• กทม. ยกเลิกจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี-ตักบาตรลานคนเมือง แต่เอกชนยังจัดได้ตามขออนุญาต ย้ำทุกภาคส่วนต้องเคร่งมาตรการ ยอมรับกังวลโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดช่วงปีใหม่
  • เตรียมทยอยเปิดโครงการต่างๆ ช่วงปีใหม่ ทั้งทางเท้า คูคลอง ชี้ ไม่ใช่ของขวัญ แต่ตั้งใจพัฒนา และแก้ปัญหาให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นในทุกวัน ขออภัยและขอบคุณความร่วมมือคนกรุง พร้อมอวยพรปีใหม่
  • ผู้ว่าฯ กทม. สั่งการเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ จัดเจ้าหน้าที่สแตนด์บายบริการประชาชน สำรอง 2,500 เตียง ลุยฉีดวัคซีมเข็มกระตุ้น ให้ได้มากที่สุด

    แม้ว่าล่าสุดหน่วยงานอย่างกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. จะประกาศว่ายกเลิกจัดงานปีใหม่ในส่วนของ กทม. เฉพาะ 2 ส่วน คือ กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีและทำบุญตักบาตร ที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. และกิจกรรมที่สำนักงานเขตเป็นเจ้าภาพจัด ไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาโฆษกรัฐบาลอย่าง นายธนกร วังบุญคงชนะ และ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า ศบค.ชุดเล็ก ก็ออกมายืนยันว่าเอกชนผู้ประกอบการที่มีการขออนุญาตไว้ล่วงหน้าแล้วนั้นยังสามารถจัดงานเคาต์ดาวน์และกิจกรรมต่างๆ ได้แต่เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นพื้นใด จังหวัดใด ซึ่งจะต้องมีการกำกับติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์เกิดขึ้นในช่วงปีใหม่ ที่ยังมีความกังวลในเรื่องของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน หรือ โอไมครอน (Omicron) มีรายงานผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและคนใกล้ชิดที่เป็นสัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ติดเชื้อยืนยัน มีรายงานติดเชื้อสะสมรวมมากกว่า 200 รายแล้ว ตามการยืนยันของแพทย์กระทรวงสาธารณสุข

...

ในขณะที่ กทม. ประกาศยกเลิกจัดกิจกรรมช่วงปีใหม่ไป แต่ก็ยังมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการต่อไปในเรื่องของการเคร่งครัดให้ผู้ประกอบการทั้งหลายในพื้นที่ปฏิบัติตามมาตรการ จึงขอชวนไปพูดคุยกับ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ที่จะมาเล่าให้ฟังถึงความพร้อมในด้านต่างๆ ว่ามีการเตรียมการอย่างไร หากเกิดการฝ่าฝืนขึ้นจะถูกดำเนินการแบบไหน รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาระบาดอีกครั้งจากการรวมตัวของประชาชนที่มาออกร่วมกิจกรรมในช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

