คณะก้าวหน้า เดินหน้า เข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญกระจายอำนาจ เปิดเวทีพบประชาชน-ผู้บริหารท้องถิ่น ภาคอีสาน “ธนาธร” ชี้ รัฐรวมศูนย์ คือ โซ่ตรวนประเทศ ส่วนท้องถิ่นคืออนาคต หากปลดล็อกได้ ท้องถิ่นจะมีอำนาจเพิ่มขึ้น พัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตประชาชนก้าวกระโดด

วันที่ 9 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรณรงค์เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ว่าด้วยการกระจายอำนาจ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ที่ภาคอีสานครั้งนี้ จัดขึ้นที่ ต.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด, อ.เมือง จ. กาฬสินธุ์ และ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน ซึ่งแกนนำคณะก้าวหน้าได้เปิดเวทีบรรยายต่อผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจ โดยมีการบรรยายจาก นายชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า และนักวิชาการด้านการกระจายอำนาจ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

โดยในส่วนของนายชำนาญ เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “วิวัฒนาการการต่อสู้เรื่องการกระจายอำนาจ” ระบุว่า 130 ปี ที่ผ่านมานับตั้งแต่การปฏิรูประบบราชการ คือ 130 ปีแห่งการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เป็นการปกครองที่นำตัวแบบมาจากอาณานิคมอังกฤษที่ปกครองอินเดียและประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีราชการส่วนกลางส่งคนมาปกครองพื้นที่ต่างๆ ต่อมาได้วิวัฒนาการจนมีหน่วยงานต่างๆ เป็นกลไกการปกครองจากส่วนกลางเกิดขึ้นตามมา มีความพยายามกระจายอำนาจเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ยังเป็นไปภายใต้ข้อจำกัดที่สงวนอำนาจให้ส่วนกลางมากกว่า

...

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ฝ่ายประชาชนมีการรณรงค์ให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงมาตลอดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การรณรงค์จังหวัดปกครองตนเอง มาจนถึงการรณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่นในรอบนี้ ในแต่ละรอบแม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีความก้าวหน้าในด้านความเข้าใจของประชาชนมากขึ้นตามลำดับ และปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นความปรารถนาร่วมของประชาชนชาวไทยแล้วอย่างแทบเป็นเอกฉันท์ ที่ต้องการเห็นการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงเกิดขึ้น

ด้านนายธนาธร ได้เป็นผู้บรรยายถึงหลักการสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 13 ของคณะก้าวหน้า ซึ่งในช่วงแรกได้พูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ว่า คนไทยทุกวันนี้มีเพียง 1% เท่านั้น ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 30,000 บาทต่อเดือน ที่จนที่สุด 1% มีรายได้เฉลี่ย 2,500 บาทต่อเดือน ส่วนคนที่อยู่ตรงกลางมีรายได้เฉลี่ยเพียง 7,500 บาทต่อเดือน เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่คนไทยคนไหนก็ตามที่มีรายได้เพียงมากกว่า 8,000 บาทต่อเดือน เท่ากับรวยกว่าคนครึ่งหนึ่งของประเทศนี้แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องบุญกรรม แต่เป็นคำถามที่ว่าใครได้เป็นผู้ถือและใช้ทรัพยากรของทุกคนอยู่

นี่จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่น โดยคณะก้าวหน้าในครั้งนี้ ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความ สองเรื่อง ประการแรก คือ เรื่องของอำนาจ ให้ในท้องถิ่นทุกที่ของประเทศไทย มีอำนาจบริหารเพียงหนึ่งเดียว คือ อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นเท่านั้น เหมือนทุกประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ไม่มีประเทศไหน มีกลไกผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ถูกแต่งตั้งมาจากส่วนกลางมาเป็นผู้ปกครอง อำนาจเป็นของคนในพื้นที่ ที่เลือกผู้นำของตนเองมาปกครอง มีอำนาจในการจัดการเป็นของท้องถิ่น

