สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พาทีมลงพื้นที่บางกอกน้อย แจงปมดราม่า แนวคิดถมเตตระพอด ป้องกันน้ำทะเลหนุน เกิดจากลงพื้นที่จริง พิสูจน์มาแล้วทั่วโลก ใช้งานง่าย ปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อย ขอบคุณข้อเสนอแนะ

วันที่ 30 ธ.ค. 2564 “เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อการลงพื้นที่เขตบางกอกน้อยว่า ในวันนี้เป็นการลงพื้นที่พร้อมกับ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กทม. และผู้สมัคร ส.ก. เขตบางกอกน้อย นายนภาพล จีระกุล เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีน้ำทะลักในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับไปดูวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และจะได้พาชมสิ่งดีๆ ในเขตบางกอกน้อยที่หลายคนไม่รู้จัก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการวางแผนแก้ปัญหาให้กับประชาชนชาวกรุงเทพฯ นั้น “เอ้ สุชัชวีร์” กล่าวว่า เราเรียนจบมาทางนี้ เป็นวิศวกรธรณีเทคนิค ต้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องดิน เรื่องน้ำ การก่อสร้างใต้ดิน เรื่องการทำเขื่อน การป้องกันน้ำทะลัก น้ำทะเลหนุน น้ำกัดเซาะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียนมาอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้ต้องขอลงพื้นที่เพื่อสำรวจดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร เพราะถือว่ากรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีชั้นใน เขื่อนจะต้องมีความแข็งแรงทนทานพอสมควรแต่ไม่แน่ใจว่าก่อสร้างมานานเท่าใด เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีชั้นดินอ่อน หากเสาเข็มลึกในระยะ 15 เมตร จะเหมือนเสานั้นลอยอยู่ในฟองน้ำซึ่งเป็นเหตุให้อาคารทรุด เมื่อมีระดับน้ำขึ้นลงก็จะทำให้เขื่อนเอียง และเกิดรอยร้าวไปจนถึงเขื่อนแตกหรือมีแรงดันน้ำลอดใต้เขื่อน

นอกจากนี้ในช่วงบ่ายของวันนี้จะได้เดินทางไปขอคำแนะนำจากอาจารย์สัตวแพทย์ เพื่อดูแลปัญหาสุนัขจรจัด เนื่องจากคนไทยมีความรักสัตว์จึงต้องหาทางให้อยู่ร่วมกันได้ ในอดีตมีข่าวเรื่องการฝังชิป ตนเองรู้สึกเสียดายที่ยังมีชิปที่ไม่ได้ฝังอีกจำนวนมาก หากนำมาใช้ในการดูแลติดตามสุนัขจรจัดทั้งเรื่องการทำหมัน ฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้า ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทำได้มานานแล้ว ก็จะทำให้สามารถดูแลได้ทั้งสุนัขและประชาชน ซึ่งในปีที่ผ่านมาก็ยังประสบปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าอยู่

...

ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่มีแนวความคิดเรื่องการถมเตตระพอด (Tetrapod) ป้องกันน้ำทะเลหนุน และกัดเซาะชายฝั่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้น “เอ้ สุชัชวีร์” กล่าวว่า แนวความคิดดังกล่าวเกิดจากการลงพื้นที่และการเสนอความคิดนี้ก็เป็นความตั้งใจแก้ปัญหา อีกทั้งได้เรียนจบและทำงานด้านนี้ ที่สำคัญจากการลงพื้นที่ก็มีการพูดคุยกับ 4 ชุมชน พบว่า จากการที่ กทม. ปักไม้ไผ่ หลังจากเวลาผ่านไป 1-2 ปี แนวไม้ไผ่ดังกล่าวหักพัง และถูกซัดเข้ามาในบ่อกุ้ง บ่อปลา ทำให้ชาวบ้านทั้ง 4 ชุมชนเดือดร้อน

เรื่องการป้องกันน้ำทะเลหนุน และการป้องกันการกัดเซาะนั้นมีปัญหาทั่วโลก และไม่ใช่ว่าต้องมีชายหาดหรือไม่มีชายหาด แต่จะขึ้นอยู่กับการออกแบบและวิธีการ สิ่งที่ตนนำเสนอนั้นเป็นแนวทางที่นิยมมากที่สุดผ่านการพิสูจน์มาแล้วทั่วโลก ที่สำคัญไม่ต้องทำการขนย้ายหินจากธรรมชาติซึ่งจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ แต่สามารถตั้งโรงหล่อใกล้พื้นที่ เป็นการจ้างงานคนในชุมชน และ Tetrapod นี้เป็นที่นิยมมากจริงๆ ใช้งานง่าย ปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าแบบอื่น หากสามารถถมแบบสลับฟันปลา เรือชาวบ้านออกทำประมงได้ สัตว์น้ำขนาดใหญ่เข้ามาได้

“อยากให้มาดูที่บางขุนเทียน ได้มาฟังชาวบ้านด้วย แล้วจะรู้ว่าพวกเขาทุกข์แสนสาหัสอย่างไร ที่ต้องทำแล้วทำอีกและเป็นปัญหาให้กับพวกเขา อยากจะมีโครงสร้างถาวรที่ไม่รกหูรกตา ทำง่ายเสียงบประมาณครั้งเดียวและมีความเป็นสากล สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจนำเสนอ ขอบคุณผู้ติดตาม และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะทุกอย่าง เพื่อไปดำเนินการให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น เราทนได้ครับ ก่อนที่เราจะทำได้ ดีใจที่ติดตามด้วยกันและเห็นด้วยกันว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร” “เอ้ สุชัชวีร์” กล่าว