50 เขต พร้อมตรวจตราผู้ประกอบการให้ทำตามมาตรการเคร่งครัด

ในช่วงปีใหม่ กทม. กังวลอยู่ 2 ประเด็น เรื่องแรกความปลอดภัย โดยทาง กทม. มีการตรวจดูมาตรการเหล่านี้ในทุกๆ ปีอยู่แล้ว จะมีชุดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูในจุดที่มีการจัดงานปีใหม่ โดยประสานกับสำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว เรื่องที่ 2 ปีใหม่ปีนี้จะแตกต่างจากปีอื่นๆ เพราะมีเรื่องสถานการณ์โควิด กทม. อนุญาตให้จัดปีใหม่ได้ ดื่มได้ในสถานที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ในคืนเคาต์ดาวน์วันที่ 31 ธ.ค. 2564 ถึงเวลา 01.00 น.ของวันที่ 1 ม.ค. 2565 เน้นย้ำว่าเป็นสิ่งที่เป็นข้อตกลงที่ตรงกัน โดยงานตั้งแต่ 300-1,000 คน ผู้จะจัดงานก็ต้องประสานกับทางเขตเพื่อให้ไปตรวจสอบเบื้องต้น ส่วนงานที่จะมีผู้เข้าร่วมเกิน 1,000 คน ต้องขออนุญาตมาที่สำนักอนามัย กทม. ลงพื้นที่ไปตรวจดูมาตรการทางสาธารณสุขและ COVID Free Setting เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และผู้ประกอบการต้องมีส่วนร่วมควบคุมด้วย มีความระมัดระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาด ซึ่งในปัจจุบัน กทม. ยังมีผู้ติดเชื้อโดยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 200-500 รายต่อวัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการผ่อนปรนให้มีการขายอาหารได้ ทาง กทม. มีการจัด 88 ชุดตรวจ ลงพื้นที่ตรวจมาตรการ มาตรฐานของร้านอาหารที่ได้รับการอนุญาต ต่อมาเมื่อมีการอนุญาตให้ขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก็มีการตรวจเข้มข้นขึ้น ที่ร้านต่างๆ เหล่านี้จะต้องมีสัญลักษณ์ SHA หรือ SHA Plus ซึ่ง กทม. มีการทำความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรืออนุญาตผ่านกรมอนามัยก็ได้ ย้ำว่ามีการตรวจอยู่ตลอด แต่ในช่วงแรกนั้นอาจจะมีความไม่สะดวกในการขออนุญาตทำให้ล่าช้าไปบ้าง แต่เมื่อผ่อนปรนมาระยะหนึ่งก็พบว่าเริ่มมีบางร้านหย่อนยานมาตรการ ทาง กทม. ก็จะลงไปสร้างความเข้าใจ ตักเตือน รวมถึงบังคับใช้กฎหมาย และจุดที่คิดว่าจะหย่อนยาน หรือเคยเกิดขึ้นมาแล้ว หรือมีการร้องเรียนบ่อย ก็มีการจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจเข้าไปประจำจุดและคอยตรวจตราอย่างเข้มข้น

กรณีที่ไม่ทำตามมาตรการหลังจากได้ตักเตือน กทม. ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรค จะมีการแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี ซึ่งมีกรณีเกิดขึ้นแล้ว ส่วนตัวเลขการดำเนินคดีนั้นเป็นข้อมูลของทางตำรวจ แต่ภาพรวมโดยส่วนใหญ่ยังทำตามมาตรการได้ดี พร้อมยกตัวอย่างกรณีร้านที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ห้ามมีคนลุกขึ้นเต้น แล้วสมมติว่ามีคนลุกขึ้นเต้น ก็เป็นวิจารณญาณที่ควรจะตักเตือน แต่หากลุกขึ้นเต้นทั้งร้านก็ชัดเจนว่าร้านไม่มีมาตรการในการควบคุม ซึ่งปัจจุบันไม่มีการตักเตือนแล้ว ส่วนการจะแจ้งความดำเนินคดีหรือไม่ ต้องดูหน้างานเป็นรายกรณีไป

