ไม่อยากปล่อยผ่านไปกับเนื้อหาสาระที่น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศ ในวงเสวนา “From Strategy to Execution” ภายในงาน “NDC Leadership Talk Series” ครั้งที่ 1 ที่จัดโดย วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เมื่อไม่กี่วันก่อน
มีวิทยากร 3 ท่านที่มาร่วมพูดคุย คือ นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ นายโจ ฮอร์น พัธโนทัย ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน
ผมขอสรุปเนื้อหาใจความสำคัญที่พูดคุยกันในวันนั้น เป็นการพูดถึงรัฐไทย ระบบราชการไทย
เริ่มที่คุณวิรไท ที่ชี้ว่าวันนี้โลกเราอยู่ในภาวะที่คาดเดาอนาคตได้ยากขึ้นเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่า VUCA (V-Volatility ความผันผวน ,U-Uncertainty ความไม่แน่นอน ,C-Complexity ความซับซ้อน และ A-Ambiguity ความคลุมเครือ) มีความซับซ้อนและความไม่แน่นอนสูงมาก
แต่การจัดทำแผนบริหารที่ผ่านมา ยังคงรูปแบบเดิมๆเป็น baseline หรือฉากทัศน์กลาง หรือฉากทัศน์มาตรฐาน คือยึดติดอยู่กับรูปแบบเก่าๆ ทั้งที่ควรจะมี scenario ปรับตัวให้เท่าทันกับฉากทัศน์ต่างๆได้ ทุกแผนหรือยุทธศาสตร์ที่จะทำ ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคน จึงจะได้ outcome ที่ต้องการ
คุณวิรไทยังมองระบบราชการว่า ทุกวันนี้มีแต่จะใหญ่โตขึ้น จนทำให้เกิดภาระฐานการคลัง ยิ่งระบบราชการใหญ่ขึ้น ยิ่งต้องเพิ่มหน่วยงาน ออกกฎหมายมาสนับสนุน
กลายเป็นข้อจำกัดของภาคเอกชน สังคม และการพัฒนานวัตกรรม
“รัฐบาลของไทยใหญ่มาก และเป็นรัฐบาลที่รวมศูนย์มากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น ส่วนราชการ เมื่อก่อนมีอธิบดี และมีรองอธิบดี 2-3 ท่าน แต่วันนี้มีอธิบดี อาจมีที่ปรึกษาระดับ 10 อีก 2-3 ท่าน มันเป็นส่วนราชการหัวโต และทุกคนก็ต้องพยายามทำให้ตัวเองมีงาน จึงทำให้มีงานที่ไม่จำเป็นอยู่เยอะ
...
ถ้าปล่อยให้ระบบราชการโตแบบนี้ไปเรื่อยๆ ภาระการคลังของประเทศ จะมีปัญหาแน่นอนในอนาคต ที่สำคัญจะมีผลข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายที่เกินพอดี หรือมีกฎเกณฑ์กติกาการขออำนาจ ขอใบอนุญาตที่เกินพอดี ทำให้ภาคเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าที่ควร”
ขณะที่นายปกรณ์ก็มองตรงกันว่า ภาครัฐของไทยมีขนาดใหญ่มาก และยังคงยึดติดกับวิธีทำงานแบบเดิม โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมาย
ทุกวันนี้กฎหมายไทยยังมีลักษณะ control system คือการควบคุมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลก
ยังต้องอนุมัติ อนุญาต กันตะบี้ตะบัน
ขณะที่ต่างประเทศเขาไปเรื่อง D-regulation (ลดการควบคุม) จนมาเป็น Better regulation และ Better Regulation for Better Life คือทำอย่างไรให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกันแล้ว
ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น จะทำแผนอะไรซักอย่าง ก็ร่างกฎหมายเป็นอันดับแรก เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง กฎหมายมันจำกัดสิทธิเสรีภาพคน และในทางตรงข้าม มันเป็นการขยายภารกิจของรัฐไปเรื่อยๆ
ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องมี เพราะมันไปจำกัด creativity หรือความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ
พร้อมยกตัวอย่าง มีครั้งหนึ่งตอนที่ยังอยู่ ก.พ.ร. มีเรื่องเสนอเข้า ครม.เกี่ยวกับแผนปฏิรูปประเทศ มีการขอตั้งหน่วยงานใหม่ 50 หน่วย เลยต้องเบรกให้ไปทบทวนด่วน ไม่เช่นนั้นประเทศมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง เพราะมีแต่ต้นทุน
ด้านคุณโจ ฮอร์น พัธโนทัย ร่วมสะท้อนมุมคิดการบริหารของจีนว่า จีนมีรัฐบาลกลางที่เล็กมาก และมีนโยบายห้ามเพิ่มหน่วยงาน-เจ้าหน้าที่ทุกระดับ เพราะแรงจูงใจที่ทำให้รัฐบาลอยากจะใหญ่ ก็คือเรื่องผลประโยชน์ การทำให้ภาครัฐเล็กลง นอกจากความคล่องตัวในการบริหารแล้ว ยังแก้ปัญหาทุจริตด้วย
ผมไม่รู้ว่าบทบรรยายนี้ จะนำไปผนวกในรายงานแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วยหรือไม่
หรือฟังกันแล้ว เข้าหูซ้าย ทะลุหูขวา.
เพลิงสุริยะ