ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จับมือลงนาม (MOU) “โครงการชุมชนซื่อสัตย์” เพื่อพัฒนาสังคมมุสลิม ตั้งเป้าปี 65 มีมัสยิดเข้าร่วม 1 พันแห่ง
วันที่ 17 ธ.ค. 64 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการชุมชนซื่อสัตย์” เพื่อพัฒนาสังคมมุสลิมระหว่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และนายประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในนามผู้แทนจุฬาราชมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน
การลงนามครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการแสดงเจตจำนงในการพัฒนาสังคมมุสลิม ระหว่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานตามพันธกิจสำคัญในการสร้างโอกาสให้ลูกค้ามุสลิมเข้าถึงระบบสถาบันการเงิน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องมุสลิม
โดยการให้สินเชื่อผ่านตัวแทนของคณะกรรมการมัสยิดทั่วประเทศ โดยในปี 2564 ธนาคารได้นำร่องเสนอโครงการให้มัสยิดในภาคกลางและภาคใต้ ปัจจุบันมีมัสยิดให้การตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้ว 350 แห่ง โดยปี 2565 มีเป้าหมายจะมีมัสยิดเข้าร่วมทั่วประเทศ รวม 1,000 แห่ง
...
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลังได้กำหนดยุทธศาสตร์องค์กร การให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม (หลักซะรีอะฮ์) บนพื้นฐานของคุณธรรมซึ่งเชื่อมโยงสู่แผนดำเนินงาน “โครงการชุมชนซื่อสัตย์” เพื่อพัฒนาสังคมมุสลิมเป็นการสร้างโอกาสให้พี่น้องชาวมุสลิมเข้าถึงการแหล่งเงินทุน เพื่อการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี จึงนับเป็นการสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม สร้างความมั่นคงและลดความเหลื่อมล้ำ
“การดำเนินงานครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้มุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในทุกภาคส่วน และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม” พล.อ.ประวิตร กล่าว
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่ผ่านมาได้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้กับพี่น้องชาวมุสลิม โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ไอแบงก์ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเพื่อลดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรการการให้สินเชื่อเพิ่มเติม ฯลฯ และโครงการชุมชนซื่อสัตย์จะเข้ามาเสริมสร้างให้ลูกค้าของไอแบงก์เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
“ด้วยความเคร่งครัดในการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาของชาวไทยมุสลิม ในเรื่องการบริหารจัดการทางการเงิน แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันทำให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามข้อปฏิบัติตามหลักศาสนา เพื่อให้ดำเนินธุรกิจและชีวิตเพื่อประกอบอาชีพ และการดูแลครอบครัวต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง” นายสันติ กล่าว.