- สถานการณ์โควิดตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เราพบเจอกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ ที่รวมกับยอดตรวจ ATK ก็ทะลุวันละ 3-5 หมื่นรายต่อวัน
- ข้อมูลนี้สอดคล้องกับยอดการโทรเข้าหาสายด่วน สปสช. 1330 ที่บางวันมียอดสูงสุดถึง 70,000 สาย โดยยอดจำนวนดังกล่าว ทาง กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยว่า บางส่วนเป็นการโทรเข้ามาซ้ำด้วย
- แน่นอนว่าตอนนี้ สายพันธุ์โอมิครอน ระบาดไปทั่วประเทศแล้ว และยังเป็นสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 โดยสายพันธุ์ BA.2 ก็กำลังคืบคลานจะครองทั้งประเทศตามหลัง BA.1 เพราะมีประสิทธิภาพเรื่องการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว และไวกว่าเดิม จนทำให้พบการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นตามมา
ทางกระทรวงสาธารณสุข ทราบดีในเรื่องของการแพร่ระบาดอันรวดเร็วของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนนี้ และพยายามทุกวิธีที่จะทำให้ยอดการติดเชื้อลดลง เพื่อรักษาและคงสภาพอัตราผู้ป่วยอาการหนักและผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจให้น้อยที่สุด เพราะปัจจุบันมีอัตราผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
...
การระบาดของโควิด-19 จะเห็นได้ว่า ประเทศในเอเชีย มีการระบาดหนักอีกครั้ง หลังจากไประบาดในพื้นที่โซนยุโรปและอเมริกามาแล้ว จนปัจจุบันประเทศเหล่านั้น เริ่มประกาศให้โควิด กลายเป็นโรคประจำถิ่นบ้างแล้ว เพราะการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง และอัตราการเสียชีวิตที่น้อยลง ส่วนประเทศไทยตอนนี้อยู่ในสถานะปรับตัวเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
โดยมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบ ปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ มีการแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกัน คือ
- ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้น เม.ย. 65) เรียกว่า Combatting ต้องออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง จะมีมาตรการต่างๆ ออกไป การดำเนินการให้กักตัวลดลง
- ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค. 65) เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ
- ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย. 65) เรียกว่า Declining การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000-2,000 คน
- และอีกบวก 1 หรือระยะ 4 ตั้งแต่ 1 ก.ค. 65 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่นเดือนกรกฎาคม 2565 นี้
ปัจจัยเข้าสู่โรคประจำถิ่นเพราะเชื้ออ่อนลง คนมีภูมิมากขึ้น
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ ว่า การเข้าสู่โรคประจำถิ่น ได้ดูย้อนกลับไปในการระบาด ทั้ง 4 ระลอก พบว่าเกณฑ์การประเมินของไทยอยู่ในระดับที่ดีมากในการรับมือกับโรค แต่ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุง เช่น เขตเมืองขนาดใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานคร เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องระบบสาธารณสุข โดยต้องปรับให้มีระบบปฐมภูมิเพิ่มขึ้น รวมถึงรัฐบาลต้องมีการลงทุนทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ และวัคซีน เพื่อสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน เพราะหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเหมือนระลอกแรกจะทำให้การซื้อจากภายนอกทำไม่ได้
ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะเข้า Endemic (โรคประจำถิ่น) มี 3 อย่างด้วยกัน คือ
1. ตัวเชื้อ โดยขณะนี้ทั่วโลกตัวเชื้อมีสภาพอ่อนลงแล้ว
2. เรื่องระบบภูมิคุ้มกัน โดยของไทยต้องการให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เพราะลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้มากถึง 50%
3. ระบบสาธารณสุขรองรับ ซึ่งปัจจุบันไทยยังมีความพร้อม ซึ่งดูได้จากอัตราการครองเตียง ที่ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ใช้เตียงไปไม่เกิน 30%
“ตอนนี้ถือว่าหนัก ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมาก ถ้าเราดูคาดการณ์ผู้ติดเชื้อ ต้องระวังช่วงสงกรานต์ มันจะกระดกได้อีก แต่หลังจากนั้นกราฟมันจะเซลง จนถึงกรกฎาคม เหตุที่ลงเพราะคนติดเชื้อจำนวนมาก คนได้วัคซีนจำนวนมากแล้ว” นพ.รุ่งเรืองกล่าว
ยิ่งฉีดวัคซีนมากจะทำให้การเข้าสู่โรคประจำถิ่นราบรื่น
นพ.รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า คนติดเชื้อปัจจุบันแทบไม่มีอาการและอาการน้อยมาก และหากติดเชื้อแพทย์ยังสั่งยาและติดตามอาการทางโทรศัพท์ได้ โดยส่วนใหญ่ 99.9% เรียกได้ว่าไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ยังตั้งเป้าไปที่ 70% โดยจะเร่งสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเข้ามารับวัคซีน โดยยอมรับว่ายังมีกลุ่มที่ไม่ยอมรับวัคซีน ที่เชื่อว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงการใช้แนวทางเชิงรุก ตามชุมชน หมู่บ้าน และกำหนดเป็นนโยบายโดยเฉพาะในกลุ่ม 608 คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ที่จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ขึ้นไป
“ข้อมูลจริงที่หมออยู่กับคนไข้ คนกลุ่ม 608 เขากลัวมาก คนไม่ฉีดอย่างไรก็ไม่ฉีด เพราะมีเรื่องความเชื่อ ตรงนี้มันไม่เป็นความจริงเพราะวัคซีนมีความปลอดภัย แต่แน่นอนว่าฉีดไปแล้วมีปวดแขน มีไข้ มีอะไรบ้าง มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าถามว่าคุ้มไหม ประเมินแล้วคุ้มค่ามาก จะเห็นข้อมูลได้ว่า คนแก่กับคนมีโรคประจำตัว ถ้าฉีดวัคซีน มีโอกาสตายลดลง 41 เท่า ยิ่งฉีดได้มากเท่าไร การเข้าสู่โรคประจำถิ่นจะยิ่ง Smooth มันก็จะดีมากขึ้น” นพ.รุ่งเรือง กล่าว
นึกภาพง่ายที่สุดของโรคประจำถิ่น คือ เหมือนไข้หวัดใหญ่
การเข้าสู่โรคประจำถิ่น หากให้นึกภาพง่ายที่สุด นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า จะเป็นเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ ที่กักตัวเอง มารับยา และดูแลตัวเองที่บ้าน จนอาการปกติแล้วค่อยกลับมาทำงาน เพียงแต่ว่าตอนอยู่ที่บ้านต้องระวังตนเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยหากต้องการจะเข้าใกล้ใคร แต่หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการอ่อนเพลีย ไอ แย่ลง ก็ให้เดินทางมาโรงพยาบาล โดยหลักๆ ขั้นตอนเป็นเช่นนี้ และระบบการรักษาจะเป็นแบบนี้ตามไปด้วย แต่จะไม่มีการกักตัว แยกตัวแล้ว และยอมรับว่าการเข้าสู่โรคประจำถิ่นในเดือนกรกฎาคม ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ แต่จะดูที่ตัวเลขอาการหนักและเสียชีวิตเป็นหลัก ไม่ใช่การดูจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว หากไทยเร่งฉีดวัคซีนได้ การเข้าสู่โรคประจำถิ่น จะเป็นไปแบบราบเรียบมากขึ้น แม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็ไม่เป็นไร แต่จะมีคนป่วยหนัก คนเสียชีวิตลดลงไปจำนวนมากๆ