ยอมรับกังวลโควิดระบาด เน้นดำเนินการ 2 เรื่องควบคู่

ส่วนเรื่องการกลับมาระบาดของโควิดหรือการเกิดคลัสเตอร์ใหม่นั้น มีความกังวลแน่นอน ในส่วนของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ถือหลักการว่า “สิ่งที่ดีที่สุดที่จะป้องกันการแพร่ระบาด คือการให้ทุกคนอยู่บ้าน ไม่ออกไปไหนเลย นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดตามหลักการแพทย์” แต่ในการพิจารณาหลายๆ ครั้ง รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปด้วย จะทำอย่างไรที่จะหาจุดบาลานซ์ (Balance) ได้ เรื่องแรกคือการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดย กทม. มีการจัดจุดฉีดที่ประชาชนสามารถมาเข้ารับวัคซีนได้ตลอด ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน QueQ ได้ นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ กทม. พยายามจะให้ประชาชนฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เรื่องที่สอง การเข้มงวดในมาตรการดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จึงต้องพยายามทำให้ได้มากขึ้นทั้ง 2 เรื่อง และหากคณะกรรมการวิชาการของทางรัฐบาลมีการอนุมัติให้ฉีดเข็มที่ 4 ก็พร้อมที่จะดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ เรื่องผู้ติดเชื้อโอมิครอนใน กทม. จะมีหรือไม่ขอให้ติดตามรายละเอียดจากกระทรวงสาธารณสุขเพราะต้องมีการตรวจรหัสพันธุกรรมก่อนยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์ใด

ช่วงปีใหม่ทยอยเปิดหลายโครงการ เพื่อ กทม. ดีขึ้นทุกวัน

สำหรับของขวัญปีใหม่นั้น ร.ต.อ.พงศกร ระบุว่า อาจจะไม่ใช่ของขวัญ แต่ กทม. ก็มีหน้าที่ทำให้ทุกๆ วันของ กทม. ดีขึ้น ที่ผ่านมาปีนี้มีการดำเนินการไปหลายโครงการซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะมีการแถลงอีกครั้ง แต่ในส่วนของของสิ่งที่จะเปิดในช่วงปีใหม่มี 5 โครงการหลัก คือ

  • คลองช่องนนทรี วันที่ 25 ธ.ค. 2564 จะมีการให้ชมนิทรรศการ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาคนกับคลองให้อยู่ร่วมกัน และยังเป็นโครงการตัวอย่างเรื่องคลองใน กทม. ด้วย
  • คลองผดุงกรุงเกษม จะเปิดท่าน้ำได้บางส่วนหลังปีใหม่ราว 1 สัปดาห์
  • ถนนพระราม 1 มีการปรับปรุงทางเท้าเป็นทางเท้าต้นแบบ ทั้ง Rain Garden (พื้นที่รับน้ำ) คือการปรับองศาทางเท้าให้สโลปเพื่อให้น้ำไหลลงพื้นที่ Rain Garden ไม่ท่วมขังบนทางเท้าเมื่อฝนตก รวมถึงมีสาธารณูปโภคอยู่บนทางเท้าด้วย โดยมีบางส่วนเปิดแล้ว แต่คาดว่าในเดือน ม.ค. 2565 จะเกือบเสร็จสิ้นทั้งหมด
  • ถนนสีลม จะมีการปรับปรุงทางเท้าเช่นกัน โดยอาจจะเปิดได้บางส่วนในช่วงปีใหม่
  • เตรียมคิกออฟโครงการสวนลุมพินี-สะพานเขียว ในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งสวนลุมพินีจะครบ 100 ปี ในปี 2568 กทม. ต้องการจะพัฒนาให้เป็นสวนตัวอย่าง และใช่สะพานเขียวเชื่อมระหว่างสวนเบญจกิตติ กับสวนลุมพินี เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะที่เชื่อมต่อกันได้อย่างไร้รอยต่อ

พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนคนกรุง หลายปัญหายังต้องแก้ไขต่อ

โฆษก กทม. ยอมรับด้วยว่าปัญหาต่างๆ ใน กทม. ที่มักถูกแชร์และวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นเรื่องจริง ซึ่ง กทม. เองก็พยายามจะแก้ปัญหาทุกอย่างให้ดีขึ้น โดยขอยกตัวอย่าง 3 ปัญหาที่คนกรุงเทพฯ กำลังพูดถึงในช่วงนี้

