ปรากฏข่าวตามสื่อว่า กระทรวงคมนาคม มีการเร่งเบิกจ่าย งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 มากที่สุด คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เกือบจะร้อยละ 20 ของงบประมาณที่ได้รับมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท กับโครงการเมกะโปรเจกต์ใหญ่ๆที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม.ไปแล้ว โครงการถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง ใช้งบประมาณบานตะไท ชาวบ้านเลยเอาไปเสียดสีกับการที่รัฐจะประกาศให้โควิด เป็นโรคประจำถิ่น เพื่อจะประหยัดงบประมาณในการรักษาฟรีให้กับประชาชน จนหน่วยงานของ กระทรวงสาธารณสุข พยายามออกมาชี้แจงว่าใช้สิทธิรักษาฟรีได้ตามปกติ แต่คนก็ไม่ค่อยเชื่อน้ำยาเท่าไหร่ อย่างกรณี โครงการคนละครึ่ง ที่ชาวบ้านออกครึ่งรัฐออกครึ่ง หวยไปออกที่ร้านค้าร่วมรายการ เพราะรัฐจะเก็บภาษีรายได้จากร้านค้าคนละครึ่งด้วย
กลายเป็นว่ารัฐไม่จริงใจที่จะช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงชอบหมกเม็ดเอาคืนทีหลัง ประชาชนก็เลยไม่ค่อยเชื่อใจรัฐบาลเท่าไหร่ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง ชี้แจงถึงมติ ครม.ในการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ประจำปี 2565 ที่กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายในภาพรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 93 การเบิกจ่ายงบประมาณประจำไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 การเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ75 ดังนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้สามารถใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท (จากเดิมที่ไม่เกิน 5 แสนบาท) ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานรัฐ
การประกวดราคาในวงเงินเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้มีการเผยแพร่ประกาศและเอกสารไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ถ้าเกิน 100 ล้านบาท ให้มีการเผยแพร่ประกาศและเอกสารไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ ทั้งนี้ก็เพื่อให้หน่วยงานรัฐดำเนินการได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น เป็นการเร่งฟื้นฟูประเทศหลังเกิด สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด เลยมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า รัฐบาลประกาศจะอยู่ให้ครบเทอม แล้วทำไมต้องเร่งรัดในการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างไรชอบกล เหมือนรู้ว่าจะอยู่ไม่นาน
...
เกรงว่าจะกลายเป็นข้อครหา รัฐเตรียมที่จะทิ้งทวนโค้งสุดท้าย
เมื่อเร็วๆนี้ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ พูดถึงโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศยังมีเสถียรภาพ แต่มีข้อจำกัดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากผลกระทบจาก โควิด เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางมากขึ้นจากหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง สรุปว่ามีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก
นอกจากนี้ยังมีปัญญาสะสมมาจากโครงสร้างการลงทุนของประเทศทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ลดลง ทำให้การวิจัย การพัฒนานวัตกรรม ผลผลิตทางด้านแรงงานไม่เติบโตเท่าที่ควร ในขณะที่โครงสร้างประชากรของประเทศกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2578 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า เวลานี้เราพึ่งพาเศรษฐกิจท่องเที่ยวถึงร้อยละ 17-18 ของจีดีพี ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวและการบินได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด
เรากำลังเข้าสู่ทางตันทางเศรษฐกิจและการเมืองไปพร้อมๆกัน.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th