ครม. อนุมัติร่างกฎกระทรวง ปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวม 27 ประเภท ในจำนวนนี้ 6 ประเภท มีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า
วันที่ 22 ก.พ. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษฏประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญ คือ ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์มีการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สร้างแรงจูงใจให้ผู้ริโภคใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จะเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต โดยปรับลดอัตราภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าครั้งนี้ มีสินค้ารถยนต์ประเภทต่างๆ รวม 27 ประเภท โดยจะมี 6 ประเภทที่จะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไปจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และอีก 21 ประเภทที่เหลือ จะมีผลบังคับใช้ในปี 2569-2578
สำหรับรถยนต์ 6 ประเภทมีดังนี้
1. รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick-up Passenger Vehicle: PPV) แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊ก ประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2578 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 50
2. รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงาน แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไปให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 8-10
...
3. รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบมาตรฐานสากล (Eco car) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 14 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 และตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 พิจารณาจากความจุกระบอกสูบ อัตราการปล่อย CO2 และการติดตั้งมาตรฐานความปลอดภัย ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10-12 ถ้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ อัตราภาษีจะเป็นไปตามอัตราของรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
4. รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5 ตั้งแต่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้
5. รถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ มีการจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 และ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578
6. รถยนต์กระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วง ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5
ส่วนรถยนต์ที่เหลืออีก 21 ประเภท จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2569-2578 ตามลำดับ ได้แก่
7. รถยนต์นั่ง ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2570 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2571-31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 13-38 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ วันที่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่าร้อยละ 25-40 สำหรับรถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 50
8. รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick-up Passenger Vehicle: PPV) ความจุกระบอกสูบ 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 18-50 ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20) ร้อยละ 16-50 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578
9. รถยนต์นั่งที่ผลิตจากรถยนต์กระบะ หรือแชสซีส์และกระจกบังลมหน้า (Chassis With Windshield) ของรถยนต์กระบะ หรือดัดแปลงจากรถยนต์กระบะ ที่ผลิตหรือดัดแปลงโดยผู้ประกอบอุตสาหกรรม ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2.5-40 ที่ดัดแปลงโดยผู้ดัดแปลง จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 25 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
10. รถยนต์สามล้อชนิดรถสกายแลป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
11. รถยนต์อื่นๆ นอกเหนือจากข้อ 1-5 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 50 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
12. รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2570 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2571-31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 13-38 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 25-40 สำหรับรถที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 50 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
13. รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่ใช้เป็นรถพยาบาล และรถยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ไม่เคยมีการจำหน่ายในท้องตลาดเป็นการทั่วไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
14. รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle) แบ่งเป็น 3 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2570 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2571-31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 6-28 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป มีการจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15-30 กรณีที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 40 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
15. รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5-10 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15-20 สำหรับความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 30 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
16. รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 1 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
17. รถยนต์นั่งสามล้อ และรถยนต์นั่งที่ผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร รถยนต์สามล้อ ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2-4 รถยนต์นั่งที่ผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 4 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
18. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม ที่ไม่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (No Cab) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 3-5 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578
19. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม ที่ไม่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (No Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20)ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2-4 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578
20. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม ที่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (Space Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 3-7 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578
21. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม ที่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (Space Cab) ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 5-8 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578
22. รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตาม มูลค่าร้อยละ 8-13 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578
23. รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิง ประเภทไบโอดีเซล (B20) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 6-12 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578
24. รถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0-2 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578
25. รถยนต์กระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0-1 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578
26. รถยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ไม่เคยมีการจำหน่ายในท้องตลาด จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569
27. รถยนต์ประเภทอื่นๆ นอกจากข้อ 15-26 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 15-50 ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป โดยจะพิจารณาจากความจุกระบอกสูบ อัตราการปล่อย CO2
สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้า รถจักรยานยนต์รวม 4 ประเภท ได้แก่
1. แบบพลังงานไฟฟ้า โดยจะพิจารณาจากแรงดันไฟฟ้า ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0-10 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
2. แบบที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง หรือแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 4-25
3. รถจักรยานยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะ ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
4. รถจักรยานยนต์อื่นๆ นอกจากข้อ 1-3 แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2572 และตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า ร้อยละ 25-30
นายธนกร กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้มาตรการภาษีเกิดประโยชน์ในการลงทุน และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป้าหมายคือยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กระตุ้นผู้ประกอบการปรับปรุงและพัฒนาสู่เทคโนโลยีทันสมัย การลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และยังเป็นการสนับสนุนพลังงานสะอาด เพื่อลดโลกร้อนตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย.