"ธัญวัจน์" ส.ส.ก้าวไกล แสดงความเห็น กรณีคลิป Onlyfans ของ "เดียร์ลอง" ถูกนำมาเผยแพร่ ชี้ ไทยควรมีกฎหมายคุ้มครองผู้สร้างเนื้อหาผู้ใหญ่ ถาม ใครเป็นผู้ที่ถูกละเมิด และใครเป็นคนที่ควรถูกลงโทษ

วันที่ 3 ก.พ. 65 นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “เดียร์ลอง” เจ้าหญิงดิสนีย์เมืองไทย จากรายการประกวดความสามารถรายการหนึ่ง ที่ทำให้คนรู้จักเธอในฐานะนักร้องเสียงดี ที่วันนี้เธอได้เปิดพื้นที่ #Onlyfans ที่นำเสนอผลงานในอีกแง่มุมหนึ่งของเธอ และล่าสุด เกิดประเด็นร้อนเมื่อมีคนนำคลิปของเธอใน Onlyfans มาเผยแพร่ จนกระแสสังคมเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และอาจนำมาซึ่งการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากการสร้างคอนเทนต์ 18+ บนอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยนั้น ยังผิดกฎหมาย

นายธัญวัจน์ ระบุว่า หากเราเปลี่ยนมุมมองจากสังคมที่เป็นอยู่ขณะนี้ จริงๆ แล้ว “เดียร์ลอง” ผู้สร้างคอนเทนต์ 18+ ต่างหากที่ถูกละเมิด เพราะผลงานของเธอถูกดูดนำไปเผยแพร่โดยเจ้าตัวไม่ยินยอม และเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อเธอโดยตรง ทั้งที่เธอทำงานสุจริตและไม่เดือดร้อนใคร กลับกลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และเรื่องราวนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับ #ไข่เน่า ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว

“การจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นเป็นการแก้ปัญหาจริงๆ อย่างนั้นหรือ วิธีคิดด้วยการ ‘ป้องปราม’ ไม่ใช่การแก้ปัญหา และไม่มีทางที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นจะไล่จับผู้ที่สร้างคอนเทนต์ 18+ ได้หมดทั้งประเทศ ได้แต่เพียงดำเนินคดีที่สังคมสนใจเป็นรายๆ ไป สะท้อนสังคมปากว่าตาขยิบว่ามีการป้องปรามแล้วให้ทุกคนในสังคมสบายใจ แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเลย”

นายธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า ศีลธรรมอันดีใครตัดสิน #SexCreator ก็คือหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้และคือหนึ่งอาชีพที่เราทุกคนต้องให้เกียรติและเคารพกัน ที่ใครอยากจะดูก็จ่ายค่าสมาชิก ส่วนใครที่ไม่อยากดูก็ไม่มีใครบังคับ และการที่ดูดคลิปไปเผยแพร่เราคงต้องพิจารณาว่า ใครเป็นผู้ที่ถูกละเมิด และใครเป็นคนที่ควรถูกลงโทษ

หากเรามองว่านี่คืออาชีพสุจริต ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้ที่สร้างคอนเทนต์ 18+ แต่ปัญหาอยู่ที่การล่อลวงเพื่อถ่ายคลิป 18+ โดยไม่ยินยอม และพื้นที่ที่ต้องจัดเรตติ้งและควบคุมเพื่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ที่ต้องถูกออกแบบและดูแล ไม่ให้เข้าถึงได้ หรือจะเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากการถ่ายคลิปที่ไม่เป็นธรรม หรือ คลิปที่ถูกไปใช้ซ้ำเพื่อประโยชน์อื่นใดโดยเจ้าตัวไม่ได้รับความยินยอม อย่างกรณีเดียร์ลอง เป็นปัญหาที่จะต้องคำนึงถึง และเราจะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หากเราไม่ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองอาชีพดังกล่าว

...

“วิธีคิดเพื่อป้องปรามเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้ สังคมควรเปลี่ยนมุมมอง นี่คืออาชีพที่สุจริตและควรได้รับการคุ้มครองเราไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหาได้เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องของเราทุกคนการออกกฎหมายไม่ใช่ป้องปราม Sex Creator แต่ต้องเพื่อ ‘คุ้มครอง’ ” ธัญวัจน์ ระบุ.