1 แท็บเล็ต 1 นักเรียน : ต้องไม่ใช่แค่ของเล่น เพราะ

ชัดเจนแล้วว่าในปีการศึกษา 2555 นี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้านโยบายประชานิยมเร่งด่วนด้านการศึกษาตามที่หาเสียงไว้นั่นก็คือ โครงการ “1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน”

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินผลกระทบโครงการ 1 แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน จากนักเรียนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 6,192 คน เฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาคณิตศาสตร์ พบว่าการใช้คอมพิวเตอร์มีผลต่อคะแนนสอบของนักเรียนแตกต่างกันตามลักษณะการใช้

สิ่งสำคัญอยู่ที่การออกแบบสื่อการเรียนการสอน มาตรการควบคุมการใช้ให้เหมาะสม และมีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ โรงเรียนและผู้ปกครองต้องทำให้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนการสอนอย่างแท้จริงไม่ใช่แค่ของเล่นชิ้นใหม่

ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ผู้ทำการศึกษาประเมินผลกระทบโครงการหนึ่งคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อหนึ่งนักเรียน โดยได้ใช้ข้อมูลที่เก็บโดย OECD Programme for International Student Assessment หรือ PISA ซึ่งทำการวัดความสามารถทางด้านการใช้ภาษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ของนักเรียนอายุ 15 ปี ใน 65 ประเทศ

ประเทศไทยก็รวมอยู่ในนี้ และนักเรียนไทยถูกจัดลำดับอยู่ที่ประมาณ 50 ในทุกวิชา

จำนวนนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์ทั้งหมด ผ่านการสุ่มตัวอย่างของ PISA ถูกออกแบบให้สะท้อนถึงนักเรียนทั่วประเทศ โดยการศึกษานี้แบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม แยกตามลักษณะการใช้คอมพิวเตอร์ ดังนี้...

หนึ่ง...ใช้เกือบทุกวันเพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียว เช่น ใช้ซอฟต์แวร์เพื่อการเรียน ใช้สเปรดชีต หรือใช้ในการค้นคว้าหาข้อมูล อยู่ในสัดส่วน 945 คน

สอง...ใช้เกือบทุกวันเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว เช่น ใช้เพื่อเล่นเกม หรือดาวน์โหลดเพลง อยู่ในสัดส่วน 351 คน

สาม...ใช้เกือบทุกวันเพื่อการศึกษา และความบันเทิง อยู่ในสัดส่วน 1,473 คน

สี่...ใช้เพียงไม่กี่ครั้งต่ออาทิตย์ หรือไม่ใช้เลย อยู่ในสัดส่วน 3,423 คน

ดร.ดิลกะ บอกว่า ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า การวัดผลกระทบของการใช้คอมพิวเตอร์นั้นไม่สามารถทำได้โดยการนำคะแนนเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มมาเปรียบเทียบกันตรงๆ เนื่องจากเด็กที่ไม่มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม

เช่น ครอบครัวยากจน พ่อแม่มีการศึกษาต่ำ หรือมาจากโรงเรียนที่มีทรัพยากรน้อย ปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างมากต่อความสามารถทางการศึกษาของเด็ก

“การศึกษาจึงต้องนำเทคนิคทางเศรษฐมิติมาใช้ เพื่อปรับลักษณะสำคัญต่างๆที่กล่าวมาของเด็กในสี่กลุ่มให้มีความทัดเทียมกันก่อน จึงจะสามารถวัดผลกระทบจากการใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะต่างๆได้ และในงานวิจัยชิ้นนี้ก็วัดผลกระทบต่อคะแนนสอบ  PISA  ในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เท่านั้น”

ดร.ดิลกะ บอกอีกว่า ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผลกระทบของการใช้คอมพิวเตอร์ต่อคะแนนสอบนั้นมีความแตกต่างกันตามลักษณะการใช้ โดยการใช้เพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียวบ่อยๆมีผลในทางลบต่อคะแนนเฉลี่ยในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เท่ากับ 16 และ 11 คะแนนตามลำดับ

สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถในระดับมัธยฐานของประ-เทศ  หรือเปอร์เซ็นไทล์ที่ 50...ผลกระทบในทางลบดังกล่าวเทียบ เท่ากับ 10 เปอร์เซ็นไทล์สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ และ 6 เปอร์เซ็นไทล์สำหรับวิชาคณิตศาสตร์

ในทางกลับกัน พบว่าการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียวมีผลในทางบวก 1 คะแนน สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ และ 2 คะแนนสำหรับวิชาคณิตศาสตร์ แต่ผลดังกล่าวไม่มีนัย สำคัญทางสถิติ

อีกประเด็นน่าสนใจ...ผลการศึกษาในต่างประเทศส่วนมากก็ไม่พบว่าการใช้คอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์เพื่อการเรียนการสอนมีผลกระทบในทางบวกต่อคะแนนสอบของนักเรียนเช่นกัน

หรือถ้ามี...ก็ไม่มาก หรือจะมีก็เพียงบางซอฟต์แวร์เท่านั้น

ประเด็นที่สำคัญ หากการออกแบบสื่อการเรียนการสอนของไทยไม่ดีเพียงพอ หรือโรงเรียนและผู้ปกครองไม่สามารถควบคุมการใช้ให้ถูกวิธีได้ การดำเนินโครงการนี้โดยไม่มีการวางแผนที่ดีจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็ก

แน่นอนว่า...การใช้จ่ายงบประมาณในครั้งนี้จะเป็นการสูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย

โดยเฉพาะระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ดร.ดิลกะย้ำว่า เราต้องยอมรับว่าเป็นระบบที่ล้มเหลว ต้องการการปฏิรูปรอบด้านอย่างจริงจังและถูกทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพครู การออกแบบหลักสูตร ความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาที่มีอยู่มาก

หรือแม้แต่การออกข้อสอบกลาง เพื่อใช้ประเมินคุณภาพนักเรียนและโรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านมาถึงวันนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

“1 แท็บเล็ต 1 นักเรียน”...เริ่มแจกจริงแล้ว ให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 บางส่วน แต่ก็ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ถึงการใช้งบประมาณแบบไม่ถูกที่ไม่ถูกทาง และอาจไม่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน

ที่ผ่านมา...รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่า เนื้อหาสื่อการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต รวมถึงครูและโรงเรียนมีความพร้อมแค่ไหน หรือจะมีแผนการพัฒนาต่อไปอย่างไร

แจกไปแล้วอยู่ในมือเด็กแล้วจะมีการวัด ประเมินผลกระทบของโครงการต่อความสามารถของเด็กหรือเปล่า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องมีการจัดเก็บและเปิดเผย เพื่อก่อให้เกิดความรับผิดรับชอบต่อการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้

ประเมินกันว่าในขั้นแรก โครงการแจกแท็บเล็ตใช้งบกว่า 1,600 ล้านฯ แต่ถ้าแจกให้ครอบคลุมกับนักเรียนในระดับชั้นประถมและมัธยมจนจบโครงการจะใช้งบกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท

งบที่ว่านี้ยังไม่นับรวมงบ ที่จะต้องใช้ในการขยายเครือข่ายระบบอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วพอสมควรไปยังทุกโรงเรียน ในทุกพื้นที่ของประเทศ ก็คงต้องวัดถึงความคุ้มค่าระหว่างงบที่ทุ่มลงไปนั้นจะทำให้เด็กได้รับการ พัฒนาในเรื่องการศึกษา สติปัญญาอย่างไรบ้าง...

ผลสำเร็จของการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะสิ่งสำคัญยังวนเวียนอยู่ที่ว่าจะใส่อะไรไว้ในแท็บเล็ต ครู...ผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมควบคุมให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร จึงจะทำให้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนการสอนที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการศึกษาของเด็กได้

ใคร? จะการันตีว่า...เด็กไทยจะไม่ยิ่งเรียนยิ่งโง่ คิดแก้ปัญหาเองได้...เพราะถือแท็บเล็ตอยู่ในมือ.

...