เพื่อไทย ห่วง “บิ๊กตู่” ทำไทยเป็นเหมือน “ศรีลังกา” ชี้ อย่าเข้าใจผิดเรตติ้งคงที่เพราะทุนสำรองมากตั้งแต่อดีต ไม่ใช่เศรษฐกิจดี เหตุหนี้ยังเพิ่มไม่หยุด แนะ หัดเรียนรู้จาก “เพื่อไทย-พี่โทนี่”
วันที่ 12 เม.ย. นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตามที่บริษัทจัดอันดับเครดิต Moody’s คงสถานะเครดิตของไทยอยู่ที่ Baa1 ซึ่งถือว่ามั่นคงนั้น สาเหตุหลักมาจากเงินทุนสำรองของไทยที่มีสูงถึง 2.42 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เกิดจากการสะสมเงินทุนสำรองมากว่ายี่สิบปี ตั้งแต่หลายรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้แปลว่า เศรษฐกิจไทยจะดี ดังนั้นไม่อยากให้พลเอกประยุทธ์ได้เข้าใจผิด ซึ่งอาจจะทำให้หลงทางได้ ทั้งนี้ เพราะเครดิตจะเปลี่ยนแปลงได้ทันที ถ้ามีปัญหารุนแรงเกิดขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น ก่อนที่บริษัทเลห์แมน บราเธอร์สจะล้มละลายหนึ่งสัปดาห์ในปี 2008 และเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ เรตติงของบริษัท เลห์แมน บราเธอร์สยังอยู่ที่ “A” เลย แต่อีกไม่กี่วันก็ล้มละลายแล้ว เป็นต้น
นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า หากวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยแล้ว ยังคงน่าเป็นห่วงอย่างมาก เวิลด์แบงก์ได้ลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ เหลือเพียง 2.9% และอาจลดลงถึง 2.6% ถ้าสถานการณ์แย่ลง อีกทั้งยังเป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงมากเกือบจะทะลุ 15 ล้านล้านบาทแล้ว หรือกว่า 90% ของจีดีพีแล้ว และหนี้สาธารณะของไทยกำลังจะทะลุ 10 ล้านล้านบาทสูงกว่า 60% ของจีดีพีแล้ว หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมาก และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงได้เลย หากพลเอกประยุทธ์ ยังไม่สามารถใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพได้ คือ พลเอกประยุทธ์ใช้เงินมากแต่เศรษฐกิจไทยกลับไม่ขยายตัว คิดได้แต่จะกู้มาแจกเงิน และกู้มาซื้ออาวุธ เศรษฐกิจไทยคงฟื้นยากหรือจะไม่ฟื้นเลย ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก พลเอกประยุทธ์ ใช้เงินและแจกเงินสะเปะสะปะมากกว่ารัฐบาลในอดีตมาก แต่ทำเศรษฐกิจขยายได้ไม่เคยเท่ากับรัฐบาลเพื่อไทยในอดีตที่ทำเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ขยายตัวถึง 7.2% และใช้เงินน้อยกว่าพลเอกประยุทธ์มาก อยากให้พลเอกประยุทธ์ได้ไปศึกษาวิธีคิดของพรรคเพื่อไทยจะได้ทำเป็นบ้าง นอกจากนี้อยากให้ไปศึกษาดูว่าในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีไม่มากนักเพราะเพิ่งใช้หนี้ไอเอ็มเอฟหมด แต่ประชาชนกลับมีความเป็นอยู่ที่ดี กินดีอยู่ดี มีรายได้สูง และมีความสุขกันถ้วนหน้ามากกว่าตอนนี้ที่อ้างว่ามีทุนสำรองมากอย่างเทียบกันไม่ได้
...
ปัญหาความเสื่อมถอยของเศรษฐกิจไทยทำให้น่าเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะตามรอยวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกาได้ เพราะมีลักษณะหลายอย่างคล้ายกัน ซึ่งปัจจุบันวิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกาหนักมาก หนี้สาธารณะพุ่งถึง 104% ของจีดีพี เงินเฟ้อพุ่งกว่า 18% ประเทศขาดทุนสำรองระหว่างประเทศทำให้ไม่สามารถนำเข้าพลังงานได้ถึงขนาดต้องปิดไฟฟ้าวันละ 13 ชม. เลย ซึ่งหากประเทศไทยยังปล่อยให้มีการบริหารประเทศย่ำแย่ไปแบบนี้ ประเทศไทยก็อาจจะเป็นเหมือนประเทศศรีลังกาได้ เช่นรัฐบาลกู้มาก แต่ลงทุนไม่เป็น ไปลงทุนในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น ศรีลังกากู้เงินไปสร้างท่าเรือและสนามบินแต่ไม่มีคนมาใช้ ไม่มีรายได้ ในขณะที่ไทยลงทุนจำนวนมากในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่ไม่มีนักลงทุนเข้ามา แทนที่จะไปทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อหนองคาย-เวียงจันทน์ทะลุไปประเทศจีน ซึ่งจะขยายการค้าการลงทุนอย่างมาก เป็นต้น การท่องเที่ยวของศรีลังกาที่เป็นรายได้หลักหดหายไปมากเช่นเดียวกับประเทศไทยที่การท่องเที่ยวหดหายไปเช่นกัน หนี้สาธารณะของศรีลังกาเพิ่มไม่หยุดเหมือนหนี้สาธารณะของไทยเช่นกัน อีกทั้งในอดีตศรีลังกาคิดจะพึ่งการบริโภคภายในประเทศไม่พึ่งส่งออกแบบเดียวกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในสมัย ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พูดและขายไอเดียไว้เอง ทำให้การส่งออกลดลงมาก และการส่งออกไทยก็ย่ำแย่มาตลอดจนเพิ่งจะมาฟื้นในปีที่แล้วเพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น แต่การลงทุนของไทยยังต่ำและมีน้อยมาก
"ผู้นำที่ดีจะต้องดูแบบอย่างความสำเร็จและความล้มเหลวของประเทศต่างๆ มาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาประเทศของตน หากพลเอกประยุทธ์ได้ค้นคว้าหาความรู้และศึกษารูปแบบความสำเร็จของประเทศในโลก จะพบว่าสิ่งที่พลเอกประยุทธ์ได้บริหารมาและกำลังบริหารอยู่ไม่มีทางที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้เลย ซึ่งกลับตรงกันข้าม ลักษณะที่พลเอกประยุทธ์ทำอยู่นี้เป็นรูปแบบของความล้มเหลวของผู้นำของหลายประเทศที่ประสบกันมาแล้ว ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ต้องปรับวิธีคิดและวิธีบริหาร อีกทั้งอยากให้ฟังพี่โทนี่ที่ศึกษารูปแบบประเทศที่สำเร็จมาอย่างดี และให้ความรู้ประชาชนในคลับเฮาส์ทุกวันอังคารเว้นอังคารจะได้มีแนวคิดที่ถูกต้องบ้าง อย่าปล่อยให้ประเทศต้องล้มเหลวกว่านี้อีกเลย" นายกฤษฎา กล่าวทิ้งท้าย.