ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้มาแข่งกับใคร เพราะมาแข่งกับตัวเอง ไม่ได้เอาเป็นเอาตาย ชนะก็ไปทำงาน แพ้ก็ไม่เป็นไร อยากแก้มากที่สุด คือเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องสุขภาพของคนกรุง ผลโพลแม้จะเป็นที่ 1 แต่จะไปยึดถือมากก็ไม่ได้

หลายคนยังคุ้นเคยกับ ฉายา “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ด้วยภาพที่กลายเป็นมีมในโลกโซเชียลมีเดีย ที่มาในลุคเสื้อกล้ามสีดำ กางเกงขาสั้น พร้อมกล้ามล่ำบึ้ก เดินเท้าเปล่า หิ้วของไปตักบาตรพระ ที่ทำให้หลายคนจำได้จนติดตา แม้ว่าปัจจุบันเจ้าตัวจะกลายมาเป็นว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ในนามอิสระแล้วก็ตาม

ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พบปะ และเกาะติดลงพื้นที่ 1 วัน ไปพร้อมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพื่อพูดคุยแบบเปิดใจถึงการตัดสินใจลงสมัคร ว่าเหตุใดถึงต้องเป็นในนามอิสระ และนโยบายอะไรที่จะใช้มัดใจคนกรุงเทพมหานคร

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บอกกับเราว่า การตัดสินใจลงสมัครในครั้งนี้ มาจาก vision (วิสัยทัศน์) ว่าอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร ส่วนนโยบายมาจาก Action plan (แผนการปฏิบัติงาน) ที่เกิดจากมุมมองว่าอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ฟังดูเหมือนง่าย แต่มันไม่ง่าย เพราะว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับต้นๆของโลก แต่พอมาดู Living index กรุงเทพฯ กลับอยู่ที่อันดับ 98 จาก 140 ตนเองจึงมองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มาอยู่สักสัปดาห์เป็นเรื่องน่าสนุก แต่ถ้าหากมาอยู่ทั้งชีวิตเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อย ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของกรุงเทพฯ ที่ต้องทำให้น่าอยู่สำหรับทุกคน ถือเป็นโจทย์ที่ยากแต่มั่นใจว่าเราทำได้

...

“ในอนาคตถ้าถามว่า เมืองมันแข่งกันที่อะไร มันแข่งกันที่ว่าแต่ละเมืองมีคนเก่งอยู่มากน้อยแค่ไหน มันจะแข่งในการดึงคนเก่ง ถ้าเมืองไม่น่าอยู่ อนาคตคนเก่งจะหนีออกเมืองหมด เพราะฉะนั้นเมืองมันจะไม่มีคุณภาพ จะไม่มีงานที่คุณภาพอยู่ คำว่าเมืองน่าอยู่เป็นเรื่องที่ท้าทาย วิชั่นเราคือตัวนี้ นโยบายเราจึงต้องสอดคล้องกับเรื่องนี้ และต้องจับต้องได้ เป็นจริง ไม่เพ้อฝัน”

นโยบายต้องมีความหลากหลาย คือคำที่นายชัชชาติบอกกับเรา เพราะแต่ละคน มี Pain point (ประเด็นที่เป็นปัญหา) ต่างกันในกรุงเทพฯ หากมีลูกเล็ก เรื่องศูนย์เด็กอ่อนก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ หากมีลูกโตในระดับประถม คุณภาพโรงเรียนก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่หากที่บ้านมีผู้สูงอายุ ติดเตียง เรื่องศูนย์สาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้นนโยบายที่ปัง คือต้องตอบโจทย์คนทุกคน และไม่ใช่มีแค่นโยบายเดียว ตนเองมองว่ามีมากกว่า 700 เรื่อง

โดยการทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ ต้องเริ่มจากพื้นที่ใกล้ตัว ไม่ใช่การสร้างความฝัน การสร้างเมกะโปรเจกต์ต้องมี แต่ต้องเริ่มทำไปพร้อมๆ กัน เช่นเรื่อง PM 2.5 การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ โดยกำหนดไว้ว่าต้องเพิ่มต้นไม้ 1 ล้านต้น แจกต้นกล้าฟรี ส่วนเรื่องพื้นที่โดยเริ่มจากนักเรียนในสังกัด กทม. จำนวนกว่าแสนคน ปลูกฝังการรักต้นไม้กับเด็กเพื่อให้โตไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการทำทางวิ่ง และฟุตปาทที่ดี ขยายไปสู่เรื่อง Free wifi การลดภาระครู โดยเรามีการวางโครงไว้หมดแล้ว 14 เรื่อง เมื่อคูณ 50 เขต ก็จะได้เท่ากับ 700 เรื่อง โดยมีทั้งแผน 100 วัน แผนปี 2 ปี และ 4 ปี

หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะแก้เรื่องไหนก่อน?

