เกิดวิวาทะกันระหว่างรัฐมนตรีชายกับรัฐมนตรีหญิง ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เมื่อ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ จากพรรคภูมิใจไทย แสดงความเห็นว่าร้านค้าไม่ให้ถุงพลาสติกให้ผู้ซื้อของ แต่กลับเอามาขายให้ เป็นการเอาเปรียบประชาชน รัฐมนตรีทรัพยากรฯ จะแก้ปัญหาอย่างไร

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จากพรรคชาติไทยพัฒนา กดไมโครโฟนโต้ตอบทันควันว่า ไม่เกี่ยวกับกระทรวงฯ เพราะคุมแค่นโยบาย การขายเป็นเรื่องของร้านค้า อย่าพูดพาดพิง อย่าพูดเอามัน จากนั้นรัฐมนตรีทั้งสองท่านต่างกดไมค์ตอบโต้กัน จนนายกรัฐมนตรีไล่ให้ไปเถียงกันข้างนอก

ถ้ามองโลกในแง่ดี ต้องถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี ที่รัฐมนตรีโต้เถียงกันใน ครม. ไม่ใช่ปล่อยให้ผ่าน ผ่าน ผ่าน เพราะความเกรงใจ เป็นการโต้เถียงกันเรื่องปัญหาพลาสติก ที่รัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ตั้งแต่ปี 2557 เพราะพลาสติกซื้อง่ายขายคล่อง แต่กว่าจะย่อยสลายก็หลายร้อยปี

มองอีกด้านหนึ่ง วิวาทะเป็นเรื่อง ปกติในรัฐบาลผสมหลายพรรค ปัญหาพลาสติกคงไม่ต้องเถียงกันใน ครม. ถ้ารัฐมนตรีเป็นพรรคเดียวกัน แต่เป็นรัฐมนตรีต่างพรรค รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยเคยนัดกัน “บอยคอต” ไม่เข้าประชุม ครม. นัดที่พิจารณาเรื่องรถไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งอาจเป็น “ของแสลง” ต่อพรรคใดพรรคหนึ่ง

พรรคร่วมรัฐบาลอาจฉวยโอกาส ที่เกิดการแตกแยกในพรรค พปชร. พรรคแกนนำรัฐบาล จนรัฐบาลร่อแร่ เพราะมีปัญหาเสียงข้างมากในสภา ไม่มั่นคง ไม่มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นปัญหาที่มีต้นตอมาจากรัฐธรรมนูญที่ “ดีไซน์มา” เพื่อ พปชร.แต่มุ่งสกัดกั้นไม่ให้พรรคใดชนะแลนด์สไลด์ จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ อ้างว่าเป็นเผด็จการสภา

...

ผลการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 จึงได้ ส.ส.แบบเบี้ยหัวแตกเข้าสภาเกือบ 30 พรรค ต้องตั้งรัฐบาลเกือบ 20 พรรค แต่เสียงข้างมากง่อนแง่น เพราะส่วนใหญ่มี ส.ส.แค่คนสองคน มิหนำซ้ำ รัฐธรรมนูญฉบับพิสดารยังแยกนายก รัฐมนตรีออกจากฝ่ายนิติบัญญัติ คือพรรคและสภา จึงกลายเป็นนายกรัฐมนตรีขาลอย

นายกรัฐมนตรีมีอำนาจควบคุมแค่คณะรัฐมนตรี แต่ไม่มีอำนาจบารมีที่จะควบคุมพรรคหรือ ส.ส. นายกรัฐมนตรีถูกแยกออกจากสภา คล้ายกับระบบประธานาธิบดี ที่สามารถบริหารประเทศได้ เพราะประธานาธิบดีมาจากเลือกตั้ง มีอำนาจบริหารเต็มตัว ส.ส.ไม่มีสิทธิ์อภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดี ต่างฝ่ายต่างมาจากเลือกตั้ง.