วันเสาร์วันหยุดนี้ เรามาชวนคิดกับประเด็นที่ยังเป็นข้อวิพากษ์ วิจารณ์ในวงกว้างกันดีกว่า

กับการที่ ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกฯ กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง

ตามที่ สำนักนายกรัฐมนตรี โดย สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เสนอให้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเมืองหลวงของประเทศไทยเป็น Krung Thep Maha Nakhon จากนามเดิม Bangkok

และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมาย และร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม.ตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศไปประกอบการพิจารณาด้วย

ให้เหตุผลไว้ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ที่ปัจจุบันมีชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวงเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสถานะ และเขตการปกครองบางประเทศหรือบางเขตการปกครอง ได้ย้ายที่ตั้งและเปลี่ยนชื่อเมืองหลวง ประกอบกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ เพิ่มเติม

โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชาจากกระทรวงการต่างประเทศร่วมพิจารณาด้วย เพื่อให้ส่วนราชการนำการกำหนดชื่อประเทศ
ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวงดังกล่าวไปใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน

สำหรับชื่อเดิมให้ใส่ในวงเล็บ เขียนได้ดังนี้ Krung Thep Maha Nakhon ; (Bangkok)

ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ต้องชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กในภายหลังว่า ยังใช้คำว่า Bangkok ได้เหมือนเดิม

แม้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะมองว่าจริงๆน่าจะไม่ได้เปลี่ยนอะไร ปกติกรุงเทพมหานครก็มีชื่ออยู่แล้ว ฝรั่งอาจจะเรียกยาก อาจเรียกบางกอก แบงค็อก กรุงเทพฯ ชื่อเป็นเพียงนามธรรม ต่างชาติรู้จักทั้งในนามชื่อ กรุงเทพฯ และแบงค็อก หากจะต้องแก้ไขก็คงไม่มากมายอะไร

...

แต่ผมว่าทัศนะมุมมองจากฝ่ายต่างๆก็น่านำมาคิดพิจารณาเช่นกัน

อย่างเช่น คุณธีรภัทร เจริญสุข นักเขียนด้านวัฒนธรรม ที่มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องตลกอย่างที่คิด เมื่อเป็นมติ ครม. และประกาศของราชบัณฑิตฯ เท่ากับว่าหน่วยงานราชการทั้งหมดต้องปฏิบัติใช้ตาม ตามระเบียบสารบรรณของสำนักนายกฯ

เมื่อทุกหน่วยงานราชการต้องปฏิบัติตาม เท่ากับป้ายทั้งหมดของราชการต้องเปลี่ยนตาม คิดเป็นเงินเท่าไร และต่อไปในเอกสารราชการ ต้องเปลี่ยนจาก Bangkok เป็น krung thep Maha Nakhon จาก 7 ตัวอักษร เป็น 19 ตัวอักษร พื้นที่กระดาษและหมึกที่จะต้องเสียเพิ่มเติม คือ 3 เท่าตัว

จะสิ้นเปลืองเพิ่มปีละเท่าไร?

ตรงกับ คุณฆนัท นาคถนอมทรัพย์ ผู้ผลิตสารคดีด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่เห็นว่าตามโครงสร้างราชการไทยมีแนวโน้มที่จะให้ใช้คำว่า krung thep maha nakhon แทน Bangkok

ชื่อบางกอก, บางมะกอก ยังเป็นชื่อบ้านนามเมืองที่บ่งบอกถึงพื้นที่ที่รวมผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่ชาวจีน ฝรั่ง มอญ เขมร เวียดนาม ไทย ศาสนาผี พราหมณ์ คริสต์ ซิกซ์ ฮินดู เข้าไว้ด้วยกัน

ขณะที่ชื่อกรุงเทพมหานคร สื่อถึงวิธีคิดของชนชั้นนำ และจักรวาลแบบพุทธไทยและฮินดูเท่านั้น

ประเด็นนี้คงเป็นเรื่องต้องถกเถียงกันต่อในแวดวงวิชาการ และผู้คนในสังคม

ว่าตกลงแล้วการเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ยังไง.

เพลิงสุริยะ