- โค้งท้ายเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่ จตุจักร ส่อเดือด ทุกพรรคปลัดกลยุทธ์ งัดไม้เด็ด หวังมัดใจประชาชน เร่งตีปี๊บเดินลงพื้นที่ เข้าหาคนชุมชน
- เปิดหน่วยทหารในเขตหลักสี่ จตุจักร พบทหารและครอบครัวที่มีสิทธิ์เลือกตั้งซ่อมได้หลายหมื่นชีวิต มีทั้งหน่วย บก.ทัพไทย กองทัพบก สำนักปลัดฯกลาโหม เชื่อเป็นเสียงตัวแปร ที่หากเทให้พรรคใดมีผลถึงคว้าเก้าอี้ได้
- ผู้สมัครจาก 4 พรรคทั้ง พลังประชารัฐ เพื่อไทย พรรคกล้า ก้าวไกล ต่างชูนโยบายการแก้ปัญหาปากท้อง การเข้าถึงประชาชนเป็นจุดขาย ถือว่ายังเบียดกันได้สูสี
เข้าสู่โค้งท้ายเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 "หลักสี่-จตุจักร" ส่อเค้าดุเดือด เพราะแต่ละพรรคหมายมั่นปั้นมือ ต้องการคว้าเก้าอี้ให้ได้ในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ เจ้าของเก้าอี้เดิม เดินสู้ยิบตา ทำให้ผู้สมัครจากค่ายอื่น ต้องทำการบ้าน แก้เกม ปรับกลยุทธ์ งัดไม้เด็ดเพื่อมัดใจพี่น้องคนพื้นที่ โดยเร่งนำนโยบายเข้าถึงประชาชน พร้อมเปิดกว้างรับฟังปัญหา นำมาแก้เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง
ในส่วนพรรคพลังประชารัฐ ที่ส่ง "มาดามหลี" สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยา สิระ เจนาคะ ผู้สมัครหมายเลข 7 ลงสู้ศึกเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ โดยปล่อยไม้เด็ดการเดินเข้าถึงทุกพื้นที่ และเข้าไปรับทราบปัญหาเพื่อนำจุดที่ขาดมาต่อเติมดูแลพี่น้องประชาชน โดยชี้ให้เห็นพรรคได้ทำมาต่อเนื่องและทั่วถึง พร้อมลุยตลาดสด พบพ่อค้า แม่ค้า อ้อนขอโอกาสได้กลับเข้ามาเดินหน้าทำงาน โดยสัญญาจะพัฒนาพื้นที่หลักสี่ จตุจักรให้ดียิ่งขึ้น โดยมี "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะ "หัวหน้าพรรค" ที่เดินเกมลงพื้นที่ช่วยหาเสียง พร้อมรัฐมนตรี กรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ของพรรค ที่ช่วยหาเสียงถี่ในโค้งท้ายนี้ เพื่อตอกย้ำความมั่นใจศึกครั้งนี้แพ้ไม่ได้
...
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ส่ง "สุรชาติ เทียนทอง" ลูกชาย "ป๋าเหนาะ" เสนาะ เทียนทอง ผู้สมัครหมายเลข 3 ที่มุ่งมั่น ขยันลงพื้นที่เดินเข้าถึงคนหลักสี่ จตุจักร แบบเคาะประตูบ้าน โดยย้ำความมั่นใจ ว่าจะคว้าเก้าอี้กลับคืนสู่พรรคเพื่อไทยได้ เพราะตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ "สุรชาติ" ไม่ได้ทำหน้าที่ผู้แทน แต่กลับใช้เวลาลงพื้นที่เกาะติดสนามเขตนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนได้แต้มต่อคะแนนนิยมตัวเองและพรรค เริ่มแซงหน้าพรรครัฐบาลแล้ว โดยชี้ปัญหาของรัฐบาลประยุทธ์ ที่ทำให้ประชาชนตกงาน ขาดรายได้ ยิ่งการแก้ปัญหาโควิด-19 และอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หมูราคาแพง ไม่เข้าเป้า ถูกมองว่า "แพงทั้งแผ่นดิน" จนได้ใจพี่น้องในเขตนี้
ส่วนพรรคกล้าที่ ได้ "อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี" เลขาธิการพรรคกล้า อดีต ส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่นี้มาก่อน ลงเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ได้หมายเลข 2 จึงนับเป็นการเดิมพันสูงของพรรค ที่กล้าส่ง "เลขาฯพรรค" ลงสู้ศึก ไหนจะต้องเจอคู่ต่อสู้จากทั้งพรรครัฐบาล และพรรคเพื่อไทยที่มีจุดแข็ง และแรงเสียดทานเยอะ ดังนั้น "อรรถวิทย์" พยายามสร้างจุดขายด้วยนำการเมืองคุณภาพ บนหลักข้อเท็จจริง ความถูกต้อง และขยันลงพื้นที่ให้ถี่ เพราะยังมีคะแนนจากฐานเดิมอยู่ไม่น้อย
