• ใกล้หยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ คนทยอยออกเดินทาง แม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อยืนยันบวกกับ ATK ยังยอดรวมสูง 40,000-50,000 รายต่อวัน
  • รัฐบาลไม่ห้ามจัดกิจกรรม แต่ขอความร่วมมือในมาตรการและข้อปฏิบัติ ทั้งก่อนไป ขณะเดินทาง และขากลับ ขอให้รับผิดชอบต่อสังคม แพทย์ชี้ โควิดไม่ได้ติดทางน้ำ
  • คาดอีก 1-2 สัปดาห์ โอมิครอน BA.2 จะแทนที่การระบาดของสายพันธุ์ BA.1 แบบ 100% พร้อมชวนประชาชนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

    นับถอยหลังสู่เทศกาลสงกรานต์ที่วนเวียนมาถึงอีกครั้ง ซึ่งยังคงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่เพียงแต่ประเทศไทย แต่ทั่วโลกก็ยังเผชิญกับไวรัสชนิดนี้ที่ยังคงมีการกลายพันธุ์อยู่ แม้ในปี 2565 นี้คนไทยส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม ซึ่งทางรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็เร่งรณรงค์ให้ประชาชนทุกช่วงวัยที่สามารถฉีดวัคซีนได้ เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดอาการเจ็บป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต อีกทั้งในช่วงสงกรานต์ประชาชนส่วนมากจะออกเดินทางเพื่อกลับไปหาครอบครัวยังภูมิลำเนา รวมถึงเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งการรวมตัวของคนจากต่างที่ก็อาจสร้างความกังวลว่าจะนำพาเชื้อโควิด-19 กลับมาติดผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านอย่างไม่รู้ตัว จึงมีการขอความร่วมมือเข้ารับการฉีดวัคซีนทั้งผู้ที่จะเดินทางและกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง อย่าง ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และเด็กตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไป

อีกทั้งสถานการณ์การระบาดและรายงานผู้ติดเชื้อของประเทศไทยก็ยังมากกว่า 20,000 รายต่อวัน ซึ่งหากรวมกับการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ยอดตรวจ ATK ที่พบเข้าข่าย ก็อยู่ที่ราวๆ 40,000-50,000 รายต่อวัน ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายวันก็ใกล้แตะหลักร้อย ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ก็ยังคงผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้ประชาชนให้ออกมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และในว่าจะเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์ สิ่งที่แพทย์ห่วงกังวลคือตัวเลขการระบาดที่จะมีสูงขึ้นหลังเทศกาลผ่านไปราว 2 สัปดาห์ หลังจากที่ประชาชนเดินทางกลับจากภูมิลำเนาและการท่องเที่ยวแล้ว

...

สงกรานต์คงโซนสีพื้นที่ ย้ำช่วงเวลาดื่มในร้าน

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565 ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ มีมติเกี่ยวกับความพร้อมในช่วงสงกรานต์ 2565 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันปฏิบัติให้ผ่านพ้นเทศกาลอย่างมีความสุขและลดการติดเชื้อในช่วงการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการต่อสู้กับการติดเชื้อโควิด-19 แบ่งตามระยะ คือ ระยะที่ 1 Combatting (12 มี.ค.-ต้น เม.ย.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. กล่าวในการประชุมว่า ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในช่วงเวลานี้ เพื่อทำให้ตัวเลขผู้สูญเสียลดลง แม้ 1 ชีวิตก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น โดยต้องเกิดจากความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วนเพื่อที่จะผ่านไปยังระยะที่ 2 Plateau (เม.ย.-พ.ค.) คือหลังสงกรานต์ ถ้าผู้ติดเชื้อไม่สูงขึ้นมาก ระยะที่ 3 (Declining) ก็จะเกิดขึ้นได้เร็ว ก่อนจะไปสู่ระยะที่ 4 (Post Pandemic)

