โฆษกรัฐบาลสวนกลับ “พิธา” ยืนยัน “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งการเตรียมความพร้อมไปแล้วเรื่องรับมือการระบาดของโอมิครอน เหน็บอย่าทำตัวเหมือน “ธนาธร” ด้อยค่าวัคซีนแต่รีบไปฉีดก่อนเพื่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานที่ผ่านมา (7 ม.ค. 2565) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ถึงสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่ไทยกำลังเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 5 และมีการประกาศยกระดับมาตรการการป้องกันทางด้านสาธารณสุขเป็นระดับที่ 4 ว่า เวลานี้ประชาชนหลายท่านอาจยังมีคำถามมากมายและต้องการความกระจ่างเกี่ยวกับโอมิครอนว่าจะดูแลตัวเองและคนที่เรารักให้ปลอดภัยได้อย่างไร ซึ่งในมุมหนึ่งการแพร่ระบาดของโอมิครอนรวดเร็วที่สุดตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ในอีกมุมหนึ่งอาการเจ็บป่วยและอัตราการเข้าโรงพยาบาลที่น้อยลงก็เป็นสัญญาณให้ลดทอนความกังวลลงไปได้บ้าง

“ในเวลานี้ นี่คือสิ่งที่เรารู้จากรายงานของ UK Health Security Agency โอมิครอนนั้นแพร่กระจายได้เร็วกว่าเดลตา (Delta) 2-3 เท่า แต่ก็มีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา คนติดเชื้อโอมิครอนมีโอกาสเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่าคนติดเดลตา 2 เท่าเช่นกัน จากข้อมูลชุดนี้สามารถอนุมานได้ว่าการระบาดของโอมิครอนจะถล่มเข้าใส่ระบบสาธารณสุขของไทยได้รุนแรงมากกว่าหรือเท่ากับเดลตา”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

...

นายพิธา ระบุต่อไปว่า ตัวอย่างการระบาดของโอมิครอนในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าจะมีเด็กๆ ต้องเข้าโรงพยาบาลมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นการระบาดระลอกที่ผ่านๆ มา และเด็กๆ ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้นรัฐบาลต้องใช้สมมุติฐานว่าระบบสาธารณสุขจะเผชิญวิกฤติถาโถมเข้ามาในระดับเดียวกับช่วงการระบาดช่วงกลางปี 2564 และต้องเตรียมระบบสาธารณสุขให้พร้อมเพื่อไม่ให้ต้องมีคนไทยตายข้างถนนหรือตายคาบ้านอีก รัฐบาลมีบทเรียนจากการระบาดแล้วในหลายเรื่อง ตั้งแต่เตียงไม่พอ รถพยาบาลไม่พอ call center ไม่พอ ไปจนถึงการเบิกจ่ายงบประมาณซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เวลาหลายเดือน จนโรงพยาบาลรัฐต้องขอรับบริจาค ปัญหาในการบริหารการส่งคนไข้ข้ามสังกัดหน่วยงานรัฐ และปัญหาการสั่งให้ท้องถิ่นตั้ง Community Isolation ขึ้นมาโดยที่ไม่มีงบประมาณรองรับ

“ในเรื่องของการระบาดในเด็ก หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงทะเบียนฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ปี ที่กำลังดำเนินการอยู่ และ vaccine roll-out ที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. จะดำเนินการอย่างรวดเร็วและเป็นระบบเพื่อความปลอดภัยของคนที่เรารัก อย่างไรก็ตาม ในการใช้มาตรการต่างๆ จะต้องกำชับและระมัดระวังให้ดีว่าการฉีดวัคซีนจะต้องไม่ถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการกีดกันการเข้าถึงการเรียนรู้ของเด็กในโรงเรียนหรือเป็นมาตรการบังคับ แต่ควรเป็นเรื่องของการเน้นสร้างความเข้าใจ สมัครใจ และสามารถให้คำตอบแก่ผู้ปกครองและเด็กๆได้ ในเรื่องความปลอดภัยหรือข้อสงสัยอื่นๆที่สร้างความกังวลแก่พวกเขา”

ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล
ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล

ล่าสุดวันนี้ (8 ม.ค. 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงตอบโต้ นายพิธา โดยยืนยันว่ารัฐบาลได้ทำไปหมดแล้ว เพราะเป็นไปตามที่ ศบค. คาดการณ์ไว้ หากอ่านข่าวสารรอบด้านบ้างก็จะรู้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้เตรียมพร้อมไว้ก่อนแล้ว ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เตียง ยา และเวชภัณฑ์ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการรุนแรง หรือจัดอยู่ในผู้ป่วยระดับสีเขียว สามารถเข้ารับการรักษาในระบบ Home Isolation ส่วนผู้ที่ไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ จะเป็นการดูแลในระบบชุมชน หรือ Community Isolation ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อ สปสช. เพื่อเข้ารับการรักษาได้
 
ส่วนกรณีการฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ในช่วงเดือน ก.พ. โดยการฉีดจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างการสำรวจความสมัครใจ โดยสถานที่ฉีดจะใช้โรงเรียนเป็นจุดฉีดหลักร่วมกับจุดฉีดที่โรงพยาบาล อีกทั้งในปี 2565 รัฐบาลเตรียมจัดหาวัคซีนจำนวน 120 ล้านโดส เพื่อฉีดเป็นเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชน รวมถึงฉีดให้กับกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปีด้วย นอกจากนี้ ยังให้เตรียมความพร้อมทั้งเตียง ยา วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มเด็กให้มากที่สุดหากเกิดกรณีมีการติดเชื้อจำนวนมากอีกด้วย
 
“ยืนยันว่ารัฐบาลเตรียมแผนรับมือไว้ล่วงหน้าตามมาตรการของ ศบค. ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อในขณะนี้เป็นไปตามที่ ศบค.คาดการณ์ไว้ ที่สำคัญท่านนายกฯ ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมทรัพยากรสาธารณสุขไว้ล่วงหน้าด้วย ขณะที่การฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-11 ปี คาดว่าจะเริ่มในเดือน ก.พ. ดังนั้น ไม่อยากให้ นายพิธา ทำตัวเหมือน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ด้อยค่าวัคซีน แต่กลับรีบไปฉีดก่อนเพื่อน”