ด้านผู้สมัครพรรคก้าวไกลส่ง "กรุณพล เทียนสุวรรณ" หมายเลข 6 ที่ลงมาสร้างสีสันได้มาก เพราะความเป็นดาราเก่า แต่หน้าใหม่ในสนามการเมืองลงสู้ศึก ก็ยังมีกลุ่มคน แฟนคลับ ที่พอจะเท่หัวใจให้ จึงนับว่า "พรรคก้าวไกล"เปิดกลยุทธ์ได้ดีพอสมควร รวมทั้งเสียงจากคนรุ่นใหม่ คะแนนต่อยอดจากฐานเสียงกลุ่มวัยรุ่น และด้วยความขยันในการลงพื้นที่เพื่อพบประชาชน พร้อมเปิดกว้างรับฟังปัญหาพ่อค้าเเละเเม่ค้าในหลายตลาด โดยใช้วิธีการเดินทุกเช้า เข้าหาให้มาก และทำต่อเนื่อง จนได้เสียงตอบรับอย่างล้นหลาม พร้อมสร้างจุดขายเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลักดันนโยบายที่สำคัญต่อปากท้องประชาชน เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ที่สำคัญขอให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล ที่ร่วมต่อสู้เเละเคียงข้างประชาชนเพื่อที่เรียกคืนประชาธิปไตยกลับมาให้กับการเมืองไทย
ทั้งนี้การหาเสียงของผู้สมัครจากพรรคต่างๆ จนมาถึงช่วงโค้งท้ายของการหย่อนบัตรในวันที่ 30 ม.ค.65 พบว่าคะแนนผู้สมัครทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคกล้า และพรรคก้าวไกล ยังเบียดสู้กันได้สูสี เพราะหากนับเสียงประชาชน 2 เขต นำมารวมกันจะมีมากถึง 170,764 คน และมีหน่วยเลือกตั้งจำนวน 280 หน่วย แบ่งออกเป็น
1. เขตหลักสี่ จำนวน 122 หน่วย ประกอบด้วย แขวงทุ่งสองห้อง จำนวน 91 หน่วย (เป็นอาคาร 46 หน่วย เป็นเต็นท์ 45 หน่วย) แขวงตลาดบางเขน จำนวน 31 หน่วย (เป็นอาคาร 11 หน่วย เป็นเต็นท์ 20 หน่วย)
2. เขตจตุจักร จำนวน 158 หน่วย ประกอบด้วย แขวงลาดยาว จำนวน 68 หน่วย (เป็นอาคาร 35 หน่วย เป็นเต็นท์ 33 หน่วย) แขวงเสนานิคม จำนวน 31 หน่วย (เป็นอาคาร 5 หน่วย เป็นเต็นท์ 26 หน่วย) แขวงจันทรเกษม จำนวน 59 หน่วย (เป็นอาคาร 17 หน่วย เป็นเต็นท์ 42 หน่วย)
ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีจำนวนทั้งสิ้น 170,764 คน แบ่งเป็น
1. เขตหลักสี่ จำนวน 86,986 คน ประกอบด้วย แขวงทุ่งสองห้อง จำนวน 60,971 คน และแขวงตลาดบางเขน จำนวน 26,015 คน
2. เขตจตุจักร จำนวน 84,220 คน ประกอบด้วย แขวงลาดยาว จำนวน 34,420 คน แขวงเสนานิคม จำนวน 17,334 คน และแขวงจันทรเกษม จำนวน 32,466 คน
ขณะที่ เขตหลักสี่ และจตุจักร มีการวิเคราะห์ถึงเสียงตัวแปร ที่หากนำมานับรวมอาจสามารถบ่งชี้ถึงการแพ้ชนะได้ นั้นคือ หน่วยทหาร ใน 2 พื้นที่ ที่มี "ค่ายทหาร" จำนวนมาก ซึ่งหากนับผู้ที่มาสามารถใช้สิทธิ์ตามทะเบียนบ้าน ในเขตทหาร รวมถึงครอบครัวทหาร ก็ถือว่าเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายได้เช่นกัน เพราะหากมีการนำเสียงทั้งหมดเทให้กับผู้สมัครคนใด จากพรรคใด ก็อาจถึงขั้นคว้าเก้าอี้ไปกอดได้เลย
จนมีหลายพรรคการเมืองต้องออกมาร้องตามสิทธิ์ หลักประชาธิปไตย ให้ได้ยินไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม พร้อมยื่นหนังสือขออนุญาต "กองทัพบก" เพื่อขอเข้าไปหาเสียงในค่ายทหาร เพราะมองว่าการเปิดพื้นที่เข้าไปหาเสียงถือเป็นสิทธิทางประชาธิปไตย ไม่ใช่ความได้เปรียบเสียเปรียบ "กองทัพ"ไม่ควรตัดโอกาสในการให้บุคลากรของหน่วยได้ฟังนโยบาย
