รองโฆษกรัฐบาล เผย ปฏิรูปประเทศมา 5 ปี ภาครัฐขับเคลื่อนนโยบายในหลายมิติ ประชาชนพึงพอใจต่อบริการภาครัฐสูงขึ้นทุกปี อันดับโลกดีขึ้น ความสามารถการบริการด้านดิจิทัลสูงขึ้น

วันที่ 4 มี.ค. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศที่ปรับปรุงใหม่ 6 ประเด็น จากแผนการปฏิรูป 13 ด้าน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีขอให้มุ่งมั่นสร้างผลงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ การปฏิรูปประเทศตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐจนเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน สอดคล้องกับผลการสำรวจขององค์กรต่างประเทศที่ประเมินประเทศไทย ดังนี้

1. การพัฒนาบริการเพื่อความพึงพอใจของประชาชน ประชาชนมีความพึงพอใจต่อบริการภาครัฐในภาพรวมสูงขึ้นทุกปี ล่าสุด ปี 2564 อยู่ที่ 84.81% โดยด้านเจ้าหน้าที่ให้บริการประชาชนพึงพอใจมากที่สุด และมีความพึงพอใจต่อการให้บริการในรูปแบบ e-Service ของที่ว่าการอำเภอ/ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ 86.53% เพราะผู้รับบริการเห็นว่าสะดวก ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากขึ้น

ภาครัฐมีการบริการที่รวดเร็วขึ้นจากการปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาในการอนุมัติ อนุญาต กว่า 532 ใบอนุญาต ทำให้บริการเร็วขึ้นเฉลี่ย 41.71% ด้านติดต่อราชการประชาชนสามารถติดต่อได้ง่ายขึ้นจากการออกมาตรการให้หน่วยงานภาครัฐยกเลิกการขอสำเนาเอกสารที่ราชการออกให้ประชาชน นอกจากนึ้ ยังมีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมให้ถูกลง รวมถึงการยกเลิกค่าธรรมเนียมในการให้บริการประชาชนแล้ว จำนวน 111 ใบอนุญาต ทั้งนี้ ยังมีการปรับแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการประชาชนให้ผ่อนคลายมากขึ้น และยังปลดล็อกข้อจำกัดการบริหารราชการในพื้นที่ ส่งผลให้ระบบราชการไทยได้รับรางวัล United Nations Public Service Awards (UNPSA) ขององค์การสหประชาชาติต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี 2560 – 2564

...

2. การยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในการจัดอันดับระดับนานาชาติ

1) อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้านประสิทธิภาพภาครัฐ โดย IMD (IMD Competitive Ranking) ในปี 2564 อยู่อันดับที่ 20 จาก 64 ประเทศ ดีขึ้น 3 อันดับจากปี 2563 มีปัจจัยย่อยด้านนโยบายภาษีที่ติด 1 ใน 6 อันดับแรก และด้านกฎหมายธุรกิจที่อันดับดีขึ้นถึง 8 อันดับเมื่อเทียบกับปี 2560

2) อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทย (Ease of Doing Business) โดยธนาคารโลก จัดอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 49 ในปี 2559 เป็นอันดับที่ 21 ในปี 2563

3) อันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์โดยสหประชาชาติ ในปี 2563 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 57 จาก 193 ประเทศ ดีขึ้น 20 อันดับจากปี 2559 โดยในด้านการให้บริการออนไลน์ มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3. ความพร้อมด้านดิจิทัลของจังหวัด พบว่า หน่วยงานระดับจังหวัดมีความพร้อมมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพัฒนาและปรับปรุงบริการให้เป็นดิจิทัลที่สูงขึ้น

"ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางส่วนจากความมุ่งมั่นของหน่วยงานภาครัฐในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล การปฏิรูปประเทศไทยจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อไปในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน" นางสาวรัชดา กล่าว