“ดร.เผ่าภูมิ” รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผุดไอเดีย “ทะเบียนกลางสินทรัพย์ค้ำประกัน” ปลดปล่อยสินเชื่อสู่เศรษฐกิจฐานราก สำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ที่โอกาสเข้าถึงแหล่งทุนยาก

วันที่ 10 มี.ค. 65 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาธุรกิจขนาดกลาง-ย่อม รายย่อย และธุรกิจรากหญ้า (MSMEs) เข้าไม่ถึงแหล่งทุนว่า ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจฐานรากไทยคือ “การเข้าไม่ถึงแหล่งทุน” สภาพคล่องล้นแต่ไปไม่ถึงธุรกิจรายย่อย คนรวยเก็บเงิน ธนาคารกอดสินเชื่อ ธุรกิจรายย่อยหมดลมหายใจ

รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อว่า ต้นตอสำคัญ คือ ธนาคารต้องการหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เป็น “อสังหาริมทรัพย์” เช่น ที่ดิน โรงงาน ตึกแถว แต่ธุรกิจรายย่อยมีแต่สินทรัพย์ที่เป็น “สังหาริมทรัพย์” เช่น สินค้าการเกษตร คำสั่งซื้อ สิ่งมีชีวิตจากปศุสัตว์ อุปกรณ์เครื่องจักร สิ่งที่แบงก์ต้องการ รายย่อยไม่มี สิ่งที่รายย่อยมี แบงก์ก็ไม่รับ จึงเกิด Deadlock ของระบบสินเชื่อ เมื่อธุรกิจรายย่อยเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เงินในมือไม่มี โอกาสโตแทบเป็นไปไม่ได้ และบางส่วนต้องหันไปพึ่งสินเชื่อนอกระบบ

ผมมองไปที่การจัดตั้ง “ทะเบียนกลางสินทรัพย์ค้ำประกัน” หรือ Collateral Registry เป็นคำตอบสำคัญที่จะเข้าแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งสำเร็จอย่างมากใน จีน ลาตินอเมริกา แอฟริกา และประเทศกำลังพัฒนาที่มี MSMEs เป็นส่วนประกอบสูง

“ทะเบียนกลางสินทรัพย์ค้ำประกัน” จะเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางขนาดใหญ่ของรัฐสำหรับการขึ้นทะเบียนสินทรัพย์ค้ำประกันทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ทั้งประเทศ ทำให้ผู้ขอกู้และผู้ให้กู้มาเจอกันบนแพลตฟอร์มกลาง โดยผู้ขอกู้ขึ้นทะเบียนสินทรัพย์ที่จะใช้ค้ำประกัน ซึ่งรวมถึงสังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าการเกษตร คำสั่งซื้อ สิทธิเรียกร้องทางการเงิน สินทรัพย์ทางปัญญา สิ่งมีชีวิตจากปศุสัตว์ เครื่องจักรอุปกรณ์ และผู้ให้กู้ซึ่งประกอบด้วยแบงก์ นอนแบงก์ ผู้ให้กู้เอกชน สามารถคัดเลือกทำสัญญาให้กู้จากสินทรัพย์ค้ำประกันที่ผู้ขอกู้ลงทะเบียนไว้ โดยรองรับด้วยกฎหมายธุรกรรมในการยึดครองสินทรัพย์ค้ำประกันที่ได้ลงทะเบียนไว้หากผู้กู้ผิดสัญญา” ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าว

...

ทะเบียนกลางนี้ยังช่วยธุรกิจรายย่อยที่เครดิตไม่ดี ไม่มีความสัมพันธ์กับแบงก์ ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ และยิ่งมีการแข่งขันของผู้ให้กู้ในแพลตฟอร์มมากเท่าไร นั่นหมายถึงดอกเบี้ยที่ต่ำลง เป็นประโยชน์ต่อผู้กู้ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบสินทรัพย์ค้ำประกันว่าได้ผูกกับสินเชื่ออื่นไปแล้วหรือไม่ และปลายทางจะเป็นเครื่องมือต่อยอดสู่การใช้ Blockchain ในการทำ Peer-to-peer (P2P) lending ต่อไป

“ทะเบียนกลางสินทรัพย์ค้ำประกัน” จึงทำหน้าที่เหมือน “ตลาดกลางสินทรัพย์ค้ำประกัน” ของประเทศ เพื่อปลดล็อกปัญหาด้านสินเชื่อของไทย โดยเฉพาะ MSMEs ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญมากของเศรษฐกิจไทย กุญแจสำคัญคือ Free Flow of Credit หรือ กระแสสินเชื่อที่คล่องตัว เพื่อให้ MSMEs ไทยปลดปล่อยศักยภาพออกมาให้ได้” ดร.เผ่าภูมิ กล่าว.