  • ปัญหาทางเท้า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กทม. พยายามที่จะทำให้ทางเท้าเดินได้ ยกตัวอย่าง ถนนพระราม 1 เมื่อก่อนคนต้องลงไปเดินบนถนนและบางครั้งเกิดประสบอุบัติเหตุ ซึ่งขณะนี้ทางเท้าช่วงถนนพระราม 1 เดินได้แล้ว แต่ต้องทำให้เดินดีด้วย คือ เป็นทางเท้าที่สมูท และไม่ใช่เพียงถนนพระราม 1 ยังมีปากคลองตลาด, ถนนสีลม, ถนนพหลโยธิน, ถนนพระราม 9 บางส่วน และอีกหลายถนนที่ กทม. พยายามทำให้ทางเท้าดีขึ้น รวบรวมสาธารณูปโภค และมีฟังก์ชันมากกว่าการเดิน
  • ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลอง ส่วนตัวทั้งชีวิตก็โตมากับกรุงเทพฯ เห็นภาพว่าคลองเป็นสิ่งที่สกปรกที่สุด ทั้งที่ชื่อว่า “เมืองแห่งคลอง” แต่คลองสกปรก ซึ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กทม. สามารถที่จะฟื้นไม่ใช่แค่คลอง แต่ฟื้นความหวังคนกับคลองให้ได้ ให้เห็นว่าคลองใน กทม. มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมามีการพัฒนาคลองไปได้หลายคลอง อาทิ คลองผดุงกรุงเกษม คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว คลองช่องนนทรี คลองโอ่งอ่าง คลองหลอด คลองบางลำพู ซึ่ง กทม. พยายามที่จะแก้ปัญหาคลองมาโดยตลอด
  • ปัญญาการเดินทางขนส่งสาธารณะ โดยพยายามที่จะใช้ระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ที่ กทม. พยายามผลักดัน และช่วง 4-5 ปีผ่านมา สามารถเพิ่มสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสไป 22 สถานี เชื่อมทั้งปทุมธานี กทม. และสมุทรปราการ อีกทั้งยังต้องการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเรือมาเดิน เพราะสามารถที่จะช่วยในเรื่องการเดินทางได้มาก เพราะมีคลองอยู่แล้วเพียงนำเรือมาวิ่งก็สามารถช่วยได้เลย เช่น คลองภาษีเจริญ, คลองผดุงกรุงเกษม, คลองแสนแสบ จนถึงวัดศรีบุญเรือง ล้วนเป็นเรื่องที่ กทม. พยายามระบบการคมนาคม

“ที่จริงแล้ว กทม. ยังมีอีกหลายปัญหา ก็ต้องแก้ไขปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ ให้มากที่สุด ผมเชื่อว่าการที่ทุกคนสะท้อนปัญหาต่างๆ เพราะเขาต้องการที่อยากจะให้เราแก้ไขปัญหา เขาหวังว่าเราจะแก้ปัญหาให้เขาได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของ กทม. เราก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะแก้ปัญหาของเขาให้ได้มากที่สุด”

ขอโทษและขอบคุณความร่วมมือคน กทม. อวยพรปีใหม่ส่งท้าย

ฝากไปยังพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครทุกคน ในปีที่ผ่านมา กทม. พยายามทำทุกๆ อย่างซึ่งจะทำให้ชีวิตของคน กทม. ดีขึ้น ทั้งนี้มีหลายๆ สิ่งที่อาจจะยังทำได้ไม่ดีพอ มีหลายสิ่งที่เราอาจจะทำได้ดีแล้วแต่อยากทำให้ดีมากขึ้น ขอกราบขออภัยและกราบขอบคุณที่ทุกคนให้ความร่วมมือ เพราะการที่ทำหลายๆ อย่างได้ ไม่ได้เกิดจาก กทม. เพียงคนเดียว แต่เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชนด้วย และในปีหน้าถ้ามีอะไร กทม. ยินดีที่จะรับใช้พี่น้องชาว กทม. ต่อไป โดยสามารถผ่านสื่อมวลชน โซเชียลมีเดีย เพื่อที่จะช่วยกันพัฒนา กทม. ให้ดีที่สุด