“มันจะเป็นแบบ Self-isolation หรือ Self-quarantine แยกตัวเอง ป้องกันคนอื่น หมอถึงเน้นว่า ความสำคัญคือความเข้าใจของประชาชนและการรับรู้ เพราะตอนนั้นมันเป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อตัวเรา ต่อสังคม และต่อคนอื่น อย่างญี่ปุ่นหากเป็นหวัดจะใส่หน้ากาก แต่บ้านเราวัฒนธรรมคนใส่หน้ากากคือคนป่วย คนไม่ดี” นพ.รุ่งเรือง กล่าว
หน้ากากอนามัยยังจำเป็น ส่วนการล็อกดาวน์ไม่มีแล้ว
แม้ว่าจะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว นพ.รุ่งเรือง แนะนำว่าพฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยยังเป็นเรื่องที่ดีอยู่ เพราะยังสามารถป้องกันโรคอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะสารพัดโรคทางเดินหายใจ รวมถึงการล้างมือบ่อยๆ ยังช่วยลดเรื่องโรคทางเดินอาหาร ท้องเสีย ได้อีกด้วย ดังนั้นเมื่อก้าวเข้าสู่ Post Pandemic แล้ว การใส่หน้ากากอนามัยอยู่ถือเป็นเรื่องที่ดีกว่าอย่างแน่นอน
“ยกตัวอย่างต่อไปในสวนสาธารณะ ที่มันอากาศเปิดโล่งแล้วไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกัน อาจจะเอาหน้ากากห้อยคอไว้ ถ้าจะอยู่ใกล้ใครแล้วค่อยใส่ โดยจะเป็นไปในลักษณะนี้และจะค่อยๆ ลดลง แต่ที่แน่ๆ คือคนป่วยต้องดูแลตัวเอง หากจะออกมาข้างนอกต้องใส่หน้ากากอนามัย แต่ตามปกติจะมีการแนะนำให้อยู่บ้านจนหายแล้วค่อยให้ออกมา แต่เรื่องล็อกดาวน์มันไม่น่าจะมีแล้วนะครับ เพราะต้องคำนึงถึงมิติอื่นๆ อีก” นพ.รุ่งเรือง กล่าว
ชี้สิ้นสุดการระบาดใหญ่ แต่การระบาดยังมี
คนยังกังวลติดเชื้อยังมาก จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้จริงหรือไม่ นพ.รุ่งเรือง อธิบายในเรื่องนี้ว่า มองไปที่มีการติดเชื้อในทวีปยุโรป และอเมริกา ที่มีการติดเชื้อจำนวนมากไปก่อนหน้านี้ ล่าสุดประเทศเหล่านั้น เดินหน้าประกาศเข้าสู่โรคประจำถิ่น และมีการประกาศยุติมาตรการต่างๆ แล้ว แต่ที่ ณ วันนี้ ที่ไทยยังคงมาตรการ เพื่อชะลอการติดเชื้อ เพราะหากมีการติดเชื้อมาก ก็จะมีโอกาสเจอคนป่วยหนัก เสียชีวิตมากตามไปด้วย แน่นอนว่ามันจะมีการติดเชื้อไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ทางสาธารณสุขก็ไม่อยากให้มันพุ่งขึ้น วันหนึ่งเป็นแสนราย
“ต้องเรียนว่า เราเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่นแน่นอน และมันเป็นธรรมชาติของโรคด้วย แม้กระทั่ง WHO จะต้องประกาศว่า Close ending pandemic หรือสิ้นสุดการระบาดใหญ่แล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีการระบาด หมายความว่าสิ้นสุดการระบาดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจจะมีการระบาดย่อยในพื้นที่เกิดขึ้น ก็ว่ากันไป” นพ.รุ่งเรือง กล่าว
ต่อไปไวรัสจะมาทุกช่วงหน้าฝนกับหนาว
