นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โพสต์ลงเฟซบุ๊ก 2 มกราคม คุยถึงผลงานในปีที่ผ่านมา เช่น การฉีดวัคซีน การเปิดประเทศ โครงการคนละครึ่ง โครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี โครงการประกันราคาข้าว ซึ่งใช้เงินภาษีไปหลายแสนล้านบาท แล้วก็ตบท้ายว่า “ตั้งเป้าให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือนให้สำเร็จให้ได้” โดยได้สั่งการให้ กระทรวงศึกษาฯ ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งดำเนินการตามแนวทางที่วางไว้ ทั้ง การยุบยอดหนี้ การปรับลดค่าธรรมเนียม ปรับปรุงระบบการตัดเงินเดือน การพักชำระหนี้ การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น โดยให้มีเงินเหลือใช้ไม่ต่ำกว่า 30% ของเงินเดือน

ก็ถือเป็นความตั้งใจดีของนายกฯ แต่ไม่มีรายละเอียดว่าจะแก้หนี้ครัวเรือนทั้งระบบให้หมดไปใน 1 ปีได้อย่างไร ผมไม่เชื่อว่า
นายกฯคนนี้จะทำได้สำเร็จ

หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 จากการแถลงของ คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ของจีดีพีทั้งประเทศ ลดลงจาก 90.6% ในไตรมาสก่อนเนื่องจากเศรษฐกิจมีการขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน แต่ก็ยังถือว่าหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

นอกจากหนี้ครัวเรือนเพิ่มแล้ว ความยากจนของคนไทยก็เพิ่มขึ้นด้วย สภาพัฒน์ได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ความยากจนของคนไทยว่า หากความช่วยเหลือจากรัฐบาลหมดลง เศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้น สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ปี 2565 คนจนจะเพิ่มขึ้นเป็น 11.02 ล้านคน ขณะที่ ความเหลื่อมล้ำจากวิกฤติโควิด-19 (ไม่รวมความช่วยเหลือจากรัฐ) จะถอยหลังไปถึง 7 ปี ทำให้ครัวเรือนต้องนำเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อการบริโภค

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลของ สภาพัฒน์ ที่ผมนำรายงานให้นายกฯทราบ เกรงว่าจะโพสต์ไปโดยไม่ทันคิด สิ่งที่โพสต์จะกลายเป็นสัญญา ประชาคมมัดตัวนายกฯเอง

...

ถ้าพลิกไปดูหนี้ครัวเรือนไทยที่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำไว้ทุกปี จะเห็นข้อมูลชัดเจนว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมหาศาลเกิดขึ้นในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ จากการปฏิวัติยึดอำนาจในช่วง 7 ปีเศษ ปี 2558 ปีแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะ 3 ป.ขึ้นครองอำนาจ หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 49.1% ของจีดีพี อีกสองปีต่อมา 2560 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 50.7% ของจีดีพี จนมาถึง ไตรมาส 3 ปี 2564 หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 89.39% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 40.2% เกือบเท่าตัวเลยทีเดียว เป็นการเพิ่มที่รวดเร็วมาก

แต่หนี้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2563-2564 เกี่ยวเนื่องจากการปิดกิจกรรมเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อความยุติธรรม คิดหนี้ครัวเรือนแค่ปี 2562 ก่อนเกิดการระบาด 4 ปี ภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นจาก 49.1% ของจีดีพีในปี 2558 เป็น 78.7% ของจีดีพีในปี 2562 เพิ่มขึ้นถึง 29.6% คิดเป็นมูลหนี้กว่า 13 ล้านล้านบาท ไม่มีปีไหนที่หนี้ครัวเรือนไทยลดลงเลย มีแต่เพิ่มขึ้นทุกปี ไม่รู้บริหารประเทศกันยังไง คนไทยจึงยากจนลงทุกปี แต่คนรวยกลับรวยขึ้นทุกปี

แบงก์ชาติ เคยทำรายงานเรื่อง ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย เมื่อปลายปี 2562 พบว่า เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม จัดให้ความ
ไม่เสมอภาค หรือ ความเหลื่อมล้ำของไทยสูงเป็นอันดับ 26 ของโลก สูงกว่า เวียดนาม ซึ่งอยู่อันดับที่ 29 สิงคโปร์ อันดับที่ 36 ความแตกต่างของรายได้ ระหว่าง ประชากรหัวแถว 20% กับ ประชากรท้ายแถว 20% แตกต่างกันถึง 10.3 เท่าในปี 2558 วันนี้ผ่านไป 6 ปี ความเหลื่อมล้ำอาจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวตามหนี้ครัวเรือนก็ได้

ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า จะแก้หนี้ครัวเรือนสำเร็จในปี 2565 ผมจึงไม่เชื่อ แค่ลดหนี้ครัวเรือนลงสัก 1-2% ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว อย่าไปคุยโม้เว่อเกินไป อายเค้า.

“ลม เปลี่ยนทิศ”