สำหรับระดับสถานการณ์พื้นที่ หรือโซนสีนั้นยังคงเดิม คือ พื้นที่ควบคุม (พื้นที่สีส้ม) 20 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง (พื้นที่สีเหลือง) 47 จังหวัด พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) 10 จังหวัด และจำเนินการบางพื้นที่ 16 จังหวัด โดยคงมาตรการป้องกันควบคุมโรค ดังนี้

  • จำกัดเวลาในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหารไม่เกิน 23.00 น. สำหรับพื้นที่สีฟ้าและพื้นที่สีเหลือง
  • ร้านอาหารที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ ต้องเป็นร้านที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น รวมถึงต้องมีมาตรการ COVID Free Setting
  • สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้เปิดดำเนินการในรูปแบบร้านอาหารได้ตามมาตรการที่กำหนด โดยขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อมีความพร้อมโดยไม่กำหนดระยะเวลา
  • Work From Home ตามความเหมาะสมและการพิจารณาของหน่วยงาน

เน้น “ริน รด พรม” ยึดมาตรการ สธ. ลดเสี่ยง

ขณะที่ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนยิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้คำตอบถึงการเล่นน้ำสงกรานต์ในปีนี้ว่า ต้องมีการเตรียมคนให้ปลอดภัย คือ รณรงค์การฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมแนะนำให้ประชาชนประเมินตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงก่อนจะไปร่วมกิจกรรม หรือกลับไปพบปะกับครอบครัวยังภูมิลำเนา ขณะเดินทางก็ระมัดระวังป้องกันตัว ในส่วนของเตรียมพื้นที่การจัดกิจกรรมให้ปลอดภัย ภาครัฐได้เตรียมแบบประเมิน รวมถึงมีระบบ Thai Stop COVID 2 Plus ให้เข้าไปประเมินว่าดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting หรือไม่ ทั้งนี้ กิจกรรมขนาดเล็กตามชุมชนหรือหมู่บ้านไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคตำบล (ศปก.ต.) หรือศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอําเภอ (ศปก.อ.) ทางด้านกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนขนาดใหญ่ต้องขออนุญาต เนื่องจากผู้คนมาจากหลายพื้นที่และมีความเสี่ยง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้พิจารณา รวมถึงกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับบริบทแต่ละสถานการณ์ในพื้นที่ รวมถึงควบคุม กำกับ และติดตามด้วย

ในส่วนของการสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว ทานอาหารร่วมกันในบ้าน สามารถทำได้ แต่เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงแนะนำให้จัดในสถานที่โล่ง ถอดหน้ากากให้น้อยที่สุด ลดการสัมผัสใกล้ชิดลงบ้าง และคนที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงขอความร่วมมืองดร่วมกิจกรรม เพราะเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่ไม่มีอาการ จึงอาจจะทำให้ได้รับเชื้อโดยที่ไม่คาดคิด ขณะที่การเล่นน้ำในพื้นที่ที่ไม่มีการกำกับ เช่น หมู่บ้าน ชุมชน ขอความร่วมมือให้เป็นตามประเพณีไทย คือ “ริน รด พรม”

ทางด้านการเล่นน้ำในพื้นที่จัดกิจกรรม คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้ประเมินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ พื้นที่พบผู้ติดเชื้อมาก เป็นเมืองใหญ่ จะแตกต่างกับพื้นที่ที่ไม่ค่อยพบผู้ติดเชื้อ การเล่นน้ำจึงยังเน้นแบบ “ประเพณีไทย” ส่วนที่จะเล่นนอกเหนือจากนี้คือต้องไม่ผิดกฎหมาย น้ำและวัสดุอุปกรณ์ต้องสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน นอกจากนี้ พื้นที่สาธารณะและพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตห้ามเล่นน้ำ พร้อมระบุว่า การสาดน้ำใส่ผู้ที่ไม่ยินยอมนั้นที่จริงแล้วผิดกฎหมาย ซึ่งในสถานการณ์โควิดก็ทำในสิ่งที่กฎหมายมีอยู่แล้ว