นายชัชชาติ กล่าวว่า การลงพื้นที่ทำให้เห็นปัญหาชัดมากที่สุด 2 เรื่อง คือ เศรษฐกิจ และเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องโควิด-19 ที่พบปัญหาเรื่องฐานข้อมูลที่ไม่มีในกทม. ทำให้เกิดการเข้าถึงล่าช้า อีกทั้ง กทม. ไม่มีเจ้าภาพในการดูแลระบบสาธารณสุข ทั้งที่มีหน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัยแพทย์ ดังนั้น กทม.เองต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพที่เข้มแข็ง ประสานทรัพยากรเพื่อให้เข้าถึงมากที่สุด โดยต้องร่วมมือกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่ง กทม.มีผู้มีสิทธิ์ใช้บัตรทองถึง 3 ล้านใบ จึงต้องทำเรื่องปฐมภูมิให้ดีขึ้น เพื่อให้คนไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลด้วยการทำเส้นเลือดฝอยให้ดี อย่างเช่นระบบ เทเลเมด ที่ให้คนในชุมชนกับหมอติดต่อกันได้โดยไม่ต้องเดินทางมา เช่น มีรถโมบายเคลื่อนที่ไปเพื่อพูดคุยกับหมอที่โรงพยาบาล โดยสามารถจ่ายยาได้ แบบที่คนไข้ไม่ต้องเดินทางไป เพราะมีฐานข้อมูลอยู่ เพื่อลดการแออัดในโรงพยาบาล รวมถึงขยายเตียงมาที่บ้านเพื่อให้เป็นส่วนนึงในระบบสาธารณสุข โดยเอาระบบเทเลเมดไปช่วย ซึ่งสามารถทำได้เลยไม่ต้องลงทุนมาก ดังนั้นเรื่องระบบสาธารณสุขถือเป็นเรื่องแรกที่ต้องทำ โดยดูบทเรียนจากโควิดที่ผ่านมาโดยเอาเอกชนมาเป็นตัวช่วย อย่าคิดว่ารัฐเก่งคนเดียว

ส่วนเรื่องที่ 2 คือเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ SMEs แต่ กทม.ไม่สามารถช่วยเหลือพิเศษได้ เพราะการช่วยเหลือหลักต้องมาจากรัฐบาลกลาง ที่ต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้คนที่อยู่ใน กทม. เช่นต้องไม่เป็นภาระของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการขอใบอนุญาต รวมถึงเรื่องความไม่โปร่งใสที่ต้องตัดให้หมด ประชาชนจำนวนมากไม่มีที่ทำกิน ที่ต้องดูต่อว่าเราจะสามารถจัดหาพื้นที่ให้ได้หรือไม่ หรือจัดถนนบางเส้นเสาร์-อาทิตย์ มาทำตลาดคนเดินได้หรือไม่ เพราะประชาชนไม่สามารถเข้าถึงที่ทำมาหากินได้ หรือใช้เทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์ม มาช่วยได้หรือไม่ โดยต้องทำเรื่องอากาศ ทางเดินเท้า สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

นายชัชชาติ ยอมรับว่า บทบาทในอดีตของการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อต้องกลายมาเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะ กทม. ไม่สามารถใส่แว่นวิศวะดูได้ เพราะหากใส่ปุ๊บ จะเห็นคำตอบเป็นเมกะโปรเจกต์เต็มไปหมด แต่ กทม.ไม่ใช่มีแค่นั้นเพราะยังมีเรื่องการศึกษา สาธารณสุข มีเรื่องคุณภาพชีวิต สภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม

“เราต้องใส่แว่นหลายสี หรือ มัลติคัลเลอร์ เลนส์ เพราะต้องใส่แว่น สังคมศาสตร์ การศึกษา ที่ต้องเอาแนวร่วมในมติอื่นๆ มาช่วยงาน มากกว่างานด้านคมนาคม”

แล้วใครเป็นคนเชียร์ให้มาลงผู้ว่า?

นายชัชชาติ บอกเราอย่างตรงไปตรงมาว่า มีหลายคนเชียร์ให้มาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. คุณแม่ตนเองก็เชียร์เช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลก เพราะปกติคุณแม่ไม่ต้องการให้ทำการเมือง แต่เป็นเพราะเป็นงานที่ไม่ต้องขัดแย้งทางการเมืองมาก แต่เป็นงานที่ต้องรับใช้ประชาชน จึงคิดว่าตนเองน่าจะทำได้ในความสามารถของตนเอง และถือเป็นงานที่มีความสุข สนุกเวลาเจอคน เพราะเมื่อไปทำงานการเมืองรู้เลยว่างานที่เบื่อคืองานที่ต้องแก้กฎหมาย ที่ไม่ค่อยเป็นงานที่ถูกใจ เพราะตนเองชอบงานที่ลงไปเจอผู้คน เช่น ไปขึ้นรถเมล์ แต่งาน กทม.ก็มีเกี่ยวข้องกับสภา แต่ยังเป็นเรื่องที่ช่วยผู้คน ซึ่งถือว่าถูกใจตนเอง และค่อนข้างทำได้เต็มที่ อีกทั้งช่วงนั้นเป็นช่วงจังหวะเวลา ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็คิดว่าน่าจะมีการเลือกผู้ว่าฯ กทม.เลย จึงมีการเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งผ่านมาแล้ว กว่า 2 ปี จึงทำให้ลากยาวมาถึงปัจจุบัน

