- เรือดำน้ำไทยงานเข้า หลังเยอรมนีออกมาประกาศไม่ขายเครื่องยนต์ MTU ให้กองทัพจีน ซึ่งอยู่ในช่วงต่อเรือให้ ทร.ไทย ที่จะส่งมอบให้เดือน เม.ย. 2567
- สงครามการค้าเรือดำน้ำดุเดือด ส่งผลกระทบต่อ ทร.ไทย ทันที หลังเยอรมนีงัดกฎ Dual Use ที่คาดว่าเป็นเกมที่ถูกแซงชั่นจากสหรัฐฯ จนไม่ออก Export License ให้จีน ทำให้ไทยส่อได้เครื่องไม่ตรงสเปก
- จีนเปลี่ยนกลยุทธ์ ส่งสัญญาณอาจชวดเครื่อง MTU จากเยอรมนีที่ไม่ขายให้ โดยเสนอการเพิ่มออปชันให้อาวุธและของแถมต่างๆ ที่ติดมากับเรือ รวมถึงส่งสัญญาณให้เรือดำน้ำมือสอง 2 ลำ เพื่อฝึกศึกษาก่อนได้รับ S26T
วิบากกรรม เรือดำน้ำ S26T (Yuan Class) ของ "กองทัพเรือ" ที่สั่งซื้อจากจีนส่องานเข้า หลังประเทศเยอรมนีออกมาประกาศไม่สามารถขายเครื่องยนต์ MTU ให้กองทัพจีน จึงถูกโยงทำให้มีผลกระทบต่อไทย เพราะเครื่องยนต์รุ่นนี้จะต้องใส่ติดตั้งเรือดำน้ำให้กับ ทร.ไทย ที่อยู่ในขั้นตอนต่อเรือให้ไทย โดยระบุเป็นเหตุผลด้านการทหาร และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จึงทำให้ "กองทัพเรือ" ต้องลุ้นด้วยใจระทึก และนี่คือปฐมบทของสงครามการค้าเรือดำน้ำ ระหว่างจีนและเยอรมนี ที่คาดว่าถูกแซงชั่นโดยประเทศมหาอำนาจ
จะเห็นว่า เรือดำน้ำ S26T กว่าที่กองทัพเรือจะได้รับการอนุมัติจัดซื้อ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมามากหลายรัฐบาล กระทั่งรัฐบาลทหารในยุค คสช. จึงอนุมัติการจัดซื้อเมื่อ 18 เม.ย. 2560 ด้วยงบประมาณ 13,500 ล้านบาท โดยแบ่งชำระเงินเป็น 7 ปี รวม 17 งวด ประเดิมงวดแรกปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปีที่ 2561-2566 จะชำระเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท
...
ล่าสุดเจอปัญหาที่จีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ได้ตามสเปกอีก ทำให้ทั้งฝ่ายไทยและจีนอยู่ในช่วงกังวลไม่แพ้กัน เพราะกำหนดระยะเวลาส่งมอบเรือดำน้ำลำแรกให้ ทร.ไทย จะเกิดในช่วง 2566 แต่ด้วยพิษโควิด จีนจึงขอเลื่อนไปส่งมอบให้กองทัพเรือไทยช่วงเมษายน 2567 ที่จะถึง
แต่เรื่องมาแดงขึ้นเมื่อ ผู้ช่วยทูตทหารเยอรมนีประจำประเทศไทย ออกมาระบุชัดเจน เยอรมนียังไม่ออกใบอนุญาตส่งออก หรือ Export License ของเครื่องยนต์ MTU ที่จะติดตั้งกับเรือดำน้ำ S26T ของกองทัพเรือไทยที่กำลังต่ออยู่ในจีน และเบื้องลึกคือทางการจีนยังไม่ได้ประสาน หรือสอบถามมาทางเยอรมนีก่อนที่จะเสนอเครื่องยนต์ MTU เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรือดำน้ำ กระทั่งจีนได้ลงนามในสัญญาระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพจีนไปก่อนแล้ว
