สนุกอย่างรับผิดชอบ...เข้าสู่บรรยากาศเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย มีวันหยุด 3 วัน คือ 13-14-15 เม.ย.65 ไม่มากไม่น้อยกำลังพอดีมากกว่า

แต่จะหยุดสั้นหยุดยาวคนไทยก็ต้องเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดจนเป็นประเพณีมานานแล้ว ห้ามกันไม่ได้

นอกจากจะไปร่วมงานแล้ว ยังได้เยี่ยมญาติผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือแล้วยังได้มีโอกาสรดนํ้าดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยความผูกพัน

เป็น “ของดี” ประจำชาติไทย

ที่ผ่านมารัฐบาลจะเพิ่มวันหยุดยาวให้อีกเพื่อจะได้เที่ยวกันให้สมใจ และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว

แต่หลังจากที่โควิด-19 ระบาด แนวคิดนี้จึงต้องเปลี่ยนไปถึงขั้นจะห้ามเดินทางเพราะโอกาสที่จะติดเชื้อมีสูง

ครับ...เมื่อคนจำนวนมากมาเจอกันการแพร่กระจายจึงง่าย

สังเกตเวลาหยุดยาวในเทศกาลต่างๆจำนวนคนติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว อย่างปีที่แล้วรัฐบาลถูกโจมตีว่าปล่อยปละละเลยจนทำให้โควิด-19 กลับมาระบาดอีก

ปีนี้ก็กำลังลุ้นกันอยู่...

7 วันอันตรายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่คิดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ โดยเฉพาะบนท้องถนนเพื่อทำเป็นสถิติว่าเสียชีวิต บาดเจ็บ สาเหตุอะไร

แต่ตัวเลขที่ออกมาแต่ละปีกลับไม่ได้ทำให้สถิติลดลง โดยเฉพาะ “เมาแล้วขับ” จนมีการเข้มงวดกันทั้งระบบ

ตัวเลขจึงดีขึ้นแต่ก็ยังเป็นร้อยขึ้นไป

ก็ดูแล้วกันปีนี้จะเป็นอย่างไร?

แต่ที่ห่วงกันมากกว่าคือโควิด-19 ที่ยังระบาดยิ่งในช่วงนี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน รัฐบาลมีนโยบายให้ทิ้งระยะห่างในการรดนํ้า

ไม่รู้ว่าจะป้องกันได้แค่ไหน เพราะเมื่อถึงเวลาสนุกก็ลืมทุกอย่าง ปล่อยให้ “การ์ดตก” ติดเชื้อกันเป็นคลัสเตอร์ในชุมชนต่างๆ

...

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา ระบุว่า การจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นน่าจะเป็นเรื่องยาก

เพราะปัจจุบันเรายังไม่สามารถควบคุมเชื้อไวรัสที่กระจายให้เหลือจำนวนสายพันธุ์น้อยลง ที่ผ่านมาเหมือนจะมีตัวที่โดดเด่นมาครองพื้นที่ 1-2 สายพันธุ์ อย่างมากก็ 3 สายพันธุ์ ในเวลาเดียวกัน

บริบทนี้มีแนวโน้มเปลี่ยนไปอยู่ครบทั้งกลายพันธุ์ ลูกผสมและไวรัสต้นฉบับ ที่ไม่สามารถควบคุมสายพันธุ์ที่กระจายให้น้อยลงได้

ข้อมูลจากอังกฤษได้ถอดรหัสพันธุกรรมที่กระจายในช่วง 12 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบไวรัสรูปแบบต่างๆมากถึง 13 รูปแบบ

เหตุการณ์ลักษณะนี้ย้อนแย้งกับแนวคิดปัจจุบัน ถ้าจะเป็นโรคประจำถิ่นจริงๆอาจจะต้องควบคุมให้เหลือน้อยลง ควบคุมได้แบบ “เอาอยู่”

มาเป็นกระดานแบบนี้ และไม่ทราบลักษณะการเปลี่ยนแปลงจะมีผลต่อไวรัสอย่างไร อาจเป็นโรคประจำถิ่นยากขึ้น

ที่คิดๆกันว่า สถานการณ์โควิด-19 จะถึงจุดสุดท้ายแล้ว

ยังนะครับ...อย่าได้ประมาทเด็ดขาด.

“สายล่อฟ้า”