การเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงแม้จะมีบางฝ่ายหาเรื่องถากถางอย่างโน้นอย่างนี้บ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควรทีเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน ด้วยการยกระดับกลับคืนสู่ระดับเอกอัครราชทูตเหมือนมิตรประเทศอื่นๆทั่วโลก

มาย้อนกลับไปมองถึงความสัมพันธ์ที่ผันผวนด้วยเหตุการณ์ในอดีต เริ่มด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันเมื่อปี 2500 ในระดับสถานกงสุลใหญ่ และมีการยกฐานะสถานกงสุลใหญ่ของทั้งสองฝ่ายขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูตเมื่อปี 2509

แต่กว่าที่ฝ่ายไทยจะได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนแรก คือ นายประสงค์ สุวรรณประเทศ ไปประจำที่ซาอุดีอาระเบีย ก็ล่วงเข้าไปปี 2518

ทั้งนี้ ไทยเราได้ประโยชน์มหาศาลจากการส่งแรงงานไปทำงาน ที่ซาอุฯอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับซาอุฯเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยทั้งเรื่องน้ำมันที่เราซื้อและสินค้าอุปโภคบริโภคที่เราขาย

แต่แล้วในระหว่างปี 2532-2533 ก็เกิดเหตุการณ์ในคดีเพชรซาอุฯ ที่คนงานไทยไปทำการโจรกรรมเครื่องเพชรของพระราชวงศ์ที่นั่นนำกลับมาเมืองไทย และมีเหตุการณ์ต่อเนื่องพัวพันไปถึงคดีการฆาตกรรมนักการทูตและการหายสาบสูญของนักธุรกิจซาอุฯ ทำให้ความสัมพันธ์เสื่อมทรามลง โดยทางการซาอุฯไม่ให้แรงงานไทยเข้าไปทำงาน และห้ามคนซาอุฯเดินทางมาเมืองไทย จนเกิดผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง

ที่สำคัญคือ มีการลดระดับตัวแทนทางการทูตลงจากระดับเอกอัครราชทูตเป็นเพียงอุปทูต โดยเอกอัครราชทูตของไทยคนสุดท้าย ที่ไปอยู่ซาอุฯ คือ นายลิขสิทธิ์ ปานสมจิตต์ ระหว่างปี 2533-2535 ต่อจากนั้นผู้แทนทางการทูตของเราก็เป็นระดับ อัครราชทูต ทำหน้าที่อุปทูต ซึ่งคนปัจจุบันคือ นายสธน เกษมสันต์ ณ อยุธยา โดยมีทีมงานคือ นายนิรันดร หนูมา อัครราชทูตที่ปรึกษา นายทรัพย์สิน ฉิมพลี ที่ปรึกษา และ นายวรภัทร เพ็ญสว่าง กับ นางสาวณัฐฐวราฐ์ โกอัฐวาพร ซึ่งเป็นเลขานุการโททั้งคู่

...

การทำความตกลงยกระดับการแลกเปลี่ยนทางการทูตขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตได้อีกครั้งหนึ่งนี้ถือได้ว่าเป็นผลงานดีเด่นของกระทรวงการต่างประเทศ

แล้วอีกไม่นานคงมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มประจำราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียคนใหม่เข้าใจว่ามีตัวบุคคลในใจแล้ว แต่ต้องรับความเห็นชอบจากรัฐบาลซาอุฯก่อนตามแบบธรรมเนียมทางการทูต.

“ซี.12”
c12thongchai@gmail.com