เพราะเชื่อว่าผู้ที่รับราชการ ผู้ที่แต่งเครื่องแบบทหาร ก็มีความต้องการกองทัพทันสมัย ต้องการนำกองทัพสู่การปฏิรูป เพื่อนำไปสู่การเป็นทหารอาชีพ เพิ่มสวัสดิการทหาร ลดจำนวนนายพลลง และยกเลิกการบังคับทหาร สิ่งที่หวังคือ กองทัพควรมีหน้าที่สนับสนุนประชาธิปไตย ไม่ใช่ปิดประตูประชาธิปไตยด้วยข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น
กระทั่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ต้องออกมากำชับสั่งทุกเหล่าทัพ ให้วางตัวเป็นกลางทางการเมือง และยึดการปฏิบัติตามกฎหมายในการสนับสนุนการเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นทั้งในพื้นที่ กทม.โดยให้หน่วยทหารในพื้นที่พิจารณาสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยด้วยความเป็นธรรมกับผู้สมัครทุกพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน ในการนำเสนอนโยบายกับชุมชนในหน่วยทหารตามความเหมาะสม เมื่อมีการร้องขอ พร้อมขอให้รณรงค์และสร้างความตื่นตัวกับกำลังพลและครอบครัว รวมทั้งชุมชนรอบหน่วยทหาร ได้ร่วมออกไปใช้สิทธิ์ตามวิถีประชาธิปไตยในการเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นตามกำหนดโดยถ้วนหน้ากัน
พร้อมวางกรอบแนวทางสำหรับกองทัพให้เหล่าทัพในการสนับสนุนการเลือกตั้งซ่อมเขต 9 กทม. โดย สนับสนุนคน สถานที่ ยานพาหนะและการประชาสัมพันธ์ ในกรณีที่มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งขอเข้ามาหาเสียงในหน่วย ทางหน่วยต้องแจ้งไปที่คณะกรรมการเลือกตั้งจังหวัด เพื่อให้ประกาศเชิญชวนให้พรรคการเมืองเข้ามาทำการหาเสียง และจะจัดพื้นที่กลางเพื่อให้ทุกพรรคการเมืองเข้ามา บอกกล่าวถึงนโยบายของพรรคตัวเอง และมีการจัดคิวเข้ามาพรรคการเมือง
"กองทัพต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยให้กำลังพล ครอบครัวออกมาใช้สิทธิ์ มีสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนน ไม่จำกัดสิทธิ และแต่ละหน่วยจะต้องทำตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้ และไม่เอนเอียงไปพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ทหารมีความเป็นกลางทางการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ เราทำได้ในแง่รณรงค์ให้กำลังพลและครอบครัวในการใช้สิทธิ์ของตนเองมากที่สุด ไม่ให้นอนหลับทับสิทธิ์"
ขณะที่พื้นที่เลือกตั้งซ่อม หลักสี่ จตุจักร เมื่อสำรวจพบว่ามีทหารอยู่หลายหน่วยด้วยกัน ประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย มณฑลทหารบกที่ 11 พัน.ร.มทบ.11 กรมยุทธโยธาทหารบก กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 1 กรมยุทธบริการทหาร สำนักงานแพทย์ทหาร กรมยุทธบริการทหาร สำนักงานยุทธโยธาทหาร สำนักสวัสดิการทหาร
สำนักงานสนับสนุน สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สำนักโยธาธิการ สำนักงานสนับสนุน สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานแพทย์ สำนักงานสนับสนุน สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