“โรคโควิดไม่ได้ติดทางน้ำ ถ้าเราใช้น้ำสะอาด ยกตัวอย่างเช่น น้ำประปาที่มีการใส่คลอรีนตามมาตรฐาน พวกนี้ฆ่าเชื้ออยู่แล้ว คำถามคือเชื้อมาจากไหน เชื้อมาจากคน ถ้าเกิดจัดการอย่างเข้มงวดและมีการควบคุมกำกับก็จะมีความปลอดภัยในการเล่น การควบคุมตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งมักจะมีการย่อหย่อน เพราะฉะนั้นจึงต้องกำหนดเพิ่มเติม แต่คนที่อยู่หน้างานถึงเป็นผู้กำหนด เพราะฉะนั้นเขาอาจจะเลือกวิธีว่า ถ้าจะสาดน้ำหลีกเลี่ยงบริเวณใบหน้า ส่วนหน้ากาก ควรเป็นหน้ากากอนามัยเพราะมีสารเคลือบละอองน้ำ แต่กันน้ำสาดโครมไม่ได้ และบางส่วนอาจจะมีการประยุกต์เฟซชิลด์เข้ามา หรือใช้ปืนฉีดน้ำฉีดตามตัวก็มีความเป็นไปได้

แต่ต้องมีการตกลงและสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือกัน ระหว่างผู้จัดงาน คนร่วมงาน และผู้ควบคุมกำกับ เป็นสงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อสังคม ผมเชื่อว่าเราสามารถมีสงกรานต์ มีการขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ รวมถึงสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยควบคู่ไปกับการป้องกันควบคุมโรคให้อยู่ในระดับที่เรามีทรัพยากรสาธารณสุขเพียงพอ เกิดมีการติดเชื้อก็มีเตียงรองรับ ต้องย้ำว่าการเคลื่อนไหวของคนจำนวนมากและการรวมกลุ่มคนนั้นเป็นความเสี่ยง ยืนยันว่าอย่างไรก็ต้องมีการระบาด แต่ก็ต้องให้อยู่ในระดับที่สาธารณสุขรองรับได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ขอประชาชนร่วมมือ “ห้ามเล่นน้ำในที่สาธารณะ” 

ทางด้าน นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มีผู้จัดงานจัดกิจกรรมขออนุญาตมาแล้วประมาณ 15 ราย ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร มีการระบุว่า หากเป็นการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่มีคนเกิน 1,000 คน ต้องขออนุญาตโดยตรงจากส่วนกลาง โดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายสำนักอนามัย กทม. เป็นผู้ไปกำกับดูแลร่วมกับเทศกิจ ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง ส่วนการจัดงานขนาดเล็กที่ต่ำกว่า 1,000 คน ได้ยื่นขออนุญาตที่สำนักงานเขต ส่วนพื้นที่สาธารณะไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมเนื่องจากควบคุมไม่ได้ ขณะเดียวกัน ไม่ห้ามการจัดกิจกรรมในครอบครัว ยังสามารถเล่นน้ำตามประเพณีได้ แต่ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ซึ่งผู้ป่วยอาจจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์แต่อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยเพียงพอ ภาพรวมของประเทศยังเพียงพอ แต่ก็คาดหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จึงอยากขอความร่วมมือประชาชน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครใช้แนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขที่เน้นการห้ามปาร์ตี้โฟม การห้ามเล่นในที่สาธารณะ ห้ามจัดจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน เป็นต้น

“ในที่สาธารณะเราได้ประสาน บช.น. หากพบเห็นการเล่นน้ำในที่สาธารณะก็ให้ตักเตือน หากยังมีการฝ่าฝืนอีกก็ให้ค่อยๆ คุยกัน จะดำเนินการไปตามกฎหมายที่มีอยู่ ส่วนเรื่องการปิดถนนเล่นน้ำ ปัจจุบันยังไม่มีผู้ขออนุญาต”

ขณะเดียวกันภายหลังเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับมาเข้ามายังกรุงเทพมหานครนั้น แน่นอนว่าต้องมีความเสี่ยงเพราะเจอผู้คนมากมาย บางคนอาจจะติดเชื้อโควิดแต่ไม่มีอาการ เพราะฉะนั้นเมื่อกลับมาควรจะ Work From Home (ทำงานที่บ้าน) รวมถึงต้องสังเกตอาการตัวเอง หากตรวจ ATK พบผลเป็นบวก สามารถติดต่อสายด่วน 1330 เข้ารับการรักษาตามระบบ หรือไปยังสถานพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” เสียส่วนใหญ่ และโชคดีที่เชื้อโอไมครอนแม้จะแพร่ระบาดเร็วแต่ยังรับมือได้ นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมศูนย์พักคอย และโรงพยาบาลสนาม พร้อมรองรับผู้ป่วยด้วย

ทั้งนี้ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 43) ซึ่งถูกเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 และมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา มีการระบุถึงมาตรการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า

ข้อ 3 การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการทั่วราชอาณาจักรเป็นกรณีเฉพาะรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนที่จะเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวหรือเดินทางกลับภูมิลำเนาควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดเพื่อลดอัตราการแพร่โรคและการติดเชื้อรุนแรงต่อบุคคลที่มีภาวะเสี่ยง โดยเฉพาะการเข้าเยี่ยมเยียน กราบไหว้ พบปะผู้สูงอายุ ญาติพี่น้อง หรือกลุ่มเปราะบาง และแนะนำให้ประเมินความเสี่ยงสังเกตอาการของตนเอง หรือใช้ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-COV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (ชุดตรวจ ATK) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง การพบปะ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมรวมกลุ่ม และขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเตรียมความพร้อมโดยเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและบุคคลในครอบครัว

ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณากำหนดสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ที่สามารถดำเนินการได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทยให้เหมาะสมกับสถานการณ์และพื้นที่รับผิดชอบ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) พื้นที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะหรือพื้นที่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ได้ ให้ผู้ประกอบการ ผู้จัดงาน หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดงาน จัดสถานที่และดำเนินกิจกรรมภายใต้มาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน รวมทั้งมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดังนี้

ก. การจัดกิจกรรมในลักษณะของการเล่นน้ำหรือจัดกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี เช่น การสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว การละเล่นตามประเพณี การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ หรือการแสดงดนตรี สามารถกระทำได้
ข. ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเล่นประแป้งและกิจกรรมในลักษณะปาร์ตี้โฟม
ค. ห้ามการจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในบริเวณพื้นที่จัดกิจกรรม
ง. ให้มีจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าออกและให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่หรือพื้นที่จัดกิจกรรม
จ. ให้ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัดตามขนาดของสถานที่หรือพื้นที่จัดกิจกรรม เกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1 คน

(2) ห้ามการเล่นน้ำ เล่นประแป้ง ปาร์ตี้โฟม หรือกิจกรรมใดๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรม

(3) สำหรับการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน สามารถดำเนินการได้ โดยให้ ศปก. ในพื้นที่ที่ตั้งของชุมชนนั้นๆ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาอนุญาต และต้องมีมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่สอดคล้องกับแนวทางและมาตรการที่กำหนดในข้อกำหนดนี้ด้วย

(4) สถานที่หรือการจัดกิจกรรมใดๆ ที่อาจทำให้เกิดมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินมาตรการความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะด้วย

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอดส่อง เฝ้าระวัง และติดตามการดำเนินมาตรการของผู้ประกอบการและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่และการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด หากพบว่าการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ผ่อนคลายให้สามารถดำเนินการได้นี้ มิได้ปฏิบัติตามหรือย่อหย่อนการดำเนินการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่ทางราชการกำหนดซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อน ให้ดำเนินการตักเตือนและให้คำแนะนำเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายต่อไป

เพื่อกำกับและเฝ้าระวังการระบาดของโรค ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานซึ่งได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ภายหลังการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประเมินความเสี่ยงและสังเกตอาการของตนเองในช่วงระยะเวลา 1 สัปดาห์ โดยหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน สามารถพิจารณาตามความเหมาะสมเพื่อดำเนินมาตรการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งหน่วยงานได้