“ผลโพลแม้จะเป็นที่ 1 แต่จะไปยึดถือมากก็ไม่ได้”

นี่คือคำที่นายชัชชาติบอกกับเรา แต่เจ้าตัวยอมรับว่าถือเป็นกำลังใจที่ดีให้ทีมงาน เพราะอย่างน้อยไม่ทำให้ทีมเดินไปผิดทางมาก มีคนพูดถูกอาจเป็นเพราะว่าตนเองเปิดตัวก่อน เริ่มตั้งแต่ไก่โห่ เลยทำให้ชื่อติดโพล แต่โพลไม่ได้มีผลหรือทำให้เราเชื่ออะไรมาก

จะลบภาพจากพรรคเพื่อไทยอย่างไร แม้จะลงในนามอิสระ

นายชัชชาติ กล่าวแบบยืดอกว่า ไม่จำเป็นต้องลบภาพนั้นออก เพราะเป็นข้อเท็จจริง หากไม่มีเพื่อไทยที่ให้ชัชชาติเป็นรัฐมนตรี คงไม่มีชัชชาติที่ยืนอยู่ตรงนี้ และอาจจะยังคงเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยจนเกษียณ จึงถือเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิเสธ และถือเป็นสิ่งที่ภูมิใจที่ทำให้มาสู่การเมืองจากพรรคเพื่อไทย แต่พอมาเล่นบทการเมืองท้องถิ่น จึงต้องมาดูว่าอะไรเหมาะสมกับการทำงานมากที่สุด ซึ่งเราก็เชื่อว่าการเป็นอิสระรับใช้ประชาชนได้ดีกว่า เพราะหลายประเทศก็ลงในนามอิสระ สุดท้ายแล้วแต่ความเชื่อของคน เพราะจะบังคับให้ใครเชื่อหรือไม่ได้ แต่อิสระคือไม่ต้องรับนโยบายและทรัพยากรจากพรรค แต่ความสัมพันธ์ในแง่เพื่อนยังมีอยู่ อีกทั้งยังเป็นความคล่องตัว ที่ไม่มีเรื่องความขัดแย้ง ขณะเดียวกันการไม่ลงในนามพรรคก็เป็นเรื่องที่เหนื่อยเพราะไม่มีฐานเสียงจากคนที่นิยมชมชอบพรรคอยู่

“การลงอิสระไม่ได้เป็นประโยชน์ เพราะบางคนก็แพ้ มีจำนวนมาก จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่การลงอิสระหาแนวร่วมได้มากกว่าเพราะหลายคนอยากทำงานเมือง แต่เบื่อการเมืองซึ่งถือเป็นจุดแข็ง”

ไม่ได้แข่งกับใคร เพราะเราแข่งกับตัวเอง

เมื่อถูกถามว่า สถิติในอดีตที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ทั้งสิ้น นายชัชชาติ ยืนยันว่า การลงสมัครครั้งนี้ไม่ได้มาแข่งกับประชาธิปัตย์หรือใคร เพราะเป็นการแข่งการหาSolution (การแก้ปัญหา)อยู่ที่ประชาชนจะเลือกใคร ประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาก็มีคะแนนนิยมมากเพราะทำพื้นที่กรุงเทพฯ มามาก ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเราแข่งที่ตัวเอง แข่งการหานโยบายให้ประชาชนมากกว่า สุดท้ายถ้าประชาชนไว้ใจเราก็ทำงาน ถ้าประชาชนไม่ไว้ใจก็ไม่เป็นไร เราก็ทำเต็มกำลัง ไม่ว่าคู่ต่อสู้เป็นใคร ไม่ว่าจะเปิดตัวกี่คน เราก็ทำแคมเปญไปอย่างนี้

ส่วนโค้งสุดท้ายที่จะโน้มน้าวคนมาเลือกเรา คือความไว้ใจ เพราะนโยบายมันพูดได้หมด แต่สุดท้ายแล้ว หัวใจคือประชาชนตัดสินใจ เราจะพยายามสร้างตรงนี้ ว่านโยบายเราทำได้จริง คือโจทย์ใหญ่ของทีมเรา โดยเราจะไม่สัญญาเกินตัว

