วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 จะเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่จะมีการ ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.’ ขึ้นอีกครั้ง นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2556 ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชนะการเลือกตั้งอีกสมัย แต่ 3 ปีหลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.ที่ทำการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2557 ได้ปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ลงจากตำแหน่ง และออกคำสั่งที่ 64/2559 แต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559
และล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ประกาศลาออกจากตำแหน่งที่ได้มาจากการแต่งตั้ง เพื่อลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จากการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย
สิ่งที่ผู้คนในกรุงเทพฯ อยากเห็น และอยากได้จากผู้ว่าฯ คนใหม่ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีผลกระทบในการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่ไม่ว่าจะผ่านการมีผู้ว่า กทม.ฯ กี่ยุคกี่สมัย ปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่ถูกแก้ไปเสียที ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเรื่องทางเท้าที่เดินแล้วขาเกือบพลิก ซึ่งมีให้เห็นอยู่เกือบทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพ หรืออย่างเรื่องระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าที่ค่าโดยสารต้องถูกลงกว่านี้ แต่ก็ยังไม่เห็นมีใครทำได้
คนกรุงเทพฯ รอดูการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และหวังว่ากรุงเทพมหานคร จะต้องดีกว่านี้ได้ ตามนโยบาย และงบประมาณฯ ที่ได้จัดสรรไปในทุกๆ ปี
ก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง และได้พ่อเมืองมาบริหารกรุงเทพมหานครไปอีก 4 ปี ตามวาระ ไทยรัฐพลัสชวนสำรวจงบประมาณประมาณประจำปี 2565 ว่ามีเท่าไร และใช้งบไปกับส่วนไหนบ้าง
ขออธิบายถึงอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าต้องทำอะไร และมีหน้าที่อะไรบ้าง
กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จัดรูปแบบการปกครองตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการกรุงเทพฯ พ.ศ. 2528 ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 89 ดังนี้1. การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน2. การทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด 3. ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย 4. การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง5. การผังเมือง 6. การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบกหรือทางน้ำ และทางระบายน้ำ 7. การจัดการจราจรและการวิศวกรรมจราจร 8. การส่งเสริมและสนับสนุนสถานีตำรวจ และหน่วยงานอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 1-79. การขนส่ง10. การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
11. การดูแลรักษาที่สาธารณะ 12. การควบคุมอาคาร 13. การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัด และการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย 14. การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ 15. การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 16. บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น 17. การสาธารณูปโภค 18. การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล 19. การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน 20. การควบคุมสัตว์เลี้ยง
21. การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์ 22. การควบคุมความปลอดภัยความเป็นระเบียบเรียบร้อยการอนามัยในโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ 23. การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาของชาติ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา24. การสาธารณูปการ 25. การสังคมสังเคราะห์ 26. การส่งเสริมการกีฬา 27. การส่งเสริมการประกอบอาชีพ 28. การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร 29. หน้าที่อื่นๆ ตามที่กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด อำเภอ เทศบาลนคร หรือตามที่คณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย หรือกฎหมายระบุให้เป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