นอกจากนี้ยังมีบ้านพักข้าราชการทหาร แฟลตทหาร ในส่วนกองทัพไทย กองทัพบก และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม อีกหลายหมื่นครอบครัวที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ในครั้งนี้
จุดนี้เองจึงเป็นคะแนนเสียงที่สามารถเป็นตัวแปร หากเทคะแนนเสียงทั้งหมดให้กับพรรคใด พรรคหนึ่ง ซึ่งก็จะถือเป็นความได้เปรียบที่สามารถนำไปสู่ชัยชนะให้กับผู้สมัครได้
กระทั่ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ระบุ ได้ย้ำหน่วยทหารในพื้นที่เขตเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. ในเขตหลักสี่ จตุจักร ให้ทุกหน่วยปฏิบัติตามแนวทางของกองทัพบกในการสนับสนุนการเลือกตั้งในทุกระดับ ด้วยการวางตัวเป็นกลาง ทางการเมือง และสนับสนุนกำลังพลไปใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ
"โดยขอให้กำลังพลทุกคนไปทำหน้าที่ในฐานะประชาชน เมื่อไม่ได้สวมเครื่องแบบก็ไปทำหน้าที่ประชาชนตามรัฐธรรมนูญ คือ การไปเลือกตั้ง แต่ในการเลือกตั้งจะต้องเลือกตามที่ตนเองต้องการ ต้องไม่มีการชี้นำ ได้เน้นย้ำผู้บังคับหน่วยไปว่าห้ามมีการชี้นำ เพียงแต่ถ้ากำลังพลมาถามว่าจะเลือกใครดีก็สามารถอธิบายได้ว่าคนไหนเป็นอย่างไร คนไหนเหมาะสม หรือคนไหนมีคุณสมบัติดีก็ว่ากันไป แต่การเลือกตั้งเป็นเรื่องของแต่ละคน เพราะเมื่ออยู่ในคูหาจะไปบังคับเขาไม่ได้ และเดี๋ยวนี้บังคับกันไม่ได้อยู่แล้ว"
สิ่งที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้กำชับเมื่อการประชุม ผบ.นขต.ทบ. โดยย้ำและขอเตือนผู้บังคับบัญชาว่าอย่าไปชี้นำ เพราะบางทีฝั่งที่ไม่ปรารถนาดีก็จะนำไปจุดประเด็นว่าทหารชี้นำ ผมบอกแล้วว่าทหารไม่มีผลประโยชน์กับการเลือกตั้ง และไม่มีประโยชน์ที่จะไปชี้นำ ประสบการณ์ตรงนี้คือห้ามชี้นำ แต่ต้องเชิญชวนให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่พลเมืองของประเทศไทยตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพียงขอให้ทุกคนพิจารณาเลือกคนดี และคนที่มีความคิดดีเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทน
ขณะที่ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ย้ำให้ทุกหน่วยไปกำชับกำลังพลและครอบครัววางตัวเป็นกลางทางการเมือง และมีสติในการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมทั้งให้ความร่วมมือสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งให้เกิดความเรียบร้อยและเกิดความยุติธรรม รวมทั้งต้องทำทุกอย่างให้เกิดความเท่าเทียมกันในทุกพรรคการเมือง ให้กำลังพลสนับสนุนการเลือกตั้ง โดยออกไปใช้สิทธิตามหน้าที่ของพลเมืองไทย
ดังนั้นเมื่อเทียบฟอร์มของผู้สมัครแต่ละคน ถือว่าต่างมีจุดเด่น และพรรคมีส่วนช่วยเป็นองค์ประกอบ แต่ใครจะได้รับการเลือกตั้งในเขตนี้แท้จริงอยู่ที่ประชาชนเป็นผู้ใช้สิทธิ์ ที่มองถึงเรื่องการเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้ หรือเป็นตัวแทนในการนำความเจริญ และมาพัฒนาในพื้นที่ได้อย่างจริงจัง แต่สิ่งอื่นใดก็ห้ามกะพริบตาในเสียง "ตัวแปร" นั้นคือ เสียงจากหน่วยทหาร ว่าจะถูกเทให้คนใด พรรคไหน ก็อาจเป็นตัวชี้วัด "แพ้-ชนะ" ได้เช่นเดียวกัน
ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว
กราฟิก : sathit chuephanngam