ครม. รับทราบมติ คกก.นโยบายการเงินการคลังของรัฐ ขยับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากไม่เกิน 60% เป็นไม่เกิน 70% รองรับความผันผวนและความจำเป็น หากต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถชำระหนี้

วันที่ 28 ธ.ค. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานการทบทวนสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 ได้พิจารณาพื้นที่ทางการคลัง ณ เพดานหนี้สาธารณะปัจจุบัน มีดังนี้

1. สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) กำหนดเพื่อวัดระดับหนี้ ป้องกันไม่ให้กู้เงินมากเกินควร และไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายการคลัง โดย ณ เพดานปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 60 นั้น จะไม่สามารถรองรับการกู้เงินเพิ่มเติมในอนาคตได้

2. สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ กำหนดเพื่อวัดความสามารถในการชำระหนี้ ส่งเสริมให้มีการชำระหนี้และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ ควบคุมไม่ให้ความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้สูงเกินไป และรองรับการกู้เงินด้วยการใช้เครื่องมือการกู้เงินที่หลากหลาย โดย ณ เพดานปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 35 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ ควรส่งเสริมให้มีการบริหารความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้และส่งเสริมให้รัฐบาลเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้

3. สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด กำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกู้เงินต่างประเทศมากเกินควร โดย ณ เพดานปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ยังสามารถรองรับการกู้เงินต่างประเทศได้หากมีความจำเป็น

...

4. สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ กำหนดเพื่อวัดความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศ โดย ณ เพดานปัจจุบันกำหนดให้ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ยังสามารถรองรับการกู้เงินต่างประเทศหากมีความจำเป็น

ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เงื่อนไขและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความแตกต่างจากเมื่อครั้งที่มีการกำหนดสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องทบทวนสัดส่วน โดยคำนึงถึงพื้นที่ทางการคลังที่เพียงพอซึ่งสามารถรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจและความจำเป็นหากต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้ให้อยู่ในระดับมั่นคงตามเกณฑ์มาตรฐานสากล คณะกรรมการจึงมีมติเห็นชอบเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากกรอบเดิมไม่เกินร้อยละ 60 เป็นไม่เกินร้อยละ 70 สำหรับสัดส่วนอื่นยังคงเดิม.