ขณะที่มาตรา 49 กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ดังนี้1. กำหนดนโยบาย บริหารราชการของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามกฎหมาย2. สั่ง อนุญาต อนุมัติ เกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร3. แต่งตั้งและถอดถอน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งและถอดถอนผู้ทรงคุณวุฒิ 4. เป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือเป็นคณะกรรมการ เพื่อปฏิบัติราชการใดๆ5. บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย6. วางระเบียบ เพื่อให้งานของกรุงเทพมหานคร เป็นไปโดยเรียบร้อย7. รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร8. อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ (เช่น การเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการ และลูกจ้างกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 50 การเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 98 เป็นต้น) และตามที่กฎหมายอื่นกำหนดไว้ (เช่น อำนาจหน้าที่ซึ่งกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี หรือคณะเทศมนตรี ตามมาตรา 50 เป็นต้น)
กลับมาที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ยื่นเสนอให้พิจารณา และได้งบจัดสรรตามปีงบประมาณทุกปี ย้อนไปให้ดูแบบคร่าวๆ ในระยะเวลาที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน งบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรุงเทพฯ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่าปีละ 70,000 ล้านบาท และยังมีการของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในบางปี
- ปี 2559 งบประมาณ 70,424 ล้านบาท
- ปี 2560 งบประมาณ 75,635 ล้านบาท
- ปี 2561 งบประมาณ 79,047 ล้านบาท
- ปี 2562 งบประมาณ 80,445 ล้านบาท
- ปี 2563 งบประมาณ 83,398 ล้านบาท
- ปี 2564 งบประมาณ 76,451 ล้านบาท
- -ด้านการบริหารจัดการและบริหารราชการ กทม. 7,386 ล้านบาท
- -ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 190 ล้านบาท
- -ด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ 235 ล้านบาท
- -ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง 10,212 ล้านบาท
- -ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12,620 ล้านบาท
- -ด้านสาธารณสุข 6,092 ล้านบาท
- -ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง 1,303 ล้านบาท
- -ด้านการศึกษา 711 ล้านบาท
- -การจัดบริการของสำนักงานเขต 16,344 ล้านบาท
- -รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินยืมเงินสะสม 6,002 ล้านบาท
- -รายจ่ายงบกลาง 14,417 ล้านบาท
- -รายจ่ายเพื่ออุดหนุนหน่วยงานในกำกับ 2,812 ล้านบาท
ส่วนปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมาครึ่งปีแล้วนั้น มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ ของ กทม. อยู่ที่ 79,855 ล้านบาท (79,855,278,450 บาท) แบ่งเป็น งบรายจ่ายประจำ จำนวน 78,979 ล้านบาท (78,979,446,500 บาท) และรายจ่ายของการพาณิชย์ของ กทม. จำนวน 876 ล้านบาท (875,831,950 บาท)
แยกย่อยลงไปในงบรายจ่ายประจำ จำนวน 78,979 ล้านบาท หากจำแนกด้านตามลักษณะงานที่แบ่งเป็น 9 ด้าน หากไม่นับรวมการจัดบริการของสำนักงานเขต ดูเหมือนว่าในปีงบประมาณ 2565 นี้ กทม. ให้ความสำคัญกับงบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากที่สุดอยู่ที่ 12,620 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำแนกด้านตามลักษณะงาน และลักษณะรายจ่าย
ลักษณะงาน
งบประมาณสำนักสนับสนุน และสำนักงานเขต 648 ล้านบาท รายจ่าย
เจาะลงไปอีกนิด งบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12,620 ล้านบาท นี้ กทม.มีแผนงานแยกลงไป 4 แผนงานหลัก โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักๆ คือ สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักการระบายน้ำ แต่ละแผนงานอธิบายวัตถุประสงค์ที่ดูจะเป็นภาพความหวังของคงกรุงเทพฯ ที่อยากให้สารพัดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เจอมาจนถึงทุกวันนี้หมดลงไปและแก้ได้อย่างยังยืนเสียที
แผนงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล งบประมาณจำนวน 4,639,731,855 บาท ที่วาดฝันอยากให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสะอาด น่าอยู่ และเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิ่งที่จะทำคือมีการจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลอย่างเป็นระบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง รวมถึงการรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตลอดจนการรวบรวมปริมาณมูลฝอยเพื่อจัดทําสถิติ
แผนงานจัดการน้ำทิ้ง งบประมาณจำนวน 5,435,124,045 บาท (เงินนอกงบประมาณ 1,455,183,500 บาท) เพื่อให้น้ำฝน น้ำปล่อยทิ้งจากบ้านเรือนและอาคาร และน้ำปล่อยทิ้งจากแหล่งอื่นๆ ได้รับการจัดการอย่างมีระบบ ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของเมือง โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาน้ำท่วม ตามแผนนี้จะจัดให้มีระบบการระบายน้ำจากแหล่งกําเนิดไปสู่โรงบำบัดหรือสู่แหล่งน้ำผิวดินผ่านระบบท่อระบายน้ำ ระบบรวบรวมน้ำเสีย ระบบคลอง และบึงรับน้ำ
แผนงานป้องกันและควบคุมภาวะมลพิษ งบประมาณจำนวน 1,429,127,098 บาท (เงินนอกงบประมาณ 77,350,000 บาท) เพื่อรักษาและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขภาวะมลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ และก๊าซเรือนกระจก มลพิษทางเสียง ขยะ มูลฝอย สิ่งปฏิกูล สารอันตรายและของเสียอันตราย
แผนงานทรัพยากรธรรมชาติพื้นที่สีเขียว งบประมาณจำนวน 1,116,951,363 บาท เพื่อให้การอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีดุลยภาพและประสิทธิภาพ และคงความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งพัฒนาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง
หากดูการจัดสรรงบประมาณที่แบ่งตามสำนักงานและหน่วยงานในสังกัด กทม. หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด 10 อันดับ ประกอบด้วย
- 1. สำนักการระบายน้ำ 7,004,723,861 บาท
- 2. สำนักสิ่งแวดล้อม 6,845,454,756 บาท
- 3. สำนักการโยธา 6,455,586,600 บาท
- 4. สำนักการแพทย์ 4,439,365,100 บาท
- 5. สำนักการจราจรและขนส่ง 3,871,137,900 บาท
- 6. สำนักการคลัง 2,996,974,710 บาท
- 7. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 2,812,332,400 บาท
- 8. สำนักอนามัย 2,113,644,000 บาท
- 10. สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว 1,309,339,200 บาท
- 11. สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 912,610,510 บาท
ส่วนสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต นำเงินที่ได้รับจัดสรรไปใช้ในงานด้านต่างๆ ตามงบประมาณภารกิจประจำพื้นฐาน เช่น งานอำนวยการและบริหารสำนักงานเขต งานกวาดทำความสะอาดที่และทางสาธารณะ งานตรวจและบังคับใช้กฎหมาย งานระบายน้ำ และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม งานพัฒนาชุมชน และบริการสังคม งานป้องกันและควบคุมโรค งานบริหารทั่วไปฝ่ายการศึกษา งานงบประมาณโรงเรียน เป็นต้น
แต่ที่น่าสนใจคือสำนักงานเขตบางขุนเทียน นอกจากจัดสรรงบประมาณตามภารกิจพื้นฐานข้างต้น ยังมีงบประมาณภารกิจตามแผนยุทธศาสตร์ 700,000 บาท โดยภารกิจที่ว่านี้คือ ค่าใช้จ่ายในการล่องเรือกินปู ดูวิถีชาวทะเลบางขุนเทียน ที่น่าตามดูว่างบฯ ในส่วนนี้จะเอาไปใช้และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ทะเลบางขุนเทียนได้มากน้อยแค่ไหน
นอกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่กล่าวมาแล้วนี้ เมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พ.ศ. …
โดยฝ่ายบริหารเสนอของบประมาณ 11,479,633,438 บาท หน่วยงานที่รับงบประมาณ 11 สำนัก 37 สำนักงานเขต จำแนกวงเงินงบประมาณตามลักษณะงาน ดังนี้
- - ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง 47.18%
- - ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 30.15%
- - การจัดบริการของสำนักงานเขต 10.65%
- - ด้านสาธารณสุข 5.35%
- - ด้านการบริหารจัดการและบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 3.2%
- - ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง 2.09%
- - ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 0.93 %
- - ด้านการศึกษา 0.37%
- - ด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ 0.02%
แต่คณะกรรมการวิสามัญฯ และสมาชิกสภา กทม. เสนอตัด/ปรับลด 4,037,824,350 บาท คงเหลือให้ผ่าน 7,441,809,088 บาท และจะส่งให้ปลัด กทม. พิจารณาดำเนินการ เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
งบประมาณของจายจ่ายประจำปีงบฯ งบเพิ่มเติม และงบนอกงบประมาณของ กทม.ที่ได้รับจัดสรรนี้ จะถูกใช้ถูกที่ ถูกทาง และจะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ และดีกว่านี้ได้มากตามงบประมาณฯ ที่ได้ในแต่ละปีหรือไม่ ต้องติดตามอย่างมากๆ
นอกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่กรุงเทพมหานครได้รับจัดสรรในทุกๆ ปี เพื่อนำงบประมาณที่ได้ไปใช้ประโยชน์ และแก้ไขปัญหาให้กรุงเทพฯ ดีกว่านี้
กรุงเทพมหานครยังมีรายได้ส่วนที่จัดเก็บเอง ซึ่งถือว่าการจัดเก็บรายได้เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ท้าทายผู้ที่กำลังจะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ในแต่ละปี กทม.ที่มีพื้นที่ 1,568.737 ตารางกิโลเมตร จัดเก็บรายได้ได้เท่าไร และจัดเก็บจากอะไรบ้าง ไทยรัฐพลัสชวนดูและทบทวนไปพร้อมๆ กัน
ที่มารายได้ กทม.
รายได้ของกรุงเทพมหานคร ในปีงบประมาณ 2564 ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
1. รายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง ประกอบด้วยรายได้ที่ได้จากภาษีอากรและรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากร แบ่งเป็น รายได้ที่ได้จากภาษีอากร ได้แก่
- • ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- • ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน
- • ภาษีป้าย
- • ภาษีบำรุง กทม. สำหรับน้ำมัน
- • ภาษีการพนัน
- • อากรฆ่าสัตว์
รายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากร ได้แก่
- • ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ใบอนุญาต
- • รายได้จากทรัพย์สิน
- • รายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์และกิจกรรมอื่น ๆ
- • รายได้เบ็ดเตล็ด
2. รายได้จากการจัดสรรภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ได้แก่
- • ภาษีมูลค่าเพิ่ม
- • ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือล้อเลื่อน
- • ภาษีสรรพสามิต
- • ภาษีและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ/นิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
- • ภาษีธุรกิจเฉพาะ
- • ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา
- • ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเล่นการพนัน
- • ค่าปรับผู้ละเมิดกฎหมายจราจร
สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของ กทม. จากข้อมูลพบว่า กทม. พึ่งพารายได้จากที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ค่อนข้างมาก คิดเป็นสัดส่วน 80-90% ในขณะที่รายได้ที่ กทม.จัดเก็บเองมีสัดส่วน 10-20%
แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การจัดเก็บรายได้ของปีงบฯ 2563 และปีงบฯ 2564 นั้นลดลงระดับหมื่นล้านบาท สิ่งที่ทำให้รายได้ของ กทม.ลดลงนี้หลักๆ มาจากการยกเลิกการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ที่เป็นรายได้ที่มีสัดส่วนมากที่สุดของรายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง) และภาษีบำรุงท้องที่ ตาม ‘พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475’ และ ‘พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508’ และเปลี่ยนมาใช้ ‘พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562’ เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ภาษีที่ดิน’ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 แทน
รวมถึงผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้รัฐบาลและ กทม.ต้องออกมาตรการทางภาษีเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งจากการกําหนดมาตรการทางภาษีของภาครัฐก็ทำให้กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลและ กทม.ที่ลดลง
รายได้กทม.ย้อนหลัง 5 ปี
• ปีงบประมาณ 2560
