"ชัชชาติ" หาเสียง เขตมีนบุรี สำรวจเส้นทาง รถ-ราง-เรือ ชู ศักยภาพศูนย์กลางคมนาคมกรุงเทพฯ ตะวันออก เสนอปรับผังเมือง พัฒนายกระดับเป็นเมืองบริวาร เชื่อม อีอีซี ยัน กทม.มีงบฯ เพียงพอ พัฒนานโยบายเมืองให้น่าอยู่ให้เป็นจริงได้ 

วันที่ 10 เม.ย. ที่เขตมีนบุรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 8 ลงพื้นที่หาเสียงที่ตลาดน้ำขวัญเรียม วัดบำเพ็ญเหนือ เขตมีนบุรี เพื่อพบปะพูดคุยและร่วมทำบุญตักบาตรพระกับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่บริเวณริมคลองแสนแสบหน้าวัด จากนั้นลงเรือ เพื่อสำรวจคลองแสนแสบ สำรวจประตูระบายน้ำคลองบางชัน ซึ่งเป็นด่านแรกที่จะป้องกันน้ำไหลเข้า กทม. ต่อด้วยลงพื้นที่ดูจุดตัดรถไฟฟ้าสายสีชมพู-ส้ม และพื้นที่หาเสียงในชุมชนต่างๆ ในเขตมีนบุรี อาทิ ชุมชนการเคหะเอื้ออาทรมีนบุรี ชุมชนการเคหะรามคำแหง

นายชัชชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่วันนี้ เขตมีนบุรีในอนาคตจะสะดวกสบายขึ้น เพราะมีรถไฟฟ้า 2 สาย คือสายสีส้ม และสายสีชมพู  ส่วนบริเวณตลาดน้ำขวัญเรียม วัดบำเพ็ญเหนือ ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เป็นแหล่งชุมชนที่สามารถพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและสร้างเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้ เพราะบริเวณจุดนี้มีการเดินเรือไฟฟ้าต่อมาจากเรือเร็วปกติ ทำให้ประชาชนมีความสะดวกขึ้นในการสัญจรทางน้ำในคลองแสนแสบ การที่ กทม.นำเรือไฟฟ้า มาถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และละอองฝุ่น PM 2.5 แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องความจุแบตเตอรี่ และความเร็วของเรือ ทั้งนี้จะพัฒนาต่อในการขยายการเดินเรือไปคลองลาดพร้าว ว่า จะทำได้หรือไม่ ส่วนการเชื่อมต่อรถราง เรือในบริเวณนี้ในอนาคต เมื่อมีรถไฟฟ้าใช้บริการเต็มรูปแบบ กทม.จะต้องจัดระบบการขนส่ง ด้วยการประสานกับ ขสมก.เพื่อเข้ามาเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า และท่าเรือคลองแสนแสบ ถ้า ขสมก.ไม่มีการเดินรถ กทม.อาจจะต้องจัดการเดินรถเองในบางจุด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบเชื่อมต่อการเดินทางรถรางเรือได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนมีแนวคิดจะพัฒนาทำเขตมีนบุรีให้เป็นเมืองแซตเทิลไลต์ หรือเมืองบริวาร ของ กทม. เหมือนโมเดลมหานครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากพื้นที่เขตมีนบุรี มีศักยภาพสูง เป็นต้นทางศูนย์กลางคมนาคมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ที่เชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี จึงต้องมีการทำผังเมืองเฉพาะขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางเมือง ซึ่งนอกจากเขตมีนบุรีแล้ว ยังเขตบางนา และเขตแจ้งวัฒนะ ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นเมืองบริวารได้เช่นเดียวกัน หากตนสามารถผลักดันแนวคิดนี้เป็นรูปธรรมได้สำเร็จ ในอนาคตจะได้บรรเทาภาวะการแออัดในเขต กทม.ชั้นใน ได้ด้วย

...

เมื่อถามว่า กรณีที่นายชัชชาติ มีนโยบายสร้างเมืองให้น่าอยู่ โดยไม่เพิ่มวงเงินงบประมาณ ในขณะที่ กทม.ยังมีหนี้สินอยู่จำนวนมากนั้น กทม.จะจัดเก็บรายได้มาทำโครงการต่างๆ ตามนโยบายได้อย่างไรนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา รายได้ของกทม.ลดลงไปหมื่นกว่าล้านบาท จากการลดภาษีสิ่งปลูกสร้างจากการที่รัฐบาลออกกฎหมาย ทำให้ กทม.ต้องรับภาระ แต่ในปีนี้เริ่มดีขึ้น เพราะจะเห็นรายได้ของกทม.กลับคืนมา ซึ่งตนเองมองว่า กทม.ควรต้องจริงจังกับการเก็บภาษีให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นไปตามความเหมาะสม แต่ไม่ได้เป็นการไปเพิ่มภาระให้กับประชาชน เช่น ภาษีที่ดิน การประเมินราคาป้าย ซึ่งจะต้องทำให้โปร่งใส และให้ได้ผลตอบแทนมากที่สุด รวมถึงจะต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เพราะจะทำให้มีเงินเหลือไปทำอย่างอื่น และกทม.จะต้องคิดหารายได้เพิ่มขึ้น เพราะ กทม.ก็มีทรัพย์สมบัติอยู่หลายแห่ง เช่น ป้ายโฆษณาในเมือง จะต้องไปดูว่า รายได้เข้า กทม.แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ ยุติธรรมกับกทม.หรือไม่ ยุติธรรมกับประชาชนที่เป็นเจ้าของกทม.หรือไม่ ซึ่งจะต้องไปทบทวนแหล่งรายได้เหล่านี้ว่าจะทำให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร

“รถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังปี พ.ศ. 2572 ทุกอย่างจะตกเป็นของกทม.รายได้ปีละหมื่นล้าน ก็จะตกเป็นของกทม. แต่กทม.ต้องจ่ายค่าเดินรถที่มีสัญญาไปถึงปี พ.ศ. 2585 ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ ไม่รู้ว่า สัญญาจ้างการเดินรถเป็นอย่างไร เพราะส่วนต่างระหว่างรายได้ กับค่าเดินรถจะเป็นตัวที่ทำให้ได้รายได้เพิ่ม และจะต้องได้กำไรไม่น้อยกว่าที่เอกชนได้ในปัจจุบัน ดังนั้น กทม.จะต้องรู้รายละเอียดสัญญาจ้างตรงนี้ ส่วนหนี้หลายหมื่นล้าน จะต้องไปดูว่า หนี้ส่วนไหนจ่ายหรือไม่จ่ายอย่างไร ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นหนี้ภาระรถไฟฟ้า ค่าเดินรถที่ไม่ได้เก็บในส่วนต่อขยาย และกทม.ก็มีเงินสำรองที่เป็นเงินสะสมไม่มีภาระผูกพัน ซึ่งแม้ กทม.จะมีตัวเลขงบดุลเห็นอยู่ แต่งบดุลของบริษัทลูก อย่าง กรุงเทพธนาคม ไม่ได้เอาตัวเลขมาเปิดเผยชัดเจน จึงไม่ทราบตัวเลขที่แท้จริง ดังนั้นมองว่า กรุงเทพธนาคม ก็ต้องเปิดเผยตัวเลขงบประมาณต่างๆ ด้วย” นายชัชชาติ ระบุ