การแก้ไขกฎหมายที่กระทบกับการทำหน้าที่ใน กระบวนการยุติธรรม ถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อสนทนาและนำเสนอไปสู่การแก้ไข ให้กระบวนการยุติธรรม ได้รับการยอมรับในการทำหน้าที่ผดุงความยุติธรรมต่อไป หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ยากมากๆ หลายเรื่องก็มีผลดีผลเสียกระทบไปถึง ระบอบการเมืองการปกครอง อาทิ เรื่องข้อเรียกร้องให้มี การยกเลิก ม.112 เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ถ้าไม่มีการยอมรับฟังความคิดเห็นของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ใช้อคติ เป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัย โอกาสที่ กระบวนการยุติธรรม นำไปสู่ ชนวนวิกฤติบ้านเมือง คงหนีไม่พ้น

หลายฝ่าย เริ่มเสนอให้มีการแก้ไข ระเบียบในการพิจารณาลดโทษ พักโทษ ไปจนถึงมี การเลื่อนชั้นนักโทษ ให้เป็นนักโทษชั้นดีซึ่งมีผลที่จะได้รับการพิจารณาในการปล่อยตัวเร็วขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่นอกเหนือจากคำพิพากษาของศาล แต่เป็นกระบวนการหลังจากที่การตัดสินของศาลไปแล้ว

เช่น พิจารณาลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา 4 ปี แต่ในความ เป็นจริง อาศัยเหตุลดโทษพักโทษจำคุกจริงแค่ 1 ปี หรืออ้างเหตุเจ็บป่วยไม่สบายต้องไปรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ไม่ต้องถูกจำคุกจริง

หรือโทษบางประเภท เช่น โทษคดีทุจริต คดียาเสพติด คดีกบฏ ล้มล้างการปกครอง คดีเจตนาฆ่าคนตาย คดีร้ายแรงที่มีโทษจำคุก 10 ปี 20 ปีขึ้นไป ก็ไม่ควรที่จะได้รับการลดโทษหรือการพักโทษ ในลักษณะที่ไม่สมควรแก่เหตุ เพราะจะทำให้เกิดช่องว่าง ในการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม เช่น ศาลพิจารณาแล้วว่าจำเลยมีความผิดจริงแต่จำเลยสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จะ 5 ปี 10 ปีก็แล้วแต่ เมื่อถึงเวลาในขั้นตอนของการคุมขังของกระบวนการยุติธรรม อาจรับโทษแค่ปีเดียวหรือ 2 ปี กลายเป็นว่า คำพิพากษาของศาล ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ กลายเป็นช่องว่างในการใช้เป็นกลไกทางการเมือง คดีการเมืองบางคดี ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว บางคดีไม่ได้รับการปล่อยตัว และยังเป็นช่องทางให้ ฝ่ายบริหารสามารถใช้กลไกและอำนาจของรัฐในการให้คุณให้โทษ ได้ เป็นการเฉพาะ

...

เรื่องนี้ รมว.ยุติธรรม สมศักดิ์ เทพสุทิน อธิบายว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ ภายใต้กรอบอำนาจที่แบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ และอ้างว่าการ บังคับโทษทางอาญา คือ การบริหารโทษ เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ไม่ได้ทำโดยพลการ หรือเลือกปฏิบัติ เป็นกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ไม่ได้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโทษ แต่อย่างใด

สภาชุดนี้กำลังมีการศึกษาพิจารณาแก้ไขกฎหมายหลายเรื่องที่อยู่บนทางสองแพร่ง เช่น ความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม ที่ฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำจะได้อานิสงส์เป็นอย่างมาก และอาจนำไปสู่ช่องว่างในการทุจริตคอร์รัปชัน ได้สะดวกขึ้นโดยไม่มีความผิด ยุคที่กระเบื้องน้อยกำลังถอยจมอะไรก็เกิดขึ้นได้ อะไรที่อยู่ในที่ลับที่มืดสีดำๆกำลังจะถูกฟอกให้เป็นขาว สิ่งผิดกฎหมายกำลังจะแก้ให้ถูกกฎหมาย

ผลไม้พิษย่อมเกิดจากต้นไม้พิษ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th