บรรยากาศวันแรกของการเปิดรับสมัครผู้ว่าฯ กทม.–ส.ก. คึกคักขึ้นมาทันที หลังชาวเมืองกรุงต้องรอมา 9 ปี จึงได้เลือกผู้ว่าฯของตัวเองซะที นับแต่ “ชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ เมื่อ 3 มี.ค.2556

ไม่ใช่ต้องรอประเคนมาจากอำนาจพิเศษ แบบที่ส่ง “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง แช่น้ำอยู่ในอำนาจมานานกว่า 5 ปี

ผลจับสลากเรียงตามลำดับหมายเลขผู้สมัครฯ ดังนี้ 1.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 2.พ.ท.หญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล 3.นายสกลธี ภัททิยกุล 4.นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 5.นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ

6.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 7.น.ส.รสนา โตสิตระกูล 8.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 9.น.ส.วัชรี วรรณศรี 10.นายศุภชัย ตันติคมน์ 11.น.ต.ศิธา ทิวารี 12.นายประยูร ครองยศ 13.นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์ 14.นายธเนตร วงษา 15.นายอุเทน ชาติภิญโญ

นี่คือลอตแรกของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ส่วนคนที่มาสมัครในภายหลังก็จะได้หมายเลขเรียงตามลำดับถัดไป

นับว่าวันแรกผู้สมัครระดับ “บิ๊กเนม-ตัวเต็ง” มากันพร้อมหน้า

แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นที่จับตามองของคนทั้งประเทศ แม้จะเป็นแค่สนามเมืองกรุง

เพราะมันมีผลต่อสนามเลือกตั้งใหญ่ในอนาคต

และคราวนี้พี่น้องคนกรุงมีตัวเลือกที่มากกว่า 2 หรือ 3 มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

แบ่งเป็น กลุ่มผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง ได้แก่ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” จากก้าวหน้า “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” จากประชาธิปัตย์ และ “ศิธา ทิวารี” จากไทยสร้างไทย

และ กลุ่มผู้สมัครในนามอิสระ ขอยกมาเฉพาะกลุ่มบิ๊กเนม ที่ถูกคาดหมายเป็นตัวเต็ง อาทิ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” “สกลธี ภัททิยกุล” “อัศวิน ขวัญเมือง” “รสนา โตสิตระกูล”

...

ถ้าแบ่งตามฐานคะแนนนิยม ก็พอจะแยกออกได้เป็นจากขั้วรัฐบาล ได้แก่ “สุชัชวีร์-อัศวิน-สกลธี”

กลุ่มนี้ยังต้องแยกย่อยฐานเสียงเดิม ที่บางส่วนก็ทับซ้อนกันอยู่ อีกส่วนก็เป็นฐานจัดตั้งเดิม อย่าง “สุชัชวีร์” มีฐานชัดเจนจากประชาธิปัตย์ ที่มีกลุ่มแฟนคลับเหนียวแน่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บวกกับความนิยมส่วนตัวที่พอจะดึงจากกลุ่มคนใหม่ๆ บางส่วนมาได้

ส่วน “อัศวิน” ผู้ว่าฯหน้าเก่า มีฐานจัดตั้งมานานตั้งแต่ยังอยู่ในตำแหน่ง แถมยังรอบจัดทั้งเกมบนดิน-ใต้ดิน แทงทะลุทุกตารางนิ้วของพื้นที่

ขณะที่ “จั้ม–สกลธี” ได้บารมีพ่อ เครือข่าย กปปส.เดิม รวมถึงลมใต้ปีกของ 3 ป. คอยพยุง แต่ก็ยังทับซ้อนกับเสียงของ พล.ต.อ.อัศวิน กันอย่างแยกไม่ออก

สำหรับขั้วฝ่ายค้าน แน่นอนว่า “ชัชชาติ” จะได้อานิสงส์จากคะแนนเพื่อไทยที่เป็นกลุ่มก้อน บวกกับความนิยมส่วนตัวในฐานคนกลางๆ

แต่ฐานบางส่วนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะไปทับซ้อนกับ “วิโรจน์” ที่น่าจะได้เสียงจากกลุ่ม First Vote คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ช่วงวัย 18–30 ปีเป็นส่วนใหญ่

ด้าน “ผู้พันปุ่น ศิธา” คงมาจากฐานเสียงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นส่วนใหญ่

นับจากนี้เราคงได้เห็นลีลาหาเสียงจากบรรดาผู้สมัครที่ต้องงัดทุกกลเม็ดเด็ดพรายมาดึงคะแนน

เหลืออีกแค่ 51 วัน เราก็จะได้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

ที่จะชี้ไปถึงอนาคตการเมืองในวันข้างหน้า.

เพลิงสุริยะ