หลายจังหวัดน่าห่วง ติดเชื้อพุ่ง 2 เท่าในเวลา 2 สัปดาห์ ขณะ กทม. วันนี้มีผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย 2 เขต ศบค. เผย เตรียมปรับรูปแบบการรายงานยอดผู้ติดเชื้อเป็น 7 วัน คาดชัดเจนในสัปดาห์นี้

วันที่ 14 ก.พ. 2565 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการติดเชื้อ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปีใหม่ 2565 (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข) มีจังหวัดที่ต้องจับตามอง ซึ่งมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าใน 2 สัปดาห์ และยังมีอีกหลายจังหวัดที่ไม่ติด 10 อันดับ แต่มีทิศทางผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อาทิ ขอนแก่น เชียงใหม่ ปทุมธานี มหาสารคาม ระยอง ร้อยเอ็ด ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สระบุรี และเพชรบุรี เป็นกลุ่มจังหวัดที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าจำเป็นต้องเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งภาพรวมยังเป็นการติดเชื้อในกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล รวมทั้ง 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว และ 18 จังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว

...

ในส่วนของคลัสเตอร์ที่สำคัญซึ่งมีการรายงานในวันนี้ คือ

  • ร้านอาหาร/ร้านที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อำนาจเจริญ, สุพรรณบุรี, ร้อยเอ็ด
  • ตลาด นครราชสีมา (ตลาดประปา), อุบลราชธานี (ตลาดเจริญศรี), น่าน (ตลาดราชพัสดุ) โดยบางตลาดพบติดเชื้อซ้ำซาก คือ แออัด อากาศไม่ถ่ายเท ไม่สวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด ไม่เข้มงวดในการตรวจ ATK
  • โรงงาน/สถานประกอบการ ขอนแก่น, ปราจีนบุรี, นครราชสีมา, ชลบุรี, ราชบุรี มีพฤติกรรมติดเชื้อจากการรับประทานอาหารร่วมกัน ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะทำงาน ขอให้เน้นย้ำมาตรการ
  • งานประเพณี งานศพ ฉะเชิงเทรา, กาญจนบุรี, นครราชสีมา, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, สุโขทัย

สำหรับคลัสเตอร์ใน กทม. ที่น่าเป็นห่วง 2 เขต มีผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย ได้แก่ ราชเทวี และป้อมปราบศัตรูพ่าย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเขตที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 65 ราย คือ หนองแขม, ห้วยขวาง, บางพลัด, บางแค, หลักสี่, ดอนเมือง, ดุสิต, สะพานสูง ทั้งนี้ในส่วนของดอนเมือง เป็นคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง มีผลยืนยันติดเชื้อแล้ว 228 ราย จากคนงานทั้งหมด 758 ราย หรือคิดเป็น 30.01% ขณะเดียวกันยังมีการรายงานการติดเชื้อคลัสเตอร์โรงเรียนอีก 13 แห่งด้วย

แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุต่อไปว่า ปัจจุบันใน กทม. มีผู้เข้าระบบ Home Isolation รวมทั้งสิ้น 19,040 ราย รับใหม่วานนี้ 1,829 ราย ด้าน Community Isolation เปิดบริการ 27 แห่ง มีผู้เข้ารับบริการทั้งสิ้น 1,144 ราย โดยถือว่าศักยภาพเตียงผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล มีการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 40% โดยสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำคือ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง อาการป่วยหนัก หรือเสียชีวิตได้

ขณะเดียวกัน เมื่อต้องมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงการเปิดเรียน กิจการและกิจกรรมต่างๆ ขอเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด สถานประกอบการใดที่พนักงานยังไม่ได้รับวัคซีนก็ขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีน รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการอย่างจริงจัง จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

ในช่วงท้ายพิธีกรชายได้กล่าวว่า ตัวเลขการรายงานสถานการณ์รายวัน หลายประเทศเริ่มดูเป็นภาพรวม เช่น ค่าเฉลี่ยในรอบ 7 วัน จะทำให้เห็นทิศทางภาพรวมการสถานการณ์การติดเชื้อได้อย่างดีขึ้น เนื่องจากตัวเลขรายวันที่แกว่งตัวอาจจะทำให้ประเมินสถานการณ์คลาดเคลื่อนได้ ซึ่งหลังจากนี้การประเมินสถานการณ์เป็นแนวโน้มอาจจะนำมาสู่การกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมไปยัง แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. ถึงการรายงานผู้ติดเชื้อแบบ 7 วัน อาจจะมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้ โดยขญะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม เนื่องจากมีบางจังหวัดไม่ได้รายงานเข้ามาแบบเรียลไทม์ ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจนก็จะยังคงรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายวันไปก่อน ส่วนการแถลงข่าวของ ศบค. ในขณะนี้ยังคงเป็นวันจันทร์และวันพฤหัสบดี.