“อรุณี” แนะวิธีจัดการปุ๋ยแพง ตรวจสอบราคาและคุณภาพ อย่าคิดแต่จ่ายชดเชย ลั่น ถ้าทำไม่ได้ก็ยุบสภา พร้อมนำเสนอนโยบายช่วยเกษตรกร
วันที่ 18 มี.ค. 2565 น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องราคาปุ๋ยเคมีแพงอย่างต่อเนื่อง ว่า กรณีนี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับเกษตรกรไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรในระบบ 9.2 ล้านราย มีรายรับที่ไม่สอดรับกับค่าครองชีพที่ขยับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 สะท้อนได้จากหนี้สินเกษตรกรในปี 2564 เฉลี่ยรายละ 262,317 บาท เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 16.54
และยิ่งเลวร้ายหนักเมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพราะประเทศไทยมีการนำเข้าอาหารสัตว์และปุ๋ยเคมีจากจีนและรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของการนำเข้าทั้งหมด ขณะที่ทุกวันนี้เกษตรกรไทยมีต้นทุนปุ๋ยเคมีคิดเป็นร้อยละ 20 ของต้นทุนการผลิต ดังนั้น การที่ราคาปุ๋ยและอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นด้วย แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แก้ปัญหาด้วยการจัดสรรวงเงินชดเชยราคาปุ๋ยซึ่งมาตรการได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 อันเป็นการบรรเทาปัญหาเท่านั้น แต่ไม่เคยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดให้กับพี่น้องเกษตรกร
ทั้งนี้ ข้อร้องเรียนที่พรรคเพื่อไทยได้รับจากพี่น้องเกษตรกรที่ผ่านมาพบว่า เมื่อรัฐบาลประกาศควบคุมราคาปุ๋ย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ถ้ารัฐไม่ชดเชยราคากลุ่มธุรกิจปุ๋ยจะรวมตัวกันขอขยับราคา เพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมปุ๋ยในประเทศไทยเป็นลักษณะแข่งขันกึ่งผูกขาด มีผู้ประกอบการรายใหญ่ 13 ราย มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 70% ของปุ๋ยในประเทศ จึงมีอำนาจในการกำหนดราคา เมื่อนับรวมยี่ปั๊ว ซาปั๊ว อีกหลายทอด ราคาปุ๋ยจึงถูกบวกเพิ่มขึ้น ราคาขายปลีกจึงแพงกว่าราคาหน้าโรงงาน คนที่รับกรรมคือเกษตรกร เพราะเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้ปุ๋ยในการเพิ่มผลผลิต แม้ปุ๋ยจะแพงก็ต้องซื้อ หากลดการใส่ปุ๋ยผลผลิตก็ลดลง ส่งผลให้รายได้ต่ำลงด้วย ทุกวันนี้รัฐบาลแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก การควบคุมราคาปุ๋ยและการจ่ายเงินชดเชยเหล่านี้เป็นเพียงมาตรการบรรเทาระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการ จึงอยากเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้
...
1. เข้าไปตรวจสอบราคาขายปลีกอย่างจริงจัง ตรวจเช็กราคาหน้าโรงงาน ค่าการขนส่ง มีช่องว่างที่จะทำให้เกิดการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ ก่อนปุ๋ยถึงมือเกษตรกร
2. ตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยอย่างอย่างเข้มงวด ควบคู่กับมาตรการควบคุมราคา เพราะเมื่อต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าราคาสูง การคงอัตรากำไรของเอกชน คือการลดต้นทุนใช่หรือไม่ ถ้าเพิ่มราคาไม่ได้และรัฐบาลยังไม่จ่ายชดเชย การลดคุณภาพสินค้าคือวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เอกชนบางรายเลือกใช้เพื่อให้ได้กำไร รัฐบาลจึงไม่ควรมองข้ามการตรวจสอบคุณภาพปุ๋ย
3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสต๊อกสินค้า เช็กการนำเข้าวัตถุดิบ ป้องกันมาตรการการกักตุนและสินค้าขาดตลาด
“7 ปีที่สิ้นหวัง สิ่งที่พี่น้องเกษตรกรอยากเห็นคืออนาคตที่ดีกว่า ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำไม่ได้ แนะนำให้ยุบสภาก่อนเปิดอภิปรายในเดือน พ.ค.นี้ เพราะพรรคเพื่อไทยพร้อมนำเสนอนโยบายดีๆ เพื่อเป็นความหวังให้พี่น้องเกษตรกรไทย”.