ประการที่สอง เรื่องงบประมาณ ที่ผ่านมา ระบบงบประมาณท้องถิ่นเป็นระบบที่ตลกร้าย คือ เอางบไปกองที่ส่วนกลางแต่ให้งานท้องถิ่นทำเต็มไปหมด และถ้าอยากได้งบประมาณก็ต้องเขียนขอไป ทำให้เกิดตัวกลางในการผ่านงบประมาณลงมาถึงพื้นที่ กว่าจะลงมาถึงก็แทบจะไม่เหลือ และยังทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ อีกทั้งขั้นตอนอนุมัติอาจกินเวลานานสุดถึงสิบปี กว่างบประมาณจะได้รับอนุมัติลงมา ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นวิ่งเต้นไม่เก่ง นี่คือ ระบบที่ไม่ทำให้เกิดการพัฒนาหรือการพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้า และงบประมาณอยู่ไกลจากประชาชน ถูกใช้โดยไม่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของประชาชน

การปลดล็อกท้องถิ่นจะให้อำนาจการใช้งบประมาณแก่ท้องถิ่น สามารถทำได้ทุกอย่างตั้งแต่การบริการสาธารณะไปจนถึงการพัฒนา ยกเว้นเรื่องระดับประเทศ เช่น นโยบายต่างประเทศ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การขนส่งระดับประเทศ ระบบภาษีศุลกากร การทหาร เงินตราและการคลัง ที่เป็นอำนาจส่วนกลางดูแล นอกจากนี้ การแบ่งอำนาจปัจจุบันเป็นระบบที่ให้อำนาจแบบท้องถิ่น “ทำอะไรได้บ้าง” แต่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้า จะเปลี่ยนสลับกัน คือ “ห้ามทำอะไรบ้าง” นอกนั้นที่ไม่ได้ห้ามคือท้องถิ่นต้องทำได้ทั้งหมด ส่วนกลางจะเข้ามาเมื่อท้องถิ่นร้องขอเท่านั้น



ทุกวันนี้งบประมาณที่แบ่งให้ท้องถิ่นมีเพียง 30% ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ไป 70% ทั้งที่ภาษีเกิดขึ้นที่ท้องถิ่น จากงบประมาณประเทศ 3 ล้านล้านบาท หักรายจ่ายประจำไปจะเหลืองบประมาณในการพัฒนา 2.4 ล้านล้านบาท ถ้าใช้การแบ่งอย่างนี้ 30% จะมีเพียง 7.4 แสนล้านบาทเท่านั้น ที่จะถูกแบ่งกันในท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่ง

แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น 50-50 แบบที่คณะก้าวหน้าเสนอ ท้องถิ่นจะได้งบประมาณเพิ่มเป็น 1.2 ล้านล้านบาท กระจายไป 7 พันกว่าแห่ง จะทำให้ท้องถิ่นทั่วประเทศได้งบประมาณเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงที่ละ 60 ล้านบาท เฉพาะในระดับเทศบาลและ อบต. อาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามปัจจัยขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และความยากจน

“ที่ท่านจนไม่ใช่เพราะบุญทำกรรมแต่ง แต่เป็นเรื่องอำนาจและการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้เรียกร้องอะไรไกลเกินจริงเลย แต่คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น ไม่มีบ้านเมืองไหนที่เจริญแล้วไม่ทำแบบนี้ เราไม่ต้องการผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมในศตวรรษที่ 21 มาบอกชาวบ้านว่าส่วนกลางต้องการให้พัฒนาอะไรที่นี่” ธนาธรกล่าว

นายธนาธร ยังระบุอีกว่า ประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ สิทธิเสรีภาพ ความเป็นอยู่ปากท้องของประชาชน ล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกัน การปลดล็อกท้องถิ่นจะปลดปล่อยพลังของประเทศ ทำลายโซ่ตรวนที่พันธนาการความก้าวหน้าของประเทศอยู่ โครงสร้างรัฐราชการทำให้คนอีสานยากจน แต่คณะก้าวหน้าเชื่ออย่างสุดหัวจิตหัวใจว่าอนาคตของประเทศอยู่ที่ท้องถิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการเดินสายครั้งนี้ ประกอบกับการลงรายชื่อผ่านระบบออนไลน์ ที่ผ่านมา คณะก้าวหน้า สามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อการปลดล็อกท้องถิ่นได้แล้วกว่า 10,000 รายชื่อ จากเป้าหมาย 50,000 รายชื่อ หลังเปิดการรณรงค์ได้เพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น