"อุตตม" แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ สร้างความเข้มแข็งทั้งระบบ ตอบโจทย์รับการเปลี่ยนแปลง ป้องกันประเทศเผชิญความเสี่ยงในอนาคต ยึดโยงชุมชนทุกภูมิภาค ยกระดับ ศก.ฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เชื่อมั่นบรรลุผล

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 65 นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และแกนนำผู้ก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า อนาคตประเทศไทยกำลังมีความเสี่ยง เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจประเทศไม่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดให้เชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานราก และสอดรับโลกในยุค Digital Economy

"โครงสร้างเศรษฐกิจที่เรามีนับวันจะอ่อนพลังลง ไม่สามารถแก้ปัญหาที่สั่งสมและทวีความรุนแรงได้ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน รวมถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ถ้าหากเรายังเดินต่อไปในแบบเดิมๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง อนาคตของประเทศจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ขาดโอกาส หรือไม่สามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชนได้"

นายอุตตม ระบุต่อว่า โดยเครื่องยนต์ตัวแรกที่ต้องเร่งปรับ คือ การผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งวันนี้ความได้เปรียบด้านค่าแรงของไทยกำลังลดลงเรื่อยๆ จึงต้องเร่งสร้างสินค้าใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่ม และเป็นสินค้าที่ตรงกับกระแสโลก ตัวอย่างเช่น ต้องเร่งปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม ให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือพลังงานสะอาด โดยต้องปรับให้ชัดเจนเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการย้ายฐานผลิตของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะกระทบกับแรงงานจำนวนมาก รวมทั้งการเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ หรือ New S-curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจร การพัฒนาสินค้าจากเทคโนโลยีชีวภาพ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

...

"ที่สำคัญการปรับทั้งหมดจะต้องยึดโยงกับชุมชนทุกภูมิภาค เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน ซึ่งก็คือการปรับทั้งองคาพยพ ตั้งแต่การแก้ปัญหาของประเทศทั้งความเหลื่อมล้ำ ความยากจน โดยใช้ต้นทุนทางทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่เชื่อมโยงกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก เพื่อปรับทิศทางโครงสร้างเศรษฐกิจให้สามารถสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศ เช่น ในด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ก็ต้องยึดโยงและส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในภาคชนบทด้วย และเมื่อผนวกกับการให้ภาคชนบทเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ก็จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งรวดเร็วยิ่งขึ้น" นายอุตตม ระบุ

นายอุตตม ระบุต่อว่า นอกจากนี้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการลงทุนทางกายภาพ ต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลด้วย เนื่องจากโลกได้เข้าสู่ยุค Digital Economy อย่างเต็มรูปแบบแล้ว และคนไทยทุกภาคส่วนต้องได้รับการยกระดับทักษะความรู้เพื่อก้าวไปพร้อมๆ กัน จึงจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจได้สำเร็จ

"หากทุกฝ่ายร่วมกันปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถบรรลุผลในการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานาน ตลอดจนสร้างรากฐานที่มั่นคงเพื่ออนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไป โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับคนไทยนั้นจะครอบคลุมทุกภาคส่วน เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่นี้จะเข้มแข็งตั้งแต่ฐานราก" นายอุตตม ระบุ.