พูดกันมานานแล้วว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อาจเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือ ไทยเป็นประเทศ “กำลังพัฒนา” ที่ประสบปัญหามีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 20% ของประชากรทั้งหมด และมีเงินออมไม่เพียงพอที่จะดูแลตัวเอง ในขั้นสุดท้ายของชีวิตมีเบี้ยยังชีพจากรัฐเดือนละ 600 ถึง 1,000 บาท

ถ้ามีรายได้เพียงแค่นี้ สังคมไทยในอนาคตจะไม่เป็นแค่สังคมผู้สูงอายุธรรมดา แต่จะเป็นสังคมของกลุ่มคนชราที่ยากจน น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานผลการศึกษา พบว่าคนไทยมีรายได้จากการทำงาน ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภค

พูดง่ายๆก็คือ มีรายได้ไม่พอกิน หรือ “ขาดดุลรายได้” ประมาณ 3 หมื่นบาทต่อคน และมีแนวโน้มที่จะขาดดุลรายได้มากขึ้น คนไทยจึงมีเงินออมต่ำ และเป็นภาระที่ภาครัฐจะต้องใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษา ส่งผลให้มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มมากขึ้นในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.41% ของจีดีพี

ปัจจุบันคนไทยเกิดน้อยลง แต่มีอายุยืนมากขึ้น เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว ประชากรไทยจะเป็นเด็กถึง 45% แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 16% ส่วนผู้สูงอายุในอดีตมีเพียง 4.9% ของประชากรทั้งหมด แต่วันนี้พุ่งขึ้นมาเป็น 18% ทำให้ประเทศขาดทรัพยา กรมนุษย์เพื่อพัฒนาประเทศ และขาดลูกหลานที่จะเลี้ยงดูผู้ชรา

ปัญหาประชากรโลกในอดีตกับปัจจุบัน กลับตาลปัตรกัน เมื่อหลายทศวรรษก่อนมีปัญหากลัวประชากรล้นโลก เพราะมีคนเกิดมาแย่งกันกินแย่งกันใช้ รัฐจึงต้องรณรงค์ให้ลดประชากรด้วยคำขวัญ “ลูกมากจะยากจน” แต่วันนี้รัฐจะต้องรณรงค์ใหม่ส่งเสริมให้ประชากรมีบุตร ให้เร่งผลิตประชากร โดยรัฐจ่ายเงินดูแลลูกให้

...

ประเทศไทยมีปัญหาความยากจน ก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอยู่แล้ว อย่างที่พูดกันว่ารัฐมีหนี้ล้น ประชาชนมีหนี้ท่วม มีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยครัวเรือนละ 5 แสนบาท รวมทั้งหมดกว่า 14 ล้านล้านบาท ผู้ถือบัตรผู้มีรายได้ต่ำอาจเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ผู้สูงวัยที่ได้เบี้ยยังชีพไม่เกินพันบาท คือกลุ่มผู้ยากจนของสังคม

จะหวังพึ่งการเมือง เพื่อขับเคลื่อนให้พ้นจากความจน การเมืองก็ก้าวถอยหลังทุกครั้งที่เกิดรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร 2534 หรือ 2549 หรือ 2557 รัฐบาล คสช. เคยสัญญาจะขจัดความยากจน ให้สิ้นซาก แต่เป็นแค่คำสัญญา สัญญาว่าประเทศจะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีคนกี่หยิบมือที่มั่งคั่งและยั่งยืน.