"กรณีนี้ไม่ได้เป็นการไม่ออก Export License ให้กับประเทศไทยในฐานะผู้ใช้ปลายทาง แต่เป็นการไม่ออก Export License ให้กับกองทัพจีน หรืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศของจีน เพราะ TAF มีความเห็น แม้ว่าเรือดำน้ำ ชั้นซ่ง (Song) และ ชั้นหยวน (Yuan) จะเป็นเรือดำน้ำของจีน แต่จีนเลือกใช้เครื่องยนต์ MTU ของเยอรมนีที่มีประสิทธิภาพสูงในการติดตั้งกับเรือดำน้ำที่จีนต่อใช้งานเอง"
ซึ่งเมื่อจีนต้องการส่งออกเรือดำน้ำ จึงเลือกเสนอเครื่องยนต์ MTU เพื่อติดตั้งกับทั้ง S20 และ S26T ให้กับกองทัพเรือไทย และปากีสถาน ในฐานะที่เป็นเครื่องยนต์แบบเดียวกับที่ติดตั้งในกองทัพเรือจีน
จึงเป็นปัญหาตามมาที่กระทบอย่างหนักต่อกองทัพเรือไทยที่อาจได้เรือดำน้ำไม่ตรงปก หรือไม่ตรงสเปก เพราะกองทัพจีนและไทยได้ลงนาม MOU โดยการจัดซื้อจัดจ้างต่อเรือดำน้ำ ที่ฝ่ายจีนไม่ได้สอบถามทางเยอรมนีก่อน และเยอรมนีก็ชี้แจงให้เห็นว่าไม่ได้มีปัญหากับทางกองทัพเรือไทย แต่การปฏิเสธ Export License ในครั้งนี้จึงไม่ใช่การปฏิเสธไม่ส่งออกให้ไทย แต่เป็นการปฏิเสธที่จะไม่ส่งออกให้กับจีน เพื่อนำไปขายต่อในฐานะส่วนหนึ่งของเรือดำน้ำที่ขายให้กับต่างประเทศ
เพราะการที่จีนจะมาใช้เครื่องยนต์ MTU แล้วต่อเรือขายให้ประเทศอื่นที่เป็นลูกค้า เยอรมนีจึงต้องเข้มงวดกฎ Dual Use Export Controls จะต้องตรวจสอบว่านำเครื่องยนต์ไปใช้ในทางพลเรือน หรือการทหาร เพราะถ้าใช้ในทางพลเรือนไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นด้านการทหารจะเข้มงวด เพราะอาจส่งผลกระทบในเรื่องการค้าเรือดำน้ำ
ขณะเดียวกันในส่วน ทร.ไทย ไม่คิดว่าจะมีปัญหาเรื่องนี้ตามมา เพราะการทำสัญญาสเปกกับจีน เครื่องในเรือดำน้ำจะใช้ระบบขับเคลื่อนที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล สิทธิบัตร MTU ของเยอรมนี 2 เครื่อง และมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังขับ 5,515 กิโลวัตต์ พร้อมระบบขับเคลื่อน AIP แบบวัฏจักรสเตอร์ลิง 3 ชุด ถ้าเป็นการต่อแล้วขายให้ประเทศอื่นเยอรมนีจะไม่ขายทันที
ดังนั้นกองทัพเรือหวังว่าจีนจะแก้ปัญหาให้สำเร็จ แต่การที่จีนขอเจรจาเพื่อโน้มน้าวให้ไทยเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นแบบ MWM ของเยอรมนี กองทัพเรือจึงต้องยืนยันตามเดิมว่าเครื่องยนต์ต้องเป็น MTU เท่านั้น
"กองทัพเรือ ไม่เคยคิดว่าจะเกิดปัญหากรณีประเทศเยอรมนีไม่ยอมขายเครื่องยนต์ MTU ให้จีน เพราะที่ผ่านมาก็ขายให้ โดยจีนยังได้นำเครื่องยนต์ติดตั้งในเรือดำน้ำชั้นซ่ง (Song) และ ชั้นหยวน (Yuan) แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลักการ ทำให้ ทร.ไทย ได้รับผลกระทบทันที แม้จะได้ยินข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว ที่จีนแจ้งมาว่าเยอรมนีไม่ขายเครื่องยนต์ให้" แหล่งข่าวกองทัพเรือกล่าว
