"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี โชว์แผน การจัดการน้ำ 2 ปี เพิ่มแหล่งน้ำ 2.6 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ประชาชน จาการเพิ่มการลงทุนภาครัฐ ช่วยกระตุ้นซื้อวัสดุและจ้างแรงงานในท้องถิ่นด้วย

วันที่ 2 เม.ย. 65 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานพัฒนาและบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการใช้งบกลางในภาวะที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาเชิงการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่ว่า จะเป็นปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการพิจารณาแผนงานหรือโครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนให้กับประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์ ไม่ซ้ำซ้อน และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2564) รัฐบาลสนับสนุนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น นำมาใช้ในโครงการบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง และป้องกันน้ำท่วม โดยบูรณาการทุกหน่วยงานด้านน้ำในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค รวมถึงการเกษตรครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 26,830 แห่ง เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาล แหล่งน้ำสำรองเพื่อผลิตน้ำประปา ก่อสร้างฝายและสระเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ขุดลอกคลอง และกำจัดวัชพืช เป็นต้น

...

ซึ่งหากโครงการต่างๆ ทั้งหมดแล้วเสร็จจะส่งผลให้เก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้งได้รวม 742 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกัน ยังสามารถนำน้ำบาดาลมาใช้ได้ถึง 91 ล้าน ลบ.ม. และมีน้ำดิบผลิตประปาได้อีก 62 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเกิดประโยชน์โดยตรงกับประชาชนถึง 3.65 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7.5 ล้านไร่

สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ภายใต้งบกลางปี 2563 มีทั้งสิ้น 20,795 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 4,388 แห่ง ภาคกลาง 3,504 แห่ง ภาคตะวันออก 1,213 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9,766 แห่ง และภาคใต้ 1,953 แห่ง ซึ่งทุกแห่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้นเกิดประโยชน์กับประชาชน ขณะเดียวกัน ยังเกิดการจ้างแรงงานถึง 184,000 ราย ด้วย ขณะที่งบกลางปี 2564 มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำรวม 6,035 แห่ง เน้นดำเนินการเพื่อรองรับสถานการณ์ฝนตกน้อย และความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น จากการอพยพกลับภูมิลำเนาเดิมของประชาชนเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยผลดำเนินการล่าสุดแล้วเสร็จ 3,642 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 2,441 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 1,773 แห่ง แล้วเสร็จ 1,047 แห่ง ภาคกลาง 1,154 แห่ง แล้วเสร็จ 753 แห่ง ภาคตะวันออก 256 แห่ง แล้วเสร็จ 46 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,216 แห่ง แล้วเสร็จ 1,409 แห่ง และภาคใต้ 685 แห่ง แล้วเสร็จ 387 แห่ง อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ สทนช.ติดตามความก้าวหน้า และเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการ ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 39 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำบาดาล 44 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 3.5 แสนครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 455,818 ไร่

ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติงบกลางฯ เพื่อพัฒนาโครงการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 รวม 2,525 แห่ง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งได้ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มการลงทุนภาครัฐโดยการช่วยกระตุ้นการซื้อวัสดุและจ้างแรงงานคนในท้องถิ่นอีกด้วย

“สทนช.ได้รับมอบหมายให้บูรณาการหน่วยงานจัดทำแผนงานหรือโครงการด้านทรัพยากรน้ำต่างๆ ใช้งบกลางในการดำเนินงานด้านทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินแผนงานหรือโครงการแล้วเสร็จตามเป้าหมาย โดยโครงการสำคัญๆ ที่ใช้งบกลางมาเร่งรัดดำเนินการให้โครงการต่างๆ เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น โครงการสูบกลับคลองสะพาน-อ่างประแสร์ จ.ระยอง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพน้ำห้วยแม่ประจันต์ จ.เพชรบุรี โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและระบายน้ำคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 3 และคลองระบายน้ำ D9 พร้อมอาคารประกอบที่ช่วยป้องกันผลกระทบอุทกภัย จ.เพชรบุรี แบบจำลองกายภาพลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ โครงการจัดหาเครื่องดูดตะกอนดินและเครื่องแยกตะกอนดินเลน เป็นต้น".