เมื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่นแล้ว โควิดจะมาตามธรรมชาติของไวรัส คือ ฤดูฝนกับฤดูหนาว หากใช้คำว่าโรคติดต่อตามฤดูกาล จะทำให้เข้าใจง่ายมากขึ้น โดยปกติจะกลับมา เดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม พอสิงหาคม และกันยายน เชื้อจะเริ่มลดลง และจะกลับมาที่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม อีกระลอกหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ทุกอย่าง
“ที่ผ่านมาเราเตือนประชาชนไว้มาก จะบอกว่าไม่ให้กลัวก็เป็นไปไม่ได้ เพราะใครก็กลัว เพราะหลายคนตอนนี้ก็ติดเชื้อกันเยอะไปหมด แต่พอผ่านไป 2-3 วันมันหาย มันเป็นปกติ จึงต้องออกผลวิจัยออกมา เพื่อให้สังคมค่อยๆ น้อมรับ ถามว่าต้องป้องกันตนเองไหม ยังป้องกัน ถามว่าจะต้องกลัวถึงขนาดนั้นไหม ไม่ เพราะมันไม่เหมือนเดิมแล้ว โควิดวันนี้กับโควิดเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว มันคนละโควิดกันแล้ว” นพ.รุ่งเรือง กล่าว
การฉีดวัคซีนจะไม่ใช่การฉีดให้ทุกคนแล้ว
ต่อไปการฉีดวัคซีนก็จะเป็นวัคซีนประจำปี โดยจะพิจารณาที่กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มอื่นๆ เป็นกรณีไป เช่น กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสูง ซึ่งเป็นเรื่องทางวิชาการที่จะมาดูข้อมูลต่อไป ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดจะต้องจ่ายเงินเองเหมือนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ นพ.รุ่งเรือง เชื่อว่าจะเป็นรูปแบบสมัครใจเพราะวัคซีนมีมากและยังสามารถผลิตได้เอง จึงไม่ถึงขั้นเก็บเงิน ยกเว้นวัคซีนทางเลือก แต่คงจะไม่ใช่การฉีดกันแบบทุกคนแบบปัจจุบันแล้ว เพราะเมื่อเป็นโรคประจำถิ่นมันจะคลายตัว แต่ยังยืนยันว่ายังมีการเก็บสายพันธุ์ต่างๆ จากทั่วโลกมาทำวัคซีน เพื่อฉีดเข็มกระตุ้นต่อหากมีการเกิดการกลายพันธุ์
มีการกลายพันธุ์อีกแน่ แต่จะไม่รุนแรง
มีแนวโน้มจะเกิดการกลายพันธุ์อีกหรือไม่ นพ.รุ่งเรืองระบุว่า มีแน่นอน แต่เมื่อมีการระบาดมากๆ มันจะกลายพันธุ์ไปในทิศทางที่ไม่รุนแรงแต่แพร่เชื้อได้ง่าย เหมือนไข้หวัด เพราะจริงๆ โคโรนาก็คือไข้หวัด แต่เชื้อที่มีความรุนแรงยังต้องเฝ้าระวังอยู่ ที่ห้องทดลองของกรมวิทยาศาสตร์ทำอยู่ หากเจอว่ารุนแรงก็ต้องเข้าควบคุม เพื่อควบคุมบริเวณนั้น ซึ่งมาตรการเหมือนตอนโควิดระยะแรก แต่การเฝ้าระวังจะทำได้ดีกว่า เพราะพื้นฐานของประชาชนมีภูมิคุ้มกัน ถึงเป็นเชื้อที่หนัก พอมาแพร่เชื้อความรุนแรงจะไม่เท่าเดิมแล้ว แต่ยังต้องมีระบบเฝ้าระวังต่อเนื่อง ส่วนการสอบสวนโรค จะดูเป็นกลุ่มคลัสเตอร์แทน
แต่ก่อนที่จะไปถึงโรคประจำถิ่น ช่วงก่อนสงกรานต์นี้ การพาผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง ไปฉีดวัคซีนยังเป็นเรื่องที่ดีที่สุด รวมถึงคนที่จะเดินทางกลับบ้านการฉีดเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 ไว้ ก็จะช่วยป้องกันคนที่ตนเองรัก ครอบครัวได้อีกทาง การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง ไม่ทานข้าวร่วมกัน ก็ยังเป็นมาตรการที่ไม่ควรละเลยในเทศกาลสำคัญที่จะถึงนี้เช่นเดียวกัน เพราะฉากทัศน์ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขมีการคาดการณ์กันว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งถึงวันละ 4-5 หมื่นราย/วัน หลังสัปดาห์แรกของการผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ยังถือเป็นตัวเลขที่น่ากลัวสำหรับประเทศไทย
ผู้เขียน : Supattra.l
กราฟิก : Chonticha Pinijrob