โฆษกรัฐบาลเผย “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งหน่วยงานหามาตรการระยะสั้น-ยาวช่วยเหลือประชาชน แก้ไขปัญหาราคาอาหารสูงขึ้น ลดภาระและค่าใช้จ่าย ชี้ การปรับตัวของราคาเป็นตามกลไกตลาดโลก

วันที่ 8 ม.ค. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์และห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารซึ่งปรับตัวสูงขึ้นในหลายประเภท จึงกำชับสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำกับดูแลราคาสินค้าช่วยเหลือประชาชนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและควบคุมได้

ทั้งนี้ การปรับตัวของราคาเป็นไปตามกลไกตลาดอาหารโลก ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีราคาอาหารโลก (FAO Food Price Index : FFPI) ที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า ค่าเฉลี่ยของราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่มีการซื้อขายมากที่สุดทั่วโลกในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 125.7 ซึ่งเพิ่มขึ้น 28.1% จากปี 2563 และเป็นระดับสูงสุด นับตั้งแต่เมื่อปี 2554 ซึ่งเคยสูงถึงร้อยละ 131.9
 
ขณะเดียวกัน รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศไทย ยังชี้ให้เห็นว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยค่าเฉลี่ยของปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1.23 และในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 2.42 โดยราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด เช่น ราคาของเนื้อสุกร ซึ่งเป็นผลกระทบจากต้นทุนการเลี้ยง (อาหารสัตว์ ยารักษาโรค) เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาโรคระบาดในสุกรและมาตรการลดความเสี่ยงโดยการจำกัดจำนวนการเลี้ยงที่ทำให้ปริมาณสุกรในระบบลดลง 

นายธนกร ระบุต่อไปว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวรัฐบาลได้ยกระดับมาตรการขั้นสูงสุดในการควบคุมราคาอาหารสด รวมถึงกรณีหมูแพง โดยราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2565 เรื่อง ห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักร และประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 เรื่อง การแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร กำหนดห้ามมิให้ส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรทุกกรณีเป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. 2565 เพื่อให้ปริมาณสุกรและเนื้อสุกร มีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ
 
“ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน โลกกำลังเผชิญทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการขาดแคลนอาหาร ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น นายกฯ ได้กำชับและสั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามและออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับประชาชนอย่างเร่งด่วน ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว บูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ และเพื่อความยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

...