ประมาณการรายได้ไว้ 76,000 ล้านบาท
จัดเก็บได้จริง 79,292.73 ล้านบาท
• ปีงบประมาณ 2561
ประมาณการรายได้ไว้ 78,500.00 ล้านบาท
จัดเก็บรายได้จริง 86,444.16 ล้านบาท
• ปีงบประมาณ 2562
ประมาณการรายได้ไว้ 80,000.00 ล้านบาท
จัดเก็บรายได้จริง 83,338.64 ล้านบาท
• ปีงบประมาณ 2563
ประมาณการรายได้ไว้ 83,000.00 ล้านบาท
จัดเก็บรายได้จริง 67,555.62 ล้านบาท
• ปีงบประมาณ 2564
ประมาณการรายได้ไว้ 75,500.00 ล้านบาท
จัดเก็บรายได้จริง 69,728.57 ล้านบาท
เจาะลึกลงไปในรายละเอียดของการจัดเก็บรายได้ของ กทม.ประจำปีงบประมาณ 2564 กทม.ประมาณการรายได้ไว้ 75,500 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง 12,000 ล้านบาท และรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ 63,500 ล้านบาท
หากดูตัวเลขแล้วก็นับว่าเป็นตัวเลขที่ลดลงจากปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประมาณการรายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง เพราะหากเทียบกับปีงบฯ 2563 ที่ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 20,500 ล้านบาท ก็เท่ากับว่าตั้งเป้าลดลงถึง 8,500 ล้านบาทเลยทีเดียว
และแม้จะประมาณการรายได้ลดลงแล้วก็ตาม แต่ตัวเลขการจัดเก็บรายได้จริงของปีงบประมาณ 2564 ที่ออกมาก็น้อยลงกว่าที่ตั้งเป้าไว้เสียอีก
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นสาเหตุหลักๆ มาจากการยกเลิกการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ที่เป็นรายได้ที่มีสัดส่วนมากที่สุดของรายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง เปลี่ยนมาเป็นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน และการเลื่อนการจัดเก็บต่างๆ ตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
การจัดเก็บรายได้จริง กทม. ปี 2564
สำหรับการจัดเก็บรายได้จริงของ กทม. ประจำปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 69,728.57 ล้านบาท แบ่งเป็น
1. รายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง 5,825.79 ล้านบาท แบ่งย่อยออกเป็น
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวงร่วมกันเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย โดยผู้ถือครองห้องชุด บ้าน โรงเรือน อาคาร ตึก ตึกแถว หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย แม้จะนำไปปล่อยเช่าจะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัยร้อยละ 0.02
และมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีให้ประชาชนด้วยการลดจำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 จากจำนวนภาษีที่คำนวณได้ต่อเนื่องจากปี 2563
ทำให้สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รวม 1,802.42 ล้านบาท
ส่วนภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่ยกเลิกไปแล้ว แต่ยังมีการจัดเก็บรายได้อยู่จากการเร่งรัดติดตามภาษีตกค้าง โดยมีรายได้ 18.33 ล้านบาท และ 553.44 ล้านบาท ตามลำดับ
เมื่อเทียบกับในปีงบประมาณ 2562 ที่ กทม.สามารถเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ได้รวม 15,159.12 ล้านบาท จะเห็นว่ารายได้ส่วนนี้ลดลงไปมาก
ภาษีป้าย กทม.สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราภาษีป้ายเป็นอัตราใหม่ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีป้าย พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ทำให้จัดเก็บได้รวม 1,049.93 ล้านบาท
ภาษีบำรุง กทม.สำหรับน้ำมัน ภาษีนี้เป็นการจัดเก็บจากปริมาณการจำหน่ายน้ำมันฯ และก๊าซปิโตรเลียมที่จำหน่ายได้ในแต่ละเดือน แต่จากการระบาดของโควิด-19ส่งผลให้ผู้คนทำงานแบบ Work from Home ทำให้การสามารถจัดเก็บได้รวม 173.26 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้
ภาษีการพนัน ปีงบประมาณ 2564 ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ เนื่องจากปัจจุบันเหลือสนามแข่งม้าเพียงแห่งเดียวคือ สมาคมราชกรีฑาสโมสร และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดการแข่งขันได้
อากรฆ่าสัตว์ จัดเก็บจากโรงฆ่าสัตว์ มีรายได้รวม 0.71 ล้านบาท
ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับและค่าบริการ จัดเก็บได้รวม 880.87 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ เนื่องจากการเลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนและกำจัดมูลฝอยในอัตราใหม่ จากปีงบประมาณ 2564 ไปจัดเก็บในปีงบประมาณ 2565 และยังมีการจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ลดลง ทั้งค่าธรรมเนียมการจอดยานยนต์ ค่าธรรมเนียมบัตรประจำตัวประชาชน และค่าธรรมเนียมตามกฎหมายควบคุมอาคาร
รายได้จากทรัพย์สิน จัดเก็บได้รวม 780.64 ล้านบาท
รายได้จากการสาธารณูปโภค การพาณิชย์และกิจกรรมอื่นๆ เป็นรายได้ที่สถานธนานุบาลของกรุงเทพมหานคร และสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร จัดเก็บได้รวม 56.83 ล้านบาท และรายได้เบ็ดเตล็ด จัดเก็บได้รวม 509.37 ล้านบาท
2. รายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ 63,902.78 ล้านบาท
สำหรับรายได้ของ กทม.ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ 3 อันดับแรกที่จัดเก็บได้มากที่สุด คือ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค และการให้บริการต่างๆ ที่ไม่ว่าคนกรุงเทพฯ หรือจังหวัดไหนเมื่อซื้อของ หรือใช้บริการต่างๆ ก็เท่ากับว่าเราได้เสียภาษีไปแล้ว
ข้อมูลจากรายงานการจัดเก็บรายได้ประจำปีงบฯ 2564 อธิบายไว้ว่า สำหรับกรุงเทพมหานครจะได้รับจัดสรรจากกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติจัดสรรรายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2534 โดยจัดสรรให้กรุงเทพมหานครตามหน่วยงานที่จัดเก็บได้ (กรมสรรพากรจัดสรรให้ตามสัดส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตจัดสรรให้ตามเกณฑ์ประชากรในกรุงเทพมหานคร)
และกฎหมายอีกฉบับ คือ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
ทั้งนี้ กทม. ได้รับจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 28,638.16 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ เนื่องจากการออกมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชน
ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือล้อเลื่อน หรือ ภาษีรถยนต์ฯ เป็นภาษีที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บให้และจัดสรรรายได้ที่จัดเก็บได้ในเขตกรุงเทพมหานครนำส่งกรุงเทพมหานครทั้งหมด โดย กทม.มีรายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อนเป็นเงิน 18,206.97 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ ตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์รถยนต์ภายในประเทศที่มีมากขึ้น และตามมาตรการของรัฐในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ
ภาษีและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ/นิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือเรียกว่า ภาษีนิติกรรม
เป็นภาษีที่กรมที่ดินจัดเก็บให้และจัดสรรรายได้ตามพื้นที่การจัดเก็บ กทม.มีรายได้ จากภาษีและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ/นิติกรรมรวม 9,265.09 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้เนื่องจากมีการลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์/ห้องชุด และค่าจดทะเบียน การจำนองอสังหาริมทรัพย์/ห้องชุดในคราวเดียวกัน เหลือร้อยละ 0.01 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์-31 ธันวาคม 2564
การจัดเก็บรายได้ปีงบฯ 2565
สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรุงเทพมหานครประจำปีงบประมาณ 2565 ที่เริ่มขึ้นไปแล้ว
กทม.ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 79,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทม. จัดเก็บเอง 15,000 ล้านบาท และส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ 64,000 ล้านบาท แม้จะตั้งเป้าจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่คาดว่าน่าจะสามารถเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น และผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 จะลดลง
แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าของทั้ง กทม.และประเทศไทย ก็อาจจะทำให้ กทม.ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ให้ตรงตามเป้าที่วางไว้ได้ก็เป็นไปได้เช่นกัน
อินโฟกราฟิก : สิริลักษณ์ ตะเภาหิรัญ
อ้างอิง : กทม., ราชกิจจาฯ, ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการคลังและการลงทุนของกรุงเทพมหานคร