รัฐบาลแนะ กลับบ้านช่วงสงกรานต์ ตรวจ ATK ก่อนเดินทาง จัดงานได้แต่ห้ามเล่นสาดน้ำ ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม หลังเทศกาลให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน ย้ำ ลดป่วย ลดตาย ต้องรีบฉีดวัคซีน ดันใช้กลไก อสม. ชักชวน

วันที่ 19 มีนาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในไทยแม้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ยังน้อยกว่าหลายประเทศในอาเซียนและของโลก ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังเสนอแนะให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกลไกสำคัญในระดับพื้นที่เชิญชวนบุคคลใกล้ชิด คนในชุมชน รวมทั้งกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากกว่าร้อยละ 70 เพื่อลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตหากติดเชื้อ รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่รองรับเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทยที่กำลังจะมาถึงในเดือนเมษายนนี้

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้โดยเฉพาะการเตรียมตัวก่อนร่วมงานว่าประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เข้าร่วมงานสงกรานต์ และกลุ่ม 608 ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด มีการประเมินความเสี่ยงของตนเอง ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงาน หรือให้พิจารณาตรวจ ATK ก่อนเดินทาง/ร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง ขณะเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ ต้องเข้มงวดการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ และงดรับประทานอาหาร กรณีผู้จัดงานและกิจการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์ให้ลงทะเบียนบนระบบ TSC2+ และประเมินตนเองตามประเภทมาตรการ COVID Free Setting ได้แก่ การจัดกิจกรรมพิเศษ (แสดงคอนเสิร์ต/ดนตรี งานอีเวนต์ งานเทศกาล มหกรรม) การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน ศาสนสถาน ร้านอาหาร ขนส่งมวลชนสาธารณะ ฯลฯ ทั้งนี้การขออนุญาตจัดงานให้เป็นไปตามเขตพื้นที่สถานการณ์ หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครกำหนด

...

ระหว่างช่วงงานสงกรานต์กรณีพื้นที่จัดงานสงกรานต์ที่มีการจัดเตรียมสถานที่และควบคุมกำกับนั้น อนุญาตให้เล่นน้ำ และจัดกิจกรรมตามประเพณี (เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี) โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน พื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ฯลฯ ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม

มาตรการหลังกลับจากสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน หากพบว่ามีอาการสงสัยติดเชื้อให้ทำการตรวจ ATK และขอให้หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมากโดยไม่จำเป็น พิจารณามาตรการ WFH ให้เป็นไปตามความเหมาะสม

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 และกลุ่มเด็ก (5 - 11 ปี) ที่พบว่ามีการเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นน้อยอยู่ จึงขอความร่วมมือผู้ที่ยังไม่เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นรีบเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเร็วด้วย เพราะจะ “ลดป่วย ลดตายได้ ต้องมารับวัคซีน” พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ และการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ถูกต้องให้กับประชาชนเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย (Living with COVID-19)” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ล่าสุดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในไทยวันนี้ (19 มีนาคม 2565) โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 25,804 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 25,778 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 26 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 1,105,538 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ขณะที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 18,801 ราย รวมหายป่วยสะสม 898,798 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) โดยมีผู้ป่วยกำลังรักษา 237,519 ราย และเสียชีวิต 87 ราย โดยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 - 17 มี.ค. 2565 รวมทั้งสิ้น 126,937,886 โดส (ซึ่งรวมยอดสะสมการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่กลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. - 17 มี.ค. 2565 จำนวน 1,520,229 โดส) จำแนกเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 54,725,564 โดส วัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 50,055,180 โดส วัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 20,232,148 โดส และวัคซีนเข็มที่ 4 จำนวน 1,924,994 โดส