นายกรัฐมนตรี พอใจมาตรการยอดใช้จ่ายของรัฐรวม 3 โครงการกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท เผย ผลจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ผลประกอบการของบริษัทไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2565
วันที่ 12 มีนาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจภาพรวมมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ โดยประชาชนตอบรับโครงการใช้จ่ายประจำวันอย่างต่อเนื่อง โดยความคืบหน้า มาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐของปี 2565 จำนวน 3 โครงการ ที่เปิดให้ใช้จ่ายไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ประกอบด้วย โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 ที่รัฐบาลเพิ่มวงเงินสนับสนุนในการช่วยลดภาระการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของประชาชน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
โดยความคืบหน้าล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565 มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 40.81 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวมทั้งหมด 58,552.88 ล้านบาท แบ่งเป็น
1) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 (ประชาชนกลุ่มเดิมฯ) จำนวน 25.46 ล้านราย ซึ่งมียอดใช้จ่าย 51,992.4 ล้านบาท และมีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 (ประชาชนกลุ่มใหม่ฯ) จำนวน 7.85 แสนราย ซึ่งมียอดใช้จ่าย 1,280.6 ล้านบาท
2) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 13.32 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 4,858.98 ล้านบาท
3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 1.24 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 420.90 ล้านบาท
...
นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้เปิดเผยถึงการจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ผลประกอบการของบริษัทไทย มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2565 จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการเริ่มเปิดประเทศ อย่างไรก็ดี บริษัทไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตส่วนใหญ่มีการบริหารจัดการกระแสเงินสดอย่างรอบคอบในช่วงสถานการณ์โรคระบาด โดยมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายลงทุน และการปรับลดอัตราการจ่ายเงินปันผล ขณะที่การเข้าซื้อกิจการกลับเพิ่มมากขึ้น เพื่อฉวยโอกาสในการขยายธุรกิจ ซึ่งฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของผลประกอบการจะช่วยลดผลกระทบจากการลงทุนและการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้นในปี 2565
“นับเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีสำหรับเศรษฐกิจของไทยในปี 2565 ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กำชับการทำงานของทุกหน่วยงานให้ร่วมกันอย่างบูรณาการติดตามสถานการณ์ของโลกในทุกมิติที่จะกระทบกับประเทศ เพื่อช่วยกันวางแผนมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมรองรับและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปในทิศทางที่ดี” นายธนกร กล่าว