รองโฆษกรัฐบาล เตือนประชาชนระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพในฤดูร้อน แนะผู้ปกครองดูแลลูกหลานใกล้ชิด ห่วงเด็กจมน้ำ เผยสถิติช่วงวัย 5-9 ปี จมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด
วันที่ 9 มี.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2565 โดยแจ้งเตือนถึง 5 โรค และ 3 ภัยสุขภาพ ที่ประกอบด้วย
โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ 5 โรค
- โรคอุจจาระร่วง
- โรคไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย
- โรคอาหารเป็นพิษ
- อหิวาตกโรค
- โรคไวรัสตับอักเสบเอ
ส่วน 3 ภัยสุขภาพ ได้แก่
- การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน
- ผลกระทบจากหมอกควัน
- การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ
ทั้งนี้ รัฐบาลขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังพร้อมกับปฏิบัติตามข้อแนะนำของกรมควบคุมโรคในการป้องกันโรคและภัยสุขภาพ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคและการสูญเสีย เพราะหลายโรคที่มาพร้อมกับฤดูร้อนเป็นโรคตามฤดูกาลที่รักษาหายได้ แต่ภัยสุขภาพบางประเภทก็นำมาซึ่งความสูญเสีย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนนั้น ข้อมูลของกรมควบคุมโรคระบุว่า ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ของทุกปี จะมีประชาชนเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ซึ่งในปี 2558-2564 มีผู้เสียชีวิต 56, 60, 24, 18, 57, 12 และ 7 ราย ตามลำดับ ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย เช่นในปี 2564 ผู้เสียชีวิตทั้ง 7 รายทั้งหมดเป็นเพศชาย
ขณะที่ปัจจุบันสภาพของอุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และระยะเวลาฤดูร้อนยาวนานขึ้น จะต้องมีการดูแลสุขภาพให้ปรับให้ทันต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ งดการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน ดูแลร่างกายไม่ให้ขาดน้ำ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ง่าย ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเสพยาเสพติดในช่วงที่มีอากาศร้อน
...
นอกจากนี้ การจมน้ำก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2555-2564) ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 35,915 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มากถึงร้อยละ 20.5 (7,374 ราย) โดยเด็กช่วงอายุ 5-9 ปี เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดที่ 2,867 ราย และช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. เป็นช่วงที่เสียชีวิตมากที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 32.7 ของการจมน้ำเสียชีวิตตลอดทั้งปี
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำตามลำพังที่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ไม่มีผู้ใหญ่ดูแล สำหรับการป้องกัน ทั้งผู้ปกครองและคนในชุมชนต้องร่วมกันสอดส่อง ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยงสำหรับการช่วยเหลือ และเมื่อพบเห็นคนตกน้ำ ให้รีบโทรแจ้ง 1669 และหาอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้หรือเสื้อชูชีพ โยนให้คนที่ตกน้ำจับพยุงตัว เป็นต้น.