พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลุย จ.สมุทรสาคร ติดตามคุณภาพน้ำลุ่มน้ำท่าจีนตอนล่าง เร่ง 9 แผนหลักแม่น้ำเจ้าพระยา แก้นำ้ท่วม-น้ำแล้ง ให้เป็นรูปธรรม

วันที่ 24 ธ.ค. 64 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำท่าจีนตอนล่าง ณ ห้องประชุมเทศบาลนครอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยมี ผวจ.สมุทรสาคร กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์ของจังหวัด ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บรรยายภาพรวมสถานการณ์น้ำและความก้าวหน้า 9 แผนหลักเจ้าพระยา นายกเทศมนตรีนครอ้อมน้อย บรรยายสภาพปัญหาของเขื่อนป้องกันตลิ่งที่ทรุดตัวพื้นที่ริมคลองอ้อมน้อย ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง บรรยายแนวทางการซ่อมแซมและปรับปรุงเขื่อนป้องกันริมตลิ่งที่ทรุดตัว หลังจากนั้นพบปะเยี่ยมเยียนชาวสมุทรสาคร และลงพื้นที่ตรวจสอบแนวเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองอ้อมน้อยที่ชำรุดเสียหาย รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำภาษีเจริญ

พลเอกประวิตร  กล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ในวันนี้ เพื่อเร่งรัดติดตามการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำท่าจีนตอนล่าง การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การทำการเกษตรแบบผสมผสาน และการท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ เนื่องจากที่ลุ่มน้ำท่าจีนตอนล่างมักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดสำหรับการเกษตร ปัญหาคุณภาพน้ำและการรุกตัวของน้ำเค็ม บริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล จากการทำอุตสาหกรรมประมงและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลได้เร่งให้ทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำในเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยมอบหมายให้ สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ เสริมความมั่นคงของคันกั้นน้ำให้ได้ตามมาตรฐาน และให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งจัดทำแผนการปรับปรุงซ่อมแซมเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการภายใต้ 9 แผนหลักเจ้าพระยาให้เป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้และปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในระดับท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ และนำไปสู่การแก้ไขในระดับประเทศต่อไป

...

ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า สทนช.ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในปี 61-64 จำนวน 221 แห่ง ประชาชนได้รับประโยชน์จากการขยาย เพิ่มเขตจ่ายน้ำ 6,390 ครัวเรือน การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 6,662 เมตร ป้องกันพื้นที่ได้ 8,000 ไร่ 6,100 ครัวเรือน และได้มีการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำท่าจีนการก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วม การก่อสร้างศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำ เป็นต้น สำหรับความก้าวหน้า 9 แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรสายใหม่ เมื่อแล้วเสร็จครบทั้ง 9 แผน จะสามารถตัดยอดน้ำหลากบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยาได้เพิ่มขึ้น 790 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างแล้ว ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้สำรองในช่วงต้นฤดูแล้งได้อีกด้วย.