และในปีใหม่ที่จะถึงนี้ ขอให้เป็นปีที่ดีสำหรับเราทุกคน สิ่งที่เราเผชิญกับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคงจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่กำลังจะผ่านพ้น ปีหน้าคาดหวังว่าเศรษฐกิจทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติ ทุกคนจะมีสุขภาพที่ดีและมีความสุข โฆษกกรุงเทพมหานคร อวยพรส่งท้าย

ผู้ว่าฯ กทม. แถลงเตรียมพร้อมรับมือหากโควิดระลอกใหม่ระบาด

ขณะที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงในวันที่ (24 ธ.ค. 2564) ว่า กทม. ได้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 เน้นมาตรการป้องกันส่วนบุคคล พร้อมกำกับติดตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า พร้อมทั้งเพิ่มจุดตรวจคัดกรอง ATK ในสถานที่เดินทางสาธารณะ เร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3

นอกจากนี้ สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม. ยังมีแผนรองรับสถานการณ์หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด โดยให้สถานพยาบาลในสังกัดทุกแห่งใช้มาตรการ VUCA คือ V - Vaccine เร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ได้มากที่สุด สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดครบ 6 เดือนแล้วให้เริ่มฉีดเข็ม 4 ขณะเดียวกันก็เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั้งเข็ม 1-3 ในพื้นที่ กทม. ให้ครอบคลุมมากที่สุด รณรงค์มาตรการ Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา ห่างไกลจากโควิด จัดการโรงพยาบาลให้เป็นองค์กรปลอดโควิดตามมาตรการ COVID Free Setting มีการระบายอากาศ สุขอนามัยเหมาะสม สะอาดปลอดภัย และเว้นระยะห่าง รวมถึงมีการตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ และหากมีการระบาดจะเปลี่ยนไปเป็นการตรวจแบบ RT-PCR เพื่อความแม่นยำ

ในส่วนการเตรียมพร้อมรับการรักษาหากเกิดการระบาดใหม่ มีการสำรองเตียงไว้ 2,537 เตียง โดยขณะนี้ทั้งโรงพยาบาลสนาม Hospitel มีการตรวจสถานที่ เตรียมพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ สายด่วน 1669 ให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเวลา รวมทั้งมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากผู้ป่วยต้องแยกกักรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือส่งไปยังศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

ทางด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประชุมหารือเกี่ยวกับการล็อกดาวน์ โดยพยายามควบคุมสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด ยังไม่มีอะไรรุนแรงกว่าที่เคยเจอ และยังสามารถควบคุมได้ แต่ขอเน้นย้ำให้ประชาชนใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง เพราะคลัสเตอร์ที่ผ่านมาก็จะเจอจากการร่วมกลุ่ม นอกจากนี้ ขอให้ตรวจ ATK และหน่วยงานที่จะจัดงานกิจกรรมต่างๆ ขอให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และทำตามมาตรการที่กำหนด ไม่ใช่ดูเฉพาะประวัติการรับวัคซีนเท่านั้น ส่วน นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็เน้นย้ำในช่วงเทศกาลปีใหม่จึงการจัดกิจกรรมงานเลี้ยงหรือสวดมนต์ข้ามปี ขอให้จัดสถานที่เปิดโล่ง ไม้แออัด จะช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่หรือการรับเชื้อโควิด-19

สำหรับในช่วงเวลาการระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ และไม่ว่าจะสายพันธุ์ใด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันตนเองสูงสุดตามมาตรการสาธารณสุข สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ คิดว่าทุกคนรอบตัวสามารถติดเชื้อ และมาตรการองค์กรของผู้ประกอบการและร้านต่างๆ ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ตัวเอง ครอบครัว สังคม และประเทศปลอดภัยได้ในทุกๆ วัน ไม่เฉพาะแต่เพียงปีใหม่นี้เท่านั้น.

ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Varanya Phae-araya