่ใน กทม.และทุกภาคของประเทศ เดินทางกลับภูมิลำเนา ภาคอีสานมีประชากรมากที่สุดมีถึง 20 จังหวัด มี ส.ส.กว่า 100คน มีคำพูดกัน การชนะที่ภาคอีสาน คือชนะเลือกตั้ง
แต่พรรค พปชร.ที่ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้นำ ดูเหมือนว่าคะแนนนิยมจะไม่ฟู่ฟ่า ขณะนี้พรรคการเมืองส่วนใหญ่ ล้วนแต่มุ่งจะขอส่วนแบ่ง ส.ส.จากภาคอีสาน ต้องแย่งชิงกันอย่างเข้มข้น พปชร. ประกาศจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ขาลง พปชร.จึงต้องถือคติ “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”
...
เนื่องจากอีสานเป็นภาคที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำทำนาและเพาะปลูกพืชอื่นๆ บ่อยครั้ง นักการเมืองบางคนหรือบางพรรค จึงหาเสียงด้วยการสัญญาจะผันน้ำจากแม่โขงมาให้ทำนา บางพรรคชูนโยบาย “โขง-ชี-มูล” บางพรรคชูนโยบาย “อีสานเขียว” แต่ไม่บรรลุผลสำเร็จตามคำสัญญา พรรค พปชร.มีนโยบายอะไร
นโยบายเด่นที่สุดน่าจะได้แก่การแจกบัตรสวัสดิการรัฐ หรือบัตร “ประชารัฐ” แจกเงินให้ผู้มีรายได้ต่ำคนละไม่กี่ร้อยบาท นโยบายที่หาเสียงได้ผลมากที่สุด คือประชานิยม แข่งกันแจกเงินให้ประชาชน แต่ไม่ได้สร้างงานที่ทำให้ฐานะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็น “ศตวรรษ” แห่งความสูญเปล่า.