“การเปิดตัวของผู้สมัครคนอื่น ไม่ได้ทำให้รู้สึกกลัว มองว่าเป็นเรื่องที่คนตื่นตัวและทำให้กระแสโพลเพิ่มขึ้น การแพ้ชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญ เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องเอาเป็นเอาตาย แพ้ไม่ได้เสียหาย ชนะก็ไปทำงาน เพราะทีมที่ใช้คือทีมอาสาสมัคร ไม่ได้ขาดทุนอะไร ซึ่งจะบอกน้องในทีมเสมอว่ามาทำงานกับทีมเราแล้วต้องสนุก ไม่ต้องกลัวแพ้ เพราะคู่แข่งมากยิ่งคึกคัก มีสีสัน คนจะนึกถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มากขึ้น และอาจจะนึกถึงตนเองบ้างบางส่วนแม้จะยังไม่มีป้ายหาเสียงเลย”

ทำไมจึงบอกว่าถ้าแพ้แล้วจะไม่ลงการเมืองอีก?

นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นเพราะมองว่าประชาชนตัดสินใจแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะทิ้งประชาชน หรือ สาธารณะแต่มีงานอื่นที่ช่วยคนได้ เช่นการทำมูลนิธิ งานชุมชน งานเอกชน อย่าไปคิดว่าโลกขาดเราไม่ได้ เพราะหากตนเองไม่เล่นการเมืองก็มีคนรุ่นใหม่ และมีคนเก่งๆเข้ามาอีกมาก ถือเป็นสิ่งที่ดี

“อย่าไปยึดติด เพราะถึงจุดนึงก็ต้อง Move on หากถึงวันนั้นจริงๆ ก็ไม่เสียดาย เพราะหากเสียดายอดีต อนาคตเราจะเดินต่อไปไม่ได้ อีกทั้งที่ผ่านมาก็เป็นบทเรียน”

หลายคนบอกงานการเมืองเป็นงานที่ช่วยเหลือคนได้มากที่สุด? นายชัชชาติ ยืนยันว่าไม่จริง เพราะโควิดที่ผ่านมาก็เห็น หลายกลุ่มที่ช่วยคน เช่น “เส้นด้าย” “เราต้องรอด” เพราะบางทีภาครัฐมีระเบียบมาก แต่เอกชนสามารถช่วยเหลือได้เลย มีความคล่องตัว และมีพลัง แต่ทั้ง 2 ภาคสำคัญและต้องช่วยกัน

ถ้าชนะแล้วต้องไปทำงานฝั่งรัฐบาล จะร่วมงานกันอย่างไร?

นายชัชชาติ ระบุว่า นี่ก็เป็นเหตุผลที่ลงในนามอิสระไม่ใช่พรรค เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาต้องถอดหัวโขนให้หมด งาน กทม. คือต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเราต้องทำ ต้องประสานงานกับทุกพรรคให้ได้ เพื่อประสานงานช่วยเหลือประชาชน เพราะต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะเข้าใจ และเรื่องประสานงานน่าจะไม่มีปัญหาอะไร

ลา “ยิ่งลักษณ์” ว่าจะมาลงผู้ว่าฯ แต่ “ทักษิณ” ไม่ได้คุยเพราะไม่สนิท

การตัดสินใจลงในนามอิสระ นายชัชชาติ ยืนกรานว่า ไม่ได้มีการปรึกษากับใคร แต่มีการแจ้ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตอนที่จะลาออกจากพรรคเพื่อไทย เพื่อมาลงผู้ว่าฯ กทม. เพราะเป็นคนชวนมาเป็นรัฐมนตรี จึงเดินตามหลักไทย ที่จะไปก็ลา จะมาก็ไหว้ แต่ไม่ได้ขออนุญาตลงในนามอิสระ เป็นเพียงการแจ้ง ตามธรรมดาที่รู้จักกันและเคารพนับถือกัน จากนั้นก็ไม่ได้พูดคุยกันอีก มีแค่ทักทายสวัสดีปีใหม่ และคุยเรื่องลูกบ้าง เพราะลูกชายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็รุ่นราวคราวเดียวกับตนเอง

ส่วนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้พูดคุยเช่นเดียวกัน แต่อาจจะมีการส่งสติกเกอร์มาแฮปปี้ นิวเยียร์ บ้าง ซึ่งคาดว่านายทักษิณน่าจะส่งให้เป็นพันคน ก็เลยมีมาถึงตนเองด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา พร้อมย้ำว่าไม่ได้สนิทสนมกับนายทักษิณ เพราะตนเองอยู่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์

ผู้เขียน : Supattra.l

กราฟิก : Varanya Phae-araya