นอกจากนี้ยังวิเคราะห์ว่า เหตุผลลึกๆ อาจจะเป็นสงครามการเมืองระหว่างประเทศ ที่ดึงดุลอำนาจ เพราะตอนสั่งซื้อ จีนไม่ยังโดนสหรัฐฯ แซงชั่น จนต่อมาหลายโครงการที่จีนกำลังทำที่ยุโรปก็โดนยกเลิกไปเยอะ เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์-อุโมงค์ลอดทะเล โดยเป็นฝีมือสหรัฐฯล้วนๆ และเชื่อว่าในที่สุด กองทัพเรือ อาจต้องยอมเปลี่ยนเครื่อง แล้วนำไปทดสอบระบบเครื่อง เมื่อไม่ผ่านก็ไม่เซ็นรับมอบ เพราะจีนสามารถเอาเข้าประจำการกองทัพตัวเองได้อยู่ จึงไม่เดือดร้อน
แต่ในที่สุดเชื่อว่าจีนคงเปิดเกมเดินเข้าหาผู้มีอำนาจในประเทศไทย เพื่อบีบกองทัพเรือให้ยอมรับเงื่อนไขในที่สุด เพราะผลสุดท้ายฝ่ายจีนจะงัดข้อเสนอการเพิ่มออปชันแถมอาวุธ และของแถมต่างๆ ที่ไทยปฏิเสธไม่ได้
เหตุผลง่ายๆ สุดท้ายทางฝ่ายการเมืองคงต่อรองกับทางฝ่ายจีนเรียบร้อย เพราะนั่นหมายถึงเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ที่ถูกชะลอเข้ามาปีที่ 4 จะต้องถูกจัดซื้อตามมาอีกในกรอบวงเงิน 22,500 ล้านบาท ในห้วงปีงบประมาณ 2567 หลังลำที่ 1 เข้าประจำการแล้ว เพราะไทยกับจีนยังไงก็จะไม่มีวันกระทบความสัมพันธ์อันดีแน่ เพราะยุทโธปกรณ์ต่างๆ ปัจจุบัน 3 เหล่าทัพ ยังยึดโยงจัดซื้อจากจีนหลายรายการ
จนล่าสุดทางจีนก็มีข้อเสนอเพื่อเป็นการปลอบใจให้ ทร.ไทย โดยจะยก เรือดำน้ำชั้นซ่ง (Song) มือสอง 2 ลำ ให้ทหารเรือได้ฝึก ศึกษา โดยเป็นการเสนอแบบให้เปล่า ในฐานะมิตรประเทศ ซึ่งโครงสร้างภายในเรือใกล้เคียงกับ เรือดำน้ำ S26T ชั้นหยวน เพื่อให้กำลังพลประจำการในเรือดำน้ำ S26T ระหว่างต่อเรือ และรอจัดหาติดตั้งเครื่องยนต์ MTU จากเยอรมนี ก่อนครบกำหนดส่งมอบได้เรียนรู้
โดยจีนได้วางแผนประสานงานผ่านทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และต่อสายตรงมายัง พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. ที่เบื้องต้นได้ตั้งทีมงานขึ้นมาพิจารณาความคุ้มค่า และในรายละเอียด ว่าจะรับเรือดำน้ำมือสองจากจีนหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องอะไหล่ และการซ่อมบำรุง
เพราะหากให้มาแล้ว ไม่ให้อะไหล่ หรือให้มาน้อยนิด ใช้ได้แค่ไม่กี่ปี กองทัพเรือ ก็คงต้องเสียงบประมาณในการซ่อมบำรุงอีกเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นเรือดำน้ำที่ใช้งานมาแล้ว 10 กว่าปี
และนี่คือบทสุดท้ายของเรือดำน้ำ S26T ลำแรกของไทย ที่จัดซื้อจากจีน ที่จะเข้าประจำการในเดือน เม.ย. 2567 โดยที่ต้องลุ้นว่าจะได้เครื่องยนต์ตรงปกหรือไม่ จนนำไปสู่ข้อเสนอที่ล่อใจด้วยการมอบเรือมือสอง เพิ่มออปชันแถมอาวุธ และของแถมต่างๆ เพื่อโน้มนาวให้กองทัพเรือไทยต้องยอมกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยปฏิเสธมิได้.
ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว
กราฟิก : sathit chuephanngam