คมนาคมเตรียมพร้อมรับ-ส่ง มั่นใจไม่ตกค้าง

นอกจากนี้ ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ก็มีความพร้อมในมาตรการป้องกันโรคเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารในการเดินทาง สำหรับเครื่องบิน ยังไม่มีการอนุญาตให้รับประทานอาหารในระหว่างการเดินทาง โดยประสานขอความร่วมมืองดให้บริการอาหารทุกเที่ยวบิน ส่วนรถไฟ หากเป็นขบวนปรับอากาศต้องไม่ให้เกิดความหนาแน่น หากเป็นรถร้อน แต่ละตู้จะไม่ให้มีผู้โดยสารเกินร้อยละ 75 คือที่นั่งสามารถนั่งได้ทั้งหมด แต่ตั๋วยืนสำหรับรถไฟชั้นสาม อาจจะต้องงดในเรื่องของการยืน พร้อมย้ำว่ากระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินการตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีที่สั่งการโดยตรง

โดย บขส. เตรียมได้รถไว้ประมาณ 700-800 คัน เพื่อให้บริการ 3,000-4,000 เที่ยวต่อวัน คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีผู้โดยสาร 40,000-50,000 คนต่อวัน ซึ่งจะน้อยกว่าสภาวะปกติมาก สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในปี 2562 เคยมีผู้เดินทางมากถึงวันละ 140,000-150,000 คน ส่วนรถไฟให้บริการ 170 เที่ยวต่อวัน และยังมีขบวนเสริมพร้อมให้บริการได้ทันทีเพื่อไม่ให้เกิดความแออัด ขณะที่เครื่องบิน มีผู้เดินทางในประเทศราว 100,000 คนต่อวัน จะมีการติดตามตรวจสอบโดยตลอดว่าดำเนินการตามมาตรฐานทางสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดยห้องน้ำก็สั่งการให้ทำความสะอาดถี่มากขึ้นตลอดทั้งวัน และขอความร่วมมือผู้โดยสารทุกคนทำตามมาตรการ พร้อมกันนี้ ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 มีจุดให้บริการตรวจ ATK ที่กรมควบคุมโรค ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำการตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา จึงอยากให้ผู้โดยสารทุกคนได้ตรวจก่อน เพราะเมื่อตรวจแล้วจะมีหลักฐานเข้าไปในหมอพร้อม สามารถนำไปแสดงได้ว่ามีความปลอดภัย และขอให้ทุกคนระมัดระวังตนเองอย่าเปิดหน้ากากระหว่างการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยของคนส่วนรวมด้วย

“กระทรวงคมนาคมมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะให้บริการและอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนในการกลับบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำหรับผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล มีจุดให้บริการ รถพร้อมคนพร้อม ในทุกจังหวัด หากมีอาการง่วงนอน หรือไม่พร้อมที่จะขับรถต่อไปได้ สามารถหยุดพักได้ที่จุดบริการ สำหรับการเดินทางโดยระบบสาธารณะ ยืนยันว่าผู้โดยสารทุกคนสามารถกลับบ้านได้โดยระบบการขนส่งของรัฐ”

คาด 1-2 สัปดาห์ เป็นโอมิครอน BA.2 แบบ 100%

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้การระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ถึง 95.9% คาดว่าอีก 1-2 สัปดาห์จะมาแทนที่การระบาดของสายพันธุ์ BA.1 เป็น 100% เนื่องจาก BA.2 แพร่รวดเร็วกว่า

