ทีมผู้แทนพิเศษรัฐบาล มอบ ศอ.บต.-กรมอุทยานฯ ศึกษาข้อเสนอประชาชน ถอด “นกกรงหัวจุก” ออกจากบัญชีสัตว์สงวน ดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ส่งเสริมอัตลักษณ์จังหวัดชายแดนใต้ ชาวบ้านเพาะพันธุ์เองจำนวนมากได้แล้ว
วันที่ 25 มี.ค. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า วานนี้ (24 มีนาคม 2565) พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดตามความคืบหน้างานด้านความมั่นคง การต่างประเทศ การขับเคลื่อนศูนย์พัฒนาทักษะทางภาษาเพื่อการสื่อสารในพื้นที่ และการแก้ปัญหาการทำประมงและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องการให้ปลด “นกกรงหัวจุก” ออกจากบัญชีสัตว์สงวนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื่องจากปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงจำนวนมาก อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาลด้วย ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอเรื่องให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชน และศึกษาสถานการณ์จำนวนนกกรงหัวจุกเพื่อพิจารณาการถอดถอนออกจากบัญชีสัตว์สงวน ซึ่งกรณีคล้ายๆ กัน เช่น นกเขาชวา ที่ได้ถูกถอดออกจากบัญชีสัตว์สงวน เมื่อพบว่ามีจำนวนมากในธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงในกรงมีศักยภาพมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้นกเขาชวากลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้อีกชนิดหนึ่ง
ในอดีตมีความกังวลถึงการสูญพันธุ์ของนกกรงหัวจุก จึงได้กำหนดให้เป็นสัตว์สงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ตั้งแต่ปี 2503 เมื่อครั้งเปิดให้มีการแจ้งการครอบครองปี 2546 มีผู้มาแจ้งจำนวนกว่า 9 หมื่นตัว ปัจจุบันนี้นกรงหัวจุกที่ประชาชนเลี้ยงและมีการขยายพันธุ์เองมีจำนวนมาก และเมื่อรวมทั่วประเทศแล้วมีมากกว่าหลายแสนตัว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สร้างรายได้ทั้งคนเลี้ยงและกลุ่มชุมชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น กรง อาหารสัตว์ ถ้วยเซรามิกใส่น้ำ นอกจากนี้การเลี้ยงนกกรงหัวจุกยังเป็นทั้งวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทั้งเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินหรือส่งเข้าประกวด เป็นที่นิยมของคนทุกเพศทุกวัย และเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกลุ่มคน ประกอบกับเยาวชนบางกลุ่มในพื้นที่ยังมีมุมมองว่าการเลี้ยงนกกรงหัวจุกเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ห่างไกลยาเสพติด เพราะคนเลี้ยงต้องใส่ใจดูแล มีเป้าหมายในการฝึกนกร้องเพื่อไปแข่ง ทำให้มีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งอบายมุข
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มว่า พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลได้ขับเคลื่อนการทำงานตามข้อสั่งการและนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการให้การแก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม เชื่อมการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่และความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง คณะกรรมการชุดนี้เป็นอีกกลไกหนึ่งเพื่อการติดตาม ประสาน ขับเคลื่อน ให้การดำเนินงานของภาครัฐนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสันติภาพอย่างยั่งยืน.
...