หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ปชป. แนะ รัฐ ยกเลิกจัดเก็บ "ภาษีคริปโต" ชี้ กฎหมายมีไว้เพื่อการพัฒนาไม่ใช่เพื่อการลงโทษ ย้ำควรส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย ไม่ใช่คิดแค่หารายได้ ขออย่าทำตัวเป็น "คุณพ่อแสนรู้"

วันที่ 8 ม.ค. 2565 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเสนอแนะภาครัฐ กรณีกฎหมายการจัดเก็บภาษีคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นประเด็นที่ร้อนแรงในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ทั้งในแง่ของความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และเจตนาของภาครัฐว่าต้องการส่งเสริมหรือสกัดกั้นสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทยกันแน่

"ข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐที่ผมพูดมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างเรื่องเว้นการจัดเก็บภาษีคริปโต วันนี้มันเริ่มร้อนแรงขึ้น แม้มันไม่ง่ายที่จะแก้ แต่ถ้าจะแก้มันก็ต้องแก้ อำนาจ รมว.คลังทำได้…และผมก็ได้พูดคุยเรื่องนี้กับ อธิบดีกรมสรรพากร ท่านก็ยินดีที่จะรับเรื่องไปพิจารณา คงจะเป็นการประชุมในวันจันทร์ที่จะถึงนี้…อธิบดีฯ เข้าใจถึงปัญหาการจัดเก็บ และจะพยายามปรับแก้ให้มันเหมาะสมได้" นายปริญญ์ ระบุ

โดยการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องนำกำไรส่วนต่างจากการถือ ครองหรือการโอน นำไปคิดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) เพื่อนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และยังต้องมีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไรที่ได้ กฎหมายนี้ออกมาตั้งแต่เดือน พ.ค.2561 แต่ในทางปฏิบัติยังทำได้ยาก โดยเฉพาะการคำนวณต้นทุน และการหัก ณ ที่จ่ายที่ไม่สามารถทำได้จริง
   
ตนเองจึงได้เสนอให้รัฐบาล "ยกเลิกการจัดเก็บภาษีคริปโต" พร้อมเหตุผล 3 ข้อ ที่ได้เดินหน้าผลักดันมาตลอดหลายปีตั้งแต่ก่อนจะมี พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2561 และได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเงินทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ ยืนยันจะเดินหน้าเข้าพูดคุยกับกระทรวงการคลังเพื่อหาทางออกให้เร็วที่สุด

...

"ถ้าจะแก้ต้องแก้ที่ การยกเว้นการจัดเก็บ ซึ่งการยกเว้นการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เป็นอำนาจรัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีคลังก็นำเสนอ ครม. ซึ่งเรื่องนี้ต้องเร่งทำก่อนจะเกิดผลกระทบเสียหายมากไปกว่านี้" 

พร้อมอธิบายเหตุผล 3 ข้อหลักๆ ดังนี้
1. การยกเลิกจัดเก็บภาษีคริปโต จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ลงทุนในตลาด
2. ป้องกันคนเก่งสมองไหล และช่วยสนับสนุน GDP ประเทศ
3. กฎหมายต้องมีไว้เพื่อการพัฒนา ไม่ใช่เพื่อควบคุมและลงโทษคนทำผิด

"ภาครัฐไม่ควรที่จะทำตัวเป็นคุณพ่อแสนรู้ มันไม่เหมาะสมที่จะทำตัวเป็นนักกฎหมายยุคเก่า คิดแต่จะออกกฎหมายมาควบคุม มากจนเกินควร คุณต้องเปิดให้นวัตกรรมมันเติบโตไปก่อน เพราะยังไงกฎหมายก็ไม่มีทางตามทันอยู่แล้ว"

พร้อมกล่าวต่อว่า ต้องปล่อยให้ตลาดเติบโตได้เต็มที่ก่อน ภาครัฐค่อยเข้ามาควบคุมในระดับที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่การตัดสินใจกระโดดเข้ามากำกับควบคุมอย่างฉับพลัน เพียงเพราะเห็นว่าเกิดกระแสความนิยมในเทคโนโลยีนั้นๆ  อย่างมาก ซึ่งการทำแบบนี้มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในอดีต ยุคของ ICO ปี 2561 ที่กำลังเติบโต เอกชนเริ่มจะสนใจระดมทุนด้วยแนวทางนี้ ขณะนั้นภาครัฐก็ได้เร่งออก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ที่สุดแล้วตลาดการระดมทุนแบบ ICO ก็ชะงักลง สตาร์ทอัพหันไประดมทุนในต่างประเทศแทน