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้ฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว 35-36% แต่เนื่องจากเชื้อโควิดมีการกลายพันธุ์ต่อเนื่อง ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนอาจมีผลต่อแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ศึกษาผลของภูมิคุ้มกันที่มีต่อไวรัสโควิด-19 จริง ด้วยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน ต้องทดสอบภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 นำซีรั่มจากเลือดที่มีภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว 2 สัปดาห์ มาสู้กับไวรัส BA.2 ที่เพาะเลี้ยงไว้ และเจือจางซีรั่มในระดับเท่าตัว เพื่อหาจุดที่ไวรัสถูกทำลาย 50% ด้วยแอนติบอดีในซีรั่ม หรือ PRNT50 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7-8 วันจึงทราบผล

“จากการตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อไวรัสทั้งกรณีได้รับวัคซีน 2 เข็ม และ 3 เข็ม พบว่า วัคซีนทุกสูตรให้ระดับภูมิคุ้มกันที่ต่อสู้กับไวรัสโอมิครอน BA.2 ได้มากกว่า BA.1 ดังนั้น ข้อกังวลว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้มากกว่าจึงไม่น่าเป็นจริง”

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีน 2 เข็ม แม้จะเป็นช่วง 2 สัปดาห์หลังฉีด พบว่าภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ไม่ได้สูงมากนัก หากฉีด 2 เข็มมาแล้วหลายเดือน ภูมิคุ้มกันจะยิ่งน้อยลง แต่เมื่อฉีดกระตุ้นเข็ม 3 พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับสูงมากต่อไวรัสโอมิครอน BA.2 จึงขอแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้น (booster dose) โดยเร็วในคนที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม

ชวนฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันติดเชื้อ

ขณะที่เรื่องของการวัคซีนโควิด-19 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ที่มีต่อสายพันธุ์โอมิครอน ว่า การศึกษาประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 จากการใช้จริงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ระยะที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2565 โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และคณะทำงานวิชาการศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 พบว่า

  • การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่ป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังป้องกันการเสียชีวิตได้มากกว่า 85%
  • การฉีดวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 34-68% ป้องกันการเสียชีวิตสูง 98-99%
  • การฉีดวัคซีน 4 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 80-82% และยังไม่มีผู้ได้รับวัคซีน 4 เข็ม เสียชีวิตจากโควิด-19


ในกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี พบว่า การฉีดวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 43% และการฉีด 4 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 82% สูงกว่ากลุ่มอายุ 18-59 ปี ที่การฉีด 3 เข็มป้องกันการติดเชื้อ 31% และการฉีด 4 เข็มป้องกันการติดเชื้อ 79% ขณะที่การฉีดวัคซีน 3 เข็มแต่ละสูตร มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้ออยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

“จากผลการศึกษาดังกล่าวมีข้อสรุปว่า ช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน สูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยยังมีประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิตและป่วยรุนแรงได้ดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้นต้องเร่งฉีดเข็มกระตุ้น เน้นกลุ่มเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ ร่วมกับมาตรการป้องกันส่วนบุคคลและมาตรการทางสาธารณสุขด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาไปพบครอบครัวหรือเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมาก อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ย้ำให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มนานเกิน 3 เดือน หรือรับวัคซีน 3 เข็มนานเกิน 4 เดือน เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ที่สำคัญคือช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตได้ เป็นการสร้างความปลอดภัยให้แก่ทุกคนในครอบครัว และจะช่วยให้หลังเทศกาลสงกรานต์จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และผู้เสียชีวิต ไม่สูงขึ้นได้

เทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนมักจะเดินทาง ร่วมกิจกรรมกัน และมาจากต่างที่ต่างถิ่น การจะเกิดความปลอดภัยคงต้องเริ่มจากความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม หากเราทุกคนร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มงวด เชื่อว่าจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และผู้อื่น รวมถึงอัตราการติดเชื้อของประเทศจะไม่พุ่งทะยานไปยังคาดการณ์ที่สูงนับแสนรายต่อวัน คงต้องจับจาดูกันว่าหลังผ่านพ้นสงกรานต์ไปแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตของไทย จะยังคงทรงตัวหรือขยับขึ้นสูงตามที่หลายคนกังวลหรือไม่


ผู้เขียน : กิณรีสีงอังกาบ
